ในโลกนี้ไม่มีสตรีใดจะยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การบูชาและเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าของผู้เป็นลูก มากไปกว่าสตรีที่ได้ชื่อว่าเป็น “แม่” และไม่มีคำใดที่เอ่ยเอื้อนแล้วเป็นมงคลอันสูงสุด เหนือกว่าถ้อยคำใดๆทั้งปวง เท่ากับคำว่า “แม่” ที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เป็น “พรหม”ของลูก
กว่า ๒,๖๐๐ ปีมาแล้วที่สตรีผู้สูงศักดิ์ นามว่า “สิริมหามายา” ได้กลายมาเป็นแม่ของจอมศาสดาเอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนางทรงเป็นแม่ผู้ยิ่งใหญ่ที่โลกไม่มีวันลืม เพราะหากโลกนี้ปราศจาก “พระนางสิริมหามายาพุทธมารดา” พระพุทธเจ้าก็คงไม่อาจอุบัติขึ้น
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ทรงพิจารณาดูสิ่งสำคัญ ๕ ประการ เรียกว่า “ปัญจมหาวิโลกนะ” ได้แก่
๑. กาลเวลา ทรงพิจารณาว่า อายุของมนุษย์ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี
๒. ทวีป ทรงพิจารณาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเกิดในชมพูทวีป
๓. ประเทศ ทรงพิจารณาว่า จะอุบัติในมัธยมประเทศ คือประเทศกลาง ที่เมืองกบิลพัสดุ์
๔. ตระกูล ทรงพิจารณาว่า จะอุบัติเฉพาะในตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์เท่านั้น แต่ในกาลนั้นตระกูลกษัตริย์ประเสริฐที่สุด จึงทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นพุทธบิดา
๕. มารดา ทรงพิจารณาว่า พระนางสิริมหามายามีศีล ๕ บริสุทธิ์ ได้บำเพ็ญบารมีธรรมมาตลอดแสนกัลป์ และพระนางจะมีพระชนม์ชีพจากเวลาที่ประสูติพระโอรส เพียง ๑๐ เดือน ๗ วัน ซึ่งไม่สามารถให้กำเนิดใดๆได้อีก
ทางพุทธศาสนาเชื่อว่า พุทธมารดาคือบุคคลที่สั่งสมบุญบารมีร่วมกับพระโพธิสัตว์มา แล้วตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็น “พุทธมารดา”
ก่อนที่จะเป็นพุทธมารดานั้น พระนางสิริมหามายาเป็นราชธิดาในพระเจ้าอัญชนะ แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ทรงเป็นขัตติยนารีที่บริบูรณ์ด้วยเบญจกัลยาณี มีลักษณะอันเป็นสิริมงคล ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
แล้ววันที่พระนางสิริมหามายา จะได้เป็น “พุทธมารดา” เพียงหนึ่งเดียวในหนึ่งพุทธันดร ก็มีเรื่องแปลกอัศจรรย์เกิดขึ้น
ในวันอาสาฬหะ เพ็ญเดือน ๘ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงบริจาคทานตามปกติ แล้วเสวยโภชนาหาร ทรงสมาทานอุโบสถศีล ดังเช่นเคยถือปฏิบัติมา ครั้นเสด็จเข้าสู่ห้องบรรทมตั้งแต่ยามต้นแห่งราตรี เมื่อใกล้รุ่งสางพระนางทรงสุบินนิมิต(ฝัน) ว่า
ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร มายกพระองค์ไปพร้อมทั้งแท่นบรรทม แล้วนำไปยังป่าหิมพานต์ วางลงบนแผ่นหินใหญ่ใต้ต้นรัง
ขณะนั้นมีนางเทพธิดามาทูลเชิญพระองค์ให้เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาต ชำระมลทินพระวรกายแล้วให้เปลี่ยนเครื่องทรงมาใช้ของทิพย์ทั้งหมด ลูบไล้ด้วยของหอมและประดับด้วยดอกไม้ ล้วนเป็นของทิพย์ทั้งสิ้น แล้วทูลเชิญพระนางให้เสด็จเข้าบรรทมในวิมานทองอันประดิษฐานอยู่บนยอดภูเขาเงิน ซึ่งในที่ใกล้กันนั้นมีภูเขาทองปรากฏอยู่
จู่ๆก็มีพญาช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากภูเขาทอง มุ่งตรงมายังห้องบรรทมของพระนาง ชูงวงถือดอกบัวขาวกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ววิมาน ทำประทักษิณ(เดินเวียนขวา) พระนางครบ ๓ รอบ แล้วก็เข้ามาสู่พระอุทร(ท้อง)เบื้องขวา ในขณะที่ทรงสุบินนิมิตนั้น พระโพธิสัตว์ก็เสด็จลงปฏิสนธิสู่ครรภ์ของพระนาง
ครั้นรุ่งเช้า พระนางสิริมหามายาได้กราบทูลเล่าสุบินนิมิต ถวายพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ พระองค์จึงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ปาโมกข์โหราจารย์ทั้งหลายเข้าเฝ้า จากนั้นทรงเล่าสุบินนิมิตของอัครมเหสีให้ฟัง แล้วตรัสถามว่า
“สุบินนิมิตนี้จะดีหรือร้ายประการใด?”
