• บังกลาเทศจัดแสดงละครวัดโบราณมรดกโลก
บังกลาเทศ : กองงานภาพยนตร์และละครของสถาบันศิลปาการแห่งชาติบังกลาเทศ ได้จัดแสดงละครเรื่อง “Sompur Katha” หรือ “โสมปุระกถา” ณ บริเวณวัดโสมปุระมหาวิหาร เมืองเนาโกน อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัดโสมปุระมหาวิหาร ซึ่งสร้างโดยพระเจ้าธรรมปาละ กษัตริย์องค์ที่สองแห่งจักรวรรดิปาละ เพื่อเป็นการเผยแพร่โบราณสถานและประวัติให้ประชาชนได้รับทราบ และช่วยกันเฝ้าระวังมรดกของชาติ
วัดโสมปุระมหาวิหารเคยเป็นศูนย์การศึกษาและอาศรมในสมัยโบราณ เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม มีเนื้อที่ราว 67.5 ไร่ มี 177 ห้อง แบ่งเป็น 45 ห้องทางทิศเหนือ ส่วนทิศใต้ ตะวันออก และตะวันตก ทิศละ 44 ห้อง ตรงกลางเป็นที่ตั้งของสถูปองค์หนึ่ง กล่าวกันว่า วัดนี้เป็นที่ศรัทธาอย่างยิ่งในหมู่ชาวทิเบตในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 9-12 มีลามะทิเบตสำคัญหลายรูปเคยเดินทางมาเยือนและพำนัก
ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า ราชวงค์ปาละซึ่งเลื่อมใสในพุทธศาสนา ปกครองเขตเบงกอลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-12 ได้สร้างวัดหลายแห่งที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ วัดโสมปุระมหาวิหาร ซึ่งได้ถูกขุดพบครั้งแรกในปี 1922 นับเป็นวัดโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอนุทวีปอินเดีย และที่น่าสนใจคือ เป็นวัดร่วมสมัยเดียวกับวัดบุโรพุทโธ ในอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ในปี 1985 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้วัดโสมปุระมหาวิหารเป็นมรดกโลก และเตรียมการขุดสำรวจครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณ 185 ล้านบาท
(จาก Buddhistdoor)
• ชาวพุทธกว่า 300 คน โกนหัวช่วยมูลนิธิโรคมะเร็งเด็ก
สิงคโปร์ : พุทธศาสนิกชนกว่า 300 คน มารวมกันที่วัดกวงมิงซาน ฝ่อกักซี ย่านพิชาน ประเทศสิงคโปร์ เพื่อโกนผม อันเป็นกิจกรรมเปิดโครงการ “Hair for Hope” หรือ “เส้นผมสร้างความหวัง” ประจำปี 2014 อย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิโรคมะเร็งเด็ก (CCF) เพื่อหาทุนสนับสนุนและเฝ้าระวังโรคมะเร็งในเด็ก
โดยปีนี้ CCF ตั้งเป้าที่จะหาคนโกนผมอย่างน้อย 6,500 คน และหาทุน 3.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 90 ล้านบาท) ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2014 ซึ่งจะมีการจัดงานใหญ่ขึ้น
อนึ่ง วัดกวงมิงซาน ฝ่อกักซี เป็นวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของ CCF ซึ่งที่ผ่านมาได้หาทุนให้มูลนิธิมากกว่า 350,000 ดอลลาร์สิงคโปร์แล้ว
(จาก The Straits Times)
• อดีตพระญี่ปุ่นผุดบริการ DIY ให้เช่าเครื่องบดอัฐิ เพื่อลอยอังคาร
ญี่ปุ่น : อดีตพระสงฆ์ญี่ปุ่นเปิดทางเลือกใหม่ ให้บริการเช่าเครื่องบดอัฐิด้วยตัวเอง เพื่อตอบสนองคนที่ต้องการจัดพิธีศพด้วยการลอยอังคาร
สึโตมุ กิโยโนะ อดีตพระสงฆ์วัดพุทธแห่งหนึ่งในจังหวัดโอกายามะ รู้ว่ามีคนจำนวนมากกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในพิธีฝังศพตามประเพณี และเกรงว่าจะไม่มีคนคอยดูแลหลุมศพของตระกูล จึงทำให้การลอยอังคารเป็นทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในหมู่ชาวญี่ปุ่น
เมื่อออกจากเพศบรรพชิต กิโยโนะได้ก่อตั้งบริษัท “ยาซุราคาอาน” ในปี 2003 ที่เมืองชิบะ เขตวากาบะ ให้บริการจัดพิธีลอยอังคาร ต่อมามีญาติผู้เสียชีวิตบางรายต้องการบดอัฐิด้วยตัวเอง ดังนั้น ในปี 2013 เขาจึงเปิดให้เช่าเครื่องบดอัฐิในราคา 17,800 เยน (ราว 5,500 บาท) ซึ่งแต่ละเดือนมีผู้มาใช้บริการราว 12 ครั้ง
เครื่องบดอัฐิที่กิโยโนะสร้างขึ้นนั้น ใช้หลักการไม้คาน อาศัยแรงกดคันโยกเบาๆเพื่อบดอัฐิให้เป็นผง โดยชิ้นส่วนภายในสามารถถอดเปลี่ยนได้ เพื่อป้องกันการปะปนของเถ้าอัฐิจากการบดครั้งก่อน
อนึ่ง สาเหตุที่มีบริการให้เช่าเครื่องบดอัฐินั้น เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนหรือปลอมปนเถ้าอัฐิภายในบริษัทที่รับจัดพิธีลอยอังคาร อีกทั้งหลายคนกล่าวว่า การบดอัฐิด้วยตัวเองสร้างความรู้สึกผูกพันกับผู้ล่วงลับมากยิ่งขึ้น
(จาก The Asahi Shimbun)
• เอ็นจีโอเตือนชาวพุทธ..ปล่อยปลาผิดประเภท อาจส่งผลร้ายต่อระบบนิเวศ
ฮ่องกง : เอ็นจีโอออกโรงเตือนบรรดาพุทธศาสนิกชนชาวจีน ที่นิยมทำทานในวันวิสาขบูชา ด้วยการซื้อปลาจากตลาดสดมาปล่อยลงทะเลนั้น อาจส่งผลร้ายมากกว่าดี หากปล่อยปลาผิดประเภท
ดร.มัน ชิ-ซัม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกรีนเพาเวอร์ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ในฮ่องกงกล่าวว่า การปล่อยปลาผิดประเภทลงน้ำ อาจเป็นอันตรายต่อถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ โดยปลาที่นิยมนำมาปล่อยกัน คือ ปลาเก๋ายักษ์ซาบาห์ ซึ่งเป็นปลาผสมข้ามพันธุ์ของมาเลเซีย นิยมเลี้ยงในฟาร์มเพื่อการบริโภค มีขนาดใหญ่และราคาถูก เมื่อเทียบกับปลาเก๋ายักษ์พันธุ์พื้นบ้าน แต่เมื่อนำมาปล่อยในทะเลที่ฮ่องกง อาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลาเก๋ายักษ์ซาบาห์ต้องกินปลาเล็กจำนวน 4 กก. เป็นอาหาร เพื่อให้ได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กก. และเมื่อมันหิว อาจทำร้ายคนได้ด้วย
ส่วน เคน ชิง ซี-โฮ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศและทรัพยากรของกรีนเพาเวอร์ กล่าวว่า หากปลาเก๋ายักษ์ซาบาห์ผสมพันธุ์กับปลาเก๋าพื้นบ้าน ยังไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบต่อถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำอื่นๆอย่างไร จึงแนะนำผู้ที่ต้องการปล่อยปลา ให้หันมาปล่อยปลาเก๋าจุดเหลือง หรือปลากะพงแดง แทน
“มีสัตว์จำนวนมากต้องตายภายหลังถูกนำไปปล่อยผิดที่ ไม่ว่าจะเป็นปูขน เต่า กบ และแมลงต่างๆ ส่วนปลาที่ถูกนำมาปล่อยบริเวณท่าน้ำสาธารณะนั้น ก็มักถูกจับกลับไปใหม่ ณ จุดเดิม ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง” เคนกล่าว
(จาก South China Morning Post)
• ช่างญี่ปุ่นแกะสลักรูป ‘กวนอิม’ บนต้นไม้ในสเปน
ญี่ปุ่น : ฟูมิอากิ โอกิตะ อายุ 73 ปี ช่างแกะสลักชาวญี่ปุ่น ได้ออกเดินทางจากเมืองคันออนจิ จังหวัดคากาวะ ไปยังเมืองโมลินาเซกา ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2014 เพื่อแกะสลักรูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมบนต้นไม้ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางแสวงบุญของชาวคริสต์ไปยังเมืองซานเตียโก เด กอมโปสเตลา ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
