สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิก 5 ประเทศ เศรษฐกิจยังขยายตัวในแดนบวก มีเสถียรภาพ กำลังซื้อสูง แนะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยและผู้ประกอบการร้านอาหารไทยเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยรายงานสถานการณ์ตลาดอาหารโลกซึ่งจัดทำโดยศูนย์อัจฉริยะอุตสาหกรรมอาหาร อ้างอิงการจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก (Global Competitive Index : GCI) โดย World Economic Forum ประจำปี ค.ศ. 2013-2014 พบว่า กลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic) หรือภูมิภาคในยุโรปเหนือ ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ มีดัชนีความสุขติดอันดับต้นๆ ของโลก และยังได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสร้างสรรค์ 1 ใน 5 ของโลก จำนวนประชากรทั้ง 5 ประเทศรวมกันมีทั้งสิ้น 25.86 ล้านคน โดยสวีเดนมีประชากรมากที่สุด 9.52 ล้านคน รองลงมาคือ เดนมาร์ก 5.59 ล้านคน ฟินแลนด์ 5.41 ล้านคน นอร์เวย์ 5.02 ล้านคน และไอซ์แลนด์ 0.32 ล้านคน
โดยกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีขนาดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) 1,603.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 10 ของขนาดเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มนอร์ดิกได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปไม่มากนัก โดยเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวในแดนบวก และหากพิจารณารายได้เฉลี่ยต่อประชากรจะพบว่าประเทศในกลุ่มนอร์ดิกติดอันดับ 10 ประเทศแรกในยุโรปที่มีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูงสุด และติดอันดับ 20 ประเทศแรกของโลกที่มีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูงสุด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และถูกจัดลำดับประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนจากกลุ่มนอร์ดิกได้ขยายฐานการลงทุนเข้ามายังภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้นซึ่งรวมประเทศไทยด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้กลุ่มนอร์ดิกได้รับรู้วัฒนธรรมการบริโภคอาหารไทย
ประกอบกับในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รองจากชาวเอเชียตะวันออก ในปี พ.ศ. 2556 ชาวยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 6.30 ล้านคน ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่เดินทางมายังประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 798,400 คน คิดเป็นร้อยละ 13 ของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางมาประเทศไทย และเพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งการขยายร้านอาหารไทยไปยังประเทศในกลุ่มนอร์ดิกส์จึงมีสูง เนื่องจากนักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักและคุ้นชินกับอาหารไทยมากยิ่งขึ้น
“การขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยกับกลุ่มประเทศนอร์ดิก ถึงแม้จะเป็นตลาดขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป ด้วยสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.24 ของมูลค่าส่งออกอาหารของไทยไปภูมิภาคยุโรปทั้งหมด แต่ถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพสูงหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา นับจากปี พ.ศ. 2553 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 7,895.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2555 มูลค่าอยู่ที่ 8,073.48 บาท โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.24 ของมูลค่าการส่งออกอาหารของไทยไปยุโรป ส่วนในปี พ.ศ. 2556 มูลค่าลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7,385.73 ล้านบาท เนื่องจากความผันผวนของราคาสินค้าอาหารในบางรายการ แต่การขยายตัวในเชิงปริมาณการส่งออกยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง” ผอ.สถาบันอาหารกล่าว
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคของประชากรกลุ่มประเทศนอร์ดิกจะยอมรับสินค้าใหม่ๆ ได้ง่าย ส่วนใหญ่นิยมสินค้าที่มีนวัตกรรม มีการสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ แตกต่าง สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าและบริการที่ผลิตเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ และสินค้าเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้กลุ่มประเทศนอร์ดิกถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการส่งเสริมและพัฒนาด้านสุขภาพของประชากรเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และหากพิจารณารายได้ต่อหัวประชากรจะพบว่าผู้บริโภคในกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีอำนาจซื้อค่อนข้างสูง ดังนั้น ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจ เป็นโอกาส เป็นจุดหมายใหม่ที่มีอนาคต และมีความท้าทายสูงสำหรับผู้ส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยและธุรกิจร้านอาหารไทย ที่ต้องเร่งผลักดันสินค้าและบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกันอย่างจริงจังต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *