xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : การเจริญสติ ช่วยเด็กสมาธิสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันเรื่องการเจริญสติในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกคุ้นเคยและเข้าใจดี ว่ามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพทางกายและทางจิต ดังนั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา จึงได้จัดตั้งศูนย์การวิจัยเกี่ยวกับการเจริญสติขึ้น เพื่อทำการศึกษาวิจัยผลของการเจริญสติกับสุขภาพ

ปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนปัจจุบันก็คือ ปัญหาเด็กสมาธิสั้น ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 5 ของเด็กวัยเรียน เด็กจะมีอาการช่วงสมาธิสั้นกว่าปกติ อยู่ไม่นิ่ง ซุกซนผิดปกติ หุนหันพลันแล่น ขาดการยับยั้งชั่งใจในการกระทำต่างๆ และมีอาการมากจนส่งผลต่อการเรียน การดำเนินชีวิต และมีอาการนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ตามเกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งการวินิจฉัยมักจะทำเมื่อเด็กอายุระหว่าง 6-11 ปี โดยเด็กชายจะเป็นมากกว่าเด็กหญิง 3-6 เท่า

สำหรับสาเหตุยังไม่สkมารถระบุได้แน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม สารสื่อประสาทบางชนิดผิดปกติ การทำงานสมองบางส่วนผิดปกติ ทำให้มีความตื่นตัวมากกว่าปกติ การเลี้ยงดูในครอบครัว สิ่งแวดล้อม ก็มีผลทำให้เด็กมีอาการเกิดขึ้นได้

ผู้ปกครองมักจะสังเกตเห็นและพาเด็กไปรับการตรวจรักษากับจิตแพทย์ ซึ่งแพทย์ก็จะให้ยาเพื่อลดความตื่นตัว ร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างแพทย์ ผู้ปกครอง และครู ที่เข้าใจปัญหาเด็ก ทำให้การบำบัดได้ผลดี โดย 1 ใน 3 ของเด็กจะหายจากโรคนี้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และอีก 1 ใน 3 อาการคงเดิม ส่วนที่เหลือจะมีอาการและผลข้างเคียงร่วม

แต่เนื่องจากผลของการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ ทำให้จิตแพทย์ และนักจิตวิทยา พยายามศึกษาวิธีการต่างๆเพื่อนำมาช่วย โดยผู้เขียนจะขอกล่าวถึงงานวิจัยของ “ศูนย์การวิจัยการเจริญสติ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส” (UCLA Mindful Awareness Research Center, www.marc.ucla.edu/body.cfm) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย ดร. ซูซาน สมอลลี (Susan Smalley Ph.D) และคณะ

ศูนย์แห่งนี้ทำงานด้านวิจัยเกี่ยวกับการเจริญสติในแง่มุมต่างๆ และจัดให้มีโปรแกรมสอนหลักสูตรการเจริญสติ ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย เด็กวัยรุ่น เด็กนักเรียน รวมทั้งประชาชนทั่วไป

ดร.สมอลลีเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ เธอเรียนปริญญาตรีทางมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และต่อปริญญาโทและเอกด้านพันธุกรรมทางการแพทย์ และจิตพยาธิวิทยาในวัยเด็กที่ UCLA เธอสนใจเด็กที่มีปัญหาในเรื่องสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorders) และได้ทำวิจัยปัญหาในเด็กสมาธิสั้นไว้มาก

ดร.สมอลลีเป็นคนขยัน เป็นหญิงเก่ง ทำแต่งาน เธอไม่เคยสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมมาก่อน เธอเล่าว่า เมื่ออายุ 47 ปี เธอมีปานดำขึ้นที่แขน จึงไปให้เพื่อนที่เป็นแพทย์ตรวจดู เพื่อนบอกว่า เธอเป็นมะเร็งผิวหนัง (Melanoma in situ) แต่ยังไม่ลุกลาม จึงแนะนำให้ผ่าตัดออก

เมื่อกลับถึงบ้าน ดร.สมอลลีเกิดความรู้สึกกลัวตาย เธอคิดว่าหากต้องตายในเวลานี้ เธอต้องสูญเสียสามี ลูกๆ และทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ดังนั้น เธอจึงลาพักรักษาตัว 6 เดือน และเข้ารับการผ่าตัด

หลังจากนั้น ก็ดูแลสุขภาพของตนเองโดยวิธีธรรมชาติ ใช้สมุนไพร ใช้การนวดทางเดินน้ำเหลือง และเปลี่ยนมารับประทานอาหารมังสวิรัติ ฝึกโยคะ ฝึกสมาธิ

เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าต้องตายในเวลาอันใกล้นี้ เธออยากจะทำอะไรที่ยังไม่ได้ทำบ้าง เมื่อได้คำตอบแล้ว เธอจึงเริ่มศึกษาปรัชญาและศาสนา จนเข้าใจเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวตะวันตกอย่างเธอไม่ได้ใส่ใจมาก่อน และเธอก็เริ่มเรียนรู้วิธีปฏิบัติธรรมแบบชาวพุทธ เรียนรู้วิธีการเจริญสติ

หลายปีต่อมา เธอได้ตั้งศูนย์การวิจัยเกี่ยวกับการเจริญสติ ที่ UCLA เริ่มวิจัยเรื่องการเจริญสติในเด็กสมาธิสั้น โดยใช้โปรแกรม Mindful Awareness Program (MAP) ในเด็ก โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งทำในเด็กนักเรียนเกรด 2-3 อายุประมาณ 7-9 ปี พบว่า การเจริญสติช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ความเครียดลดลง อารมณ์ดีขึ้น

ดร.สมอลลีมีงานวิจัยทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์จำนวนมาก รวมทั้งเขียนตำราไว้หลายเล่ม

ในปี 2010 ดร.สมอลลีร่วมกับไดอานา วินสตัน (Diana Winston) ครูสอนวิปัสสนาที่สำนักปฏิบัติธรรม Spirit rock เขียนหนังสือชื่อ Fully Present ซึ่งว่าด้วยวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งการเจริญสติ (Science and Art of Mindfulness) เป็นหนังสือที่ให้ความรู้พื้นฐานด้านการเจริญสติอย่างดีสำหรับบุคคลทั่วไป (สามารถอ่านบทนำได้ใน amazon.com)

ไดอานา วินสตัน ปฏิบัติธรรมตั้งแต่อายุ 22 ปี เธอเริ่มต้นจากการเดินทางไปท่องเที่ยวอินเดีย โดยที่ตัวเองไม่มีความรู้อะไรเลย เธอไปเที่ยวทัชมาฮาล และไปดูพิธีเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาที่เมืองพาราณสี รวมทั้งไปที่ธรรมศาลา (อยู่ในรัฐหิมาจัลประเทศ ทางเหนือของอินเดีย เป็นสถานที่ตั้งของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต องค์ทะไลลามะ ประทับอยู่ที่นี่ สถานที่นี้จึงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณชาวทิเบต) ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่เธอเริ่มสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ เธอยังได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของไทย เป็นเวลา 10 วัน ฝึกเดินจงกรม นั่งสมาธิ ด้วยความอดทน และที่นี่เองที่ทำให้เธอได้รู้จักความสงบภายในเป็นครั้งแรก

ต่อมาในปี ค.ศ. 1998 เธอมีโอกาสได้บวชชีและปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้นที่พม่า เป็นเวลา 1 ปี ทำให้เธอมีความเข้าใจวิธีการเจริญสติได้ลึกซึ้งขี้น

หลังจากนั้น ไดอานายังคงปฏิบัติธรรมเรื่อยมาทั้งในอเมริกาและเอเชียติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี กระทั่งได้เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครชาวพุทธเพื่อสังคม (The Buddhist Alliance For Social Engagement หรือ BASE) ซึ่งเป็นองค์กรพุทธแห่งแรกที่ทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม ของแคลิฟอร์เนีย

เธอสอนการเจริญสติที่ Spirit Rock Meditation center (www.spiritrock.org) ซึ่งเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงของอเมริกา สถานที่แห่งนี้เป็นที่รวมของปัญญาชน นักวิชาการ แพทย์ นักจิตวิทยา นักวิทยาศาสตร์ ที่สนใจพุทธศาสนา เธอสอนที่นี่เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