โดยก่อนหน้านี้ในปี 2010 นายกเทศมนตรีเมืองโมลินาเซกา ได้เดินทางมาเยือนเกาะชิโกะกุ ตามคำเชิญของเครือข่ายเพื่อการแสวงบุญเกาะชิโกะกุ และเมื่อได้เห็นผลงานแกะสลักของโอกิตะ จึงขอให้เขาเดินทางไปแกะสลักรูปปั้นในเมืองโมลินาเซกา
โอกิตะได้เลือกต้นวอลนัทขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 ซม. เพื่อแกะสลักรูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมขนาดความสูง 142 ซม. ให้ดูเชื่อมโยงกับรูปปั้นพระแม่มารี คาดว่าจะให้แล้วเสร็จเพื่อทันพิธีเบิกเนตรที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2014
โอกิตะจบการศึกษาด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัย ต่อมาได้กลายเป็นช่างแกะสลัก และเปิดโรงเรียนสอนการแกะสลักรูปปั้นในพุทธศาสนา เขาได้พูดถึงความแตกต่างระหว่างศาสนาคริสต์และพุทธว่า
“หากนักแสวงบุญชาวคริสต์มองดูรูปแกะสลักในพุทธศาสนาด้วยใจบริสุทธิ์ พวกเขาจะสามารถเอาชนะความแตกต่างทางศาสนาและรู้จักแยกแยะได้”
อนึ่ง เส้นทางแสวงบุญเกาะชิโกะกุ เป็นเส้นทางแสวงบุญที่มีชื่อเสียง ไปยังวัด 88 แห่ง ตลอดระยะทาง 1,300 กม. เพื่อเดินตามรอยภิกษุกูไก (ปี 774-835) ผู้ก่อตั้งพุทธศาสนานิกายชินงอน
(จาก The Asahi Shimbun)
• ม.สงฆ์สิงคโปร์เตรียมเปิด วิทยาเขตสำหรับแม่ชีแห่งแรก
สิงคโปร์ : มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งประเทศสิงคโปร์ (BCS) เตรียมเปิดวิทยาเขตสำหรับแม่ชีเป็นแห่งแรก ในเดือนกันยายน 2014 โดยจะเปิดสอนระดับปริญญาตรีและโททางพุทธศาสนา เป็นภาษาอังกฤษและจีนกลาง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยกัลณียา ประเทศศรีลังกา และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ประเทศไทย
มหาวิทยาลัยสงฆ์สิงคโปร์ ตั้งอยู่ภายในวัดกวงมิงซาน ฝ่อกักซี ย่านพิชาน เป็นสถาบันเพียงแห่งเดียวที่เปิดสอนภาคปกติในระดับปริญญาทางพุทธศาสนาแก่ภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปี 2005 การเปิดสอนแม่ชีถือเป็นหนึ่งในโครงการขยายการศึกษาของทางมหาวิทยาลัย
พระสิก กว่าง เชง อธิการวัดกวงมิงซาน กล่าวว่า “เราต้องการขยายขอบเขตมหาวิทยาลัย เพื่อทำให้โลกสว่างไสว ด้วยการให้ความรู้แก่ภิกษุสงฆ์และแม่ชีในเรื่องปัญญาและความมีเมตตา”
ทั้งนี้ วิทยาเขตแห่งใหม่จะอยู่ภายในวัดปอห์เอินชิห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ จะเปิดรับแม่ชีจำนวน 45 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกๆ 2 ปี โดยทางมหาวิทยาลัยจะรับภาระค่าเล่าเรียน 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2 แสนบาท) คาดว่านักศึกษาส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ซึ่งต้องผ่านการทดสอบความรู้พื้นฐานด้านพุทธศาสนา ภาษาอังกฤษ และจีนกลาง
นอกจากนี้ วิทยาเขตแห่งใหม่มีแผนจะเปิดสอนระดับปริญญาเอกในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยหนึ่งในอุปสรรคท้ายๆคือ การขอโควตาเพิ่มจากกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเข้าอาจารย์ผู้สอนจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และศรีลังกา เนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีสถาบันผลิตนักวิชาการด้านพุทธศาสนา
(จาก Asia One Singapore)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย เภตรา)