xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หญิงสูงอายุหยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงโรคกระดูกพรุน

จากการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารคลินิกต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ที่ได้ทำการศึกษาผู้หญิงสูงอายุ 1,377 คนของไต้หวัน ระหว่างปี 2000 และ 2008 ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าหยุดหายใจขณะนอนหลับ ระบุว่า ผู้หญิงสูงอายุที่มีการหยุดหายใจขณะนอนหลับ มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเป็นโรคกระดูกพรุน

นพ.ไค-เจน เถียน แห่งศูนย์การแพทย์ชิเหมยในไท่หนาน ประเทศไต้หวัน 1 ในผู้ร่วมการศึกษาวิจัยเรื่องนี้กล่าวว่า การหยุดชะงักของการนอนหลับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากการหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นอันตรายต่อหลายระบบของร่างกาย

“เมื่อหยุดหายใจขณะนอนหลับเป็นระยะ ร่างกายก็จะขาดออกซิเจน ซึ่งจะทำให้กระดูกเปราะและเพิ่มความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน ซึ่งจะนำไปสู่กระดูกหัก ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตลดลง และอาจถึงแก่ความตายได้”

คนมองโลกในแง่ดี ลดเสี่ยงโรคหัวใจล้มเหลว

หากคุณเป็นคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และชอบมองโลกในแง่ดี คุณมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงลดลงของภาวะหัวใจล้มเหลว

เพราะทีมวิจัยที่นำโดย เอริค คิม ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกน ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานประวัติสุขภาพและข้อมูลทางจิตวิทยาของผู้สูงอายุ 6,808 คน โดยได้ติดตามเป็นเวลา 4 ปี เก็บข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงหัวใจล้มเหลว เช่น ด้านสุขภาพ การเจ็บป่วยเรื้อรัง และปัจจัยทางชีวภาพ ผลวิจัยพบว่า ผู้ที่มองโลกในแง่ดีมากๆ มีความเสี่ยงต่ำกว่า 73% ของโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อเทียบกับคนที่มองโลกในแง่ร้าย

ทั้งนี้ การศึกษาในอดีตแสดงให้เห็นว่า การมองโลกในแง่ดี ความคาดหวังว่าสิ่งดีจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องดีและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ มีการศึกษาเมื่อปี 2013 แสดงให้เห็นว่าทัศนคติที่ดีอาจจะช่วยต่อชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจด้วย

ข่าวดีของผู้ชายเลือดกรุ๊ปโอ โอกาสเป็น ‘มะเร็งต่อมลูกหมาก’ ลดลง

แม้ว่ามะเร็งต่อมลูกหมากจะเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้ชาย แต่เป็นข่าวดีของผู้ชายที่มีเลือดกรุ๊ปโอ เพราะการศึกษาใหม่ที่นำเสนอในสภาสมาคมระบบทางเดินปัสสาวะของยุโรป ประเทศสวีเดน บอกว่า ผู้ชายที่มีเลือดกรุ๊ปโออาจจะมีการกำเริบของมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง

ทั้งนี้ จากการวิจัยล่าสุด ดร.โยชิโอะ โอโน่ แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียว และเพื่อนร่วมงานได้ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก 555 คน ระหว่างปี 2004 และ 2010 และพบว่าประมาณ 30% ของผู้ป่วยได้กลับมีอาการกำเริบขึ้นอีกภายหลังการผ่าตัด

และหลังจากที่ได้ติดตามศึกษาผู้ป่วยเหล่านี้ไปราว 52 เดือน ดร.โอโน่ และทีมงานพบว่า ผู้ป่วยที่มีกรุ๊ปเลือดโอ มีโอกาสน้อย ราว 35% ที่จะมีการกำเริบของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีกรุ๊ปเลือดเอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะแตกต่างกันในกลุ่มเลือด

สถาบันโภชนาการแนะวิธีเลิกบุหรี่

ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนาการเพื่อการป้องกันและบำบัด สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเลิกบุหรี่นั้น นอกจากต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งแล้ว การกินอาหาร หรือสมุนไพรต่างๆ ก็จะช่วยลดอาการข้างเคียงจากการเลิกบุหรี่ และทำให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จมากขึ้น

อาหารที่ควรจำกัดระหว่างการเลิกบุหรี่ คือ อาหารประเภทพลังงานสูง ของทอด แป้ง น้ำตาล เพราะจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่าย โดยเฉพาะอาหารที่ให้ความหวาน ทำให้เกิดความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ได้มากขึ้นด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนไปกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว จะช่วยเรื่องความรู้สึกให้ไม่อยากสูบบุหรี่

และยังพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีปัญหาในเรื่องการขาดวิตามินบางประเภท เช่น วิตามินบีรวม แม็กนีเซียม ซิลิเนียม ซึ่งเป็นตัวช่วยเรื่องสารสื่อประสาท จึงต้องทดแทนในอาหารที่มีวิตามินกลุ่มนี้ เช่น ธัญพืช ผัก 5 สี เป็นต้น

นอกจากนี้ การเลิกสูบบุหรี่ยังมีอาการข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ ระคายเคืองคอ ช่องปาก ซึ่งสามารถช่วยได้ด้วยสมุนไพรต่างๆ เช่น กานพลูจะช่วยลดอาการระคายเคืองได้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และช่วยขับพิษนิโคตินได้ ซึ่งพบว่า การเคี้ยวกานพลูจะช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคี้ยวกานพลู สามารถเลิกบุหรี่