พราหมณ์ปุโรหิต โหราจารย์ทั้งหลาย ผู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์ไตรเพท ฟังสุบินนิมิตนั้นแล้วกราบทูลว่า
“ขอเดชะ พระสุบินนิมิตของพระราชเทวีนี้ เป็นมงคลนิมิตอันประเสริฐยิ่ง พระองค์จะได้พระโอรสที่เลิศประเสริฐกว่าบุรุษทั้งหลาย มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ มีอานุภาพมาก จะได้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ถ้าสถิตอยู่ในเพศฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เกรียงไกร แต่ถ้าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก พระเจ้าข้า”
เมื่อพระนางทรงครรภ์ครบถ้วนสิบเดือนแล้ว จึงปรารถนาจะเสด็จไปคลอดยังราชสกุลเดิม คือ กรุงเทวทหะ โดยถือตามลัทธิประเพณีเดิมว่า ภรรยาจะไม่คลอดบุตรในเรือนของฝ่ายสามี จึงกราบทูลขออนุญาตจากพระราชสวามี
ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุญาตแล้ว ในวันเพ็ญเดือนวิสาขมาส ยามรุ่งสาง พระนางประทับบนเสลี่ยงทอง แวดล้อมด้วยหมู่พระสนมกำนัล และราชบริพาร เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ มุ่งสู่กรุงเทวทหะ เมื่อเข้าสู่เขตป่าลุมพินีวัน ราชอุยานระหว่างเมืองทั้งสอง อันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์สวยงาม พระนางปรารถนาจะทรงพักผ่อน เพื่อทัศนาราชอุทยานนั้น หมู่อำมาตย์เสนาทั้งหลายจึงจัดสถานที่ประทับยังใต้ต้นสาละอันร่มรื่น
พระนางทรงสำราญพระทัยที่ได้ชมธรรมชาติราชอุทยาน และปรารถนาจะเอื้อมพระหัตถ์จับกิ่งสาละที่ห้อยย้อยลงมา แต่เมื่อพระหัตถ์สัมผัสเหนี่ยวกิ่งสาละก็เกิดลมกัมมัชวาต (อาการปวดครรภ์ใกล้ประสูติ) ข้าราชบริพารทั้งหลายจึงรีบพากันจัดสถานที่ โดยการผูกม่านแวดล้อมใต้ต้นสาละนั้น พระนางทรงประทับยืนหันหลังอิงต้นสาละ พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ หันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางทิศบูรพา
ครั้นเวลาสายใกล้เที่ยง อันประกอบด้วยวิสาขฤกษ์ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พระนางสิริมหามายาได้ประสูติพระโอรส ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะครบทุกประการ
เมื่อพระกุมารโพธิสัตว์ประสูติจากครรภ์ ยังมิทันถึงพื้นปฐพี ท้าวมหาพรหมจากชั้นสุทธาวาส ก็มารอรับพระวรกายด้วยข่ายทอง ขณะนั้นท่อน้ำอุ่นน้ำเย็นก็หลั่งลงมาจากอากาศ โสรจสรงองค์พระมารดาและพระกุมารโพธิสัตว์ ลำดับนั้นดอกบัวก็ผุดปรากฏขึ้นมารองรับพระบาท ในขณะที่พระกุมารโพธิสัตว์ประทับยืนเหนือพื้นปฐพี แล้วทอดพระเนตรไปทั่วทุกทิศ ไม่เห็นมีผู้ใดจะมีบุญบารมีเสมอด้วยพระองค์ จึงหันพระพักตร์ไปยังทิศอุดร เสด็จดำเนินด้วยพระบาทไป ๗ ก้าว แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจาบันลือสีหนาท ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหมว่า
“เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญ เป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก การเกิดของเราครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้าย การเกิดใหม่ไม่มีอีกแล้ว”
เมื่อพระกุมารโพธิสัตว์มีชันษาได้ ๗ วัน พระมารดาจึงเสด็จสวรรคต จุติปรากฏเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต
แม้พระนางสิริมหามายาจะไม่มีโอกาสได้ฟูมฟักเลี้ยงดู “เจ้าชายสิทธัตถะ” แต่ก็ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลในฐานะแม่ผู้ให้กำเนิด ดังนั้น หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตลอดพรรษา เมื่อพุทธมารดาได้สดับแล้วก็ทรงบรรลุโสดาปัตติผล
เรื่องนี้ถือเป็นพุทธจริยาอันงดงาม ที่พุทธบริษัทควรดูพระองค์เป็นแบบอย่างของความกตัญญูกตเวทีที่ทรงมีต่อแม่ผู้ให้กำเนิด ซึ่งแม้จะอยู่ไกลกันคนละภพภูมิแล้ว แต่ยังทรงเสาะหาวิธีที่จะทดแทนพระคุณของแม่ ด้วยการให้อมตะธรรม ซึ่งเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนือการให้ทั้งปวง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย พระเจนสมุทร)