ดังนั้น ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน ทำให้เธอเข้าใจเรื่องการเจริญสติอย่างลึกซึ้ง จึงได้นำการเจริญสติเข้ามาสอนให้เด็กในโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง กลุ่มเอ็นจีโอ บุคลากรทางการแพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย

ต่อมาเมื่อ ดร.สมอลลีได้จัดตั้งศูนย์วิจัยการเจริญสติขึ้นที่ UCLA จึงชวนเธอมาทำงานด้วย เธอตอบตกลงเพราะเห็นว่า จะเป็นช่องทางให้ตัวเองทำงานได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และมีโอกาสได้ทำวิจัยถึงผลดีของการเจริญสติในแง่มุมต่างๆ เธอเป็นกำลังสำคัญของ ดร.สมอลลี ช่วยให้งานของศูนย์แห่งนี้ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเธอได้สอนการเจริญสติหลักสูตรต่างๆของสถาบัน และร่วมทำวิจัยด้วย

งานวิจัยด้านการเจริญสติกำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการด้านจิตภาวนาอย่างมาก ในปี 1990 มีงานวิจัยปีละ 80 ชิ้น และเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 600 ชิ้นในปี 2000

ปัจจุบัน ไดอานาเป็นผู้อำนวยการวิจัยการเจริญสติด้านการศึกษา เธอมีความศรัทธาในผลงานวิจัยของ ศ.จอน คาแบค ซิน ที่นำการเจริญสติเข้าสู่วงการแพทย์ จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น งานวิจัยในเรื่องการเจริญสติเพื่อบำบัดอาการปวดในโรคต่างๆ การเจริญสติบำบัดอาการเครียด และบำบัดโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น

ศูนย์การวิจัยด้านการเจริญสติของ UCLA มีผลงานวิจัยออกมาจำนวนมาก สามารถดูได้ในwww.marc.ucla.edu/research และฟังคำบรรยายของ ดร.สมอลลีและไดอานา ได้ใน youtube.com เช่น เรื่อง Fully present : The book-Research on mindfulness ของ ดร.สมอลลี ซึ่งจะมีหลายตอน หรือ เรื่อง TEDx SunsetPark-Diana Winston-The Practice of Mindfulness, เรื่อง Introduction to Mindful Awareness /Diana Winton, เรื่อง Spirit rock meditation center ในการบรรยายของเธอใช้ภาษาง่ายๆ ทำให้เข้าใจชัดเจนดี

ศูนย์การวิจัยด้านการเจริญสติของ UCLA จัดการประชุมวิชาการด้านการเจริญสติเป็นประจำ โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้จัดประชุมวิชาการเรื่องการเจริญสติกับจิตบำบัด (Mindfulness and Psychotherapy) โดยท่านติช นัท ฮันห์ ภิกษุชื่อดังชาวเวียดนามได้รับนิมนต์มาแสดงธรรม หลังจากบรรยายธรรมแล้วท่านได้นำผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน เดินเจริญสติ รอบๆบริเวณมหาวิทยาลัย สามารถเข้าไปดูบรรยากาศอันน่าประทับใจได้ที่ youtube.com/mindfulness walking meditation

คำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ เข้าถึงจิตใจชาวตะวันตก ซึ่งมีปัญหาเรื่องความเครียด โรคซึมเศร้ากันมาก ท่านสอนการเจริญสติให้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งช่วยแก้ไขความทุกข์ใจได้จริง ปัจจุบันจึงมีผู้สนใจเข้ามาฝึกการเจริญสติกันมาก สามารถดูบรรยากาศได้ใน youtube.com/ peace in every step-ETAB 2011 และเรื่อง Thich Nhat Hanh in London March 2012

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
การฝีกการเจริญสติในเด็กนักเรียนและครู
การฝีกการเจริญสติในเด็กนักเรียนและครู
บรรยากาศการสอนเด็กสมาธิสั้น
ดร.ซูซาน สมอลลี ผู้ก่อตั้งศูนย์การวิจัยการเจริญสติแห่ง UCLA
ไดอานา วินสตัน
ไดอานากำลังบรรยายเรื่องการเจริญสติ
หนังสือที่เขียนโดย ดร.สมอลลี และไดอานา
กำลังโหลดความคิดเห็น