xs
xsm
sm
md
lg

“มอส” ยุโรปใช้วัดมลพิษอากาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมนักชีววิทยา มหาวิทยาลัยไฟร์บูร์กในเยอรมนี ได้ปลูกมอสจำนวนมากเพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ เนื่องจากเป็นพืชที่ไม่มีราก แถมมีผิวสัมผัสกับอากาศมาก และสามารถดักจับมลสารในอากาศได้ ในขณะที่เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันในการเฝ้าระวังระดับมลพิษอย่างไนโตรเจน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว และนิกเกิล ยังคงไม่ชัดเจนและมีราคาแพงมาก
นักวิจัยของคณะชีววิทยา มหาวิทยาลัยไฟร์บูร์ก อธิบายว่า มอสมีสปอร์ที่ใช้ในการสืบพันธุ์ ดังนั้น จึงนำสปอร์มาเพาะพันธุ์ใหม่ในห้องทดลองที่มีการควบคุมปัจจัยแวดล้อม หลังจากนั้นจะนำมาใส่ไว้ในถุงที่อากาศซึมผ่านได้ และไปติดตั้งตามสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในที่ต่างๆ เพื่อดูดซับมลพิษจากอากาส
ปัจจุบันเทคนิคนี้นำไปใช้ทดสอบแล้วในเมืองซานเตียโก เด กอมโปสเตลา ประเทศสเปน โดยส่วนใหญ่จะนำไปติดตั้งริมถนนเพื่อดักจับมลพิษเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็นำมาอบแห้งและป่นเป็นผงเพื่อตรวจวิเคราะห์และวัดระดับมลสารต่างๆ
Jose Angel Fernandez Escribano แห่งคณะชีววิทยา มหาวิทยาลัยซานเตียโก เด กอมโปสเตลา กล่าวว่า ในอนาคตมีแผนที่จะนำวิธีการนี้ไปใช้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมทั้งแม่น้ำ ท้องทุ่ง และย่านอุตสาหกรรม
“มลสารเหล่านี้มีผลกระทบกับแม่น้ำ ซึ่งไหลลงสู่ทะเล และทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลมีมลพิษ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเครื่องมือนี้และนำไปใช้ตรวจหามลพิษที่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศทั้งหมด”

คุณสมบัติพิเศษ “มอส”
มอสเป็นพืชชนิดหนึ่งในกลุ่มไบรโอไฟต์ (พืชกลุ่มไบรโอไฟต์ ประกอบด้วย มอส ลิเวอร์เวิร์ต และฮอร์นเวิร์ต) ซึ่งไม่มีราก ไม่มีลำต้น ไม่มีท่อลำเลียงเพื่อส่งผ่านของเหลว รวมถึงไม่มีดอกและการสร้างเมล็ด มีเพียงไรซอยด์ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ช่วยในการยึดเกาะ ส่วนการลำเลียงน้ำและแร่ธาตุสามารถเข้าสู่ภายในโดยผ่านเซลล์ทุกเซลล์ได้โดยตรง ด้วยคุณสมบัติข้อนี้จึงสามารถนำมาใช้เป็นดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ โดยเฉพาะใช้ศึกษาผลกระทบทางด้านมลพิษอากาศนอกจากนี้ ด้วยความที่มีโครงสร้างดูดซับความชื้นได้ดี ทำหน้าที่เสมือนฟองน้ำให้ความชุ่มชื้นกับผืนป่า หลายเมืองในต่างประเทศจึงนิยมนำมาประยุกต์ด้วยการปลูกมอสตามกำแพง ผนังบ้าน หลังคา และเกาะกลางถนน เพื่อลดอุณหภูมิของอากาศ และบรรเทาปัญหามลพิษในเมือง อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญและยังไม่มีการนำพืชกลุ่มไบรโอไฟต์มาใช้ประโยชน์
(ข้อมูลอ้างอิงจาก http://www.greenworld.or.th/greenworld/foreign/2212)
กำลังโหลดความคิดเห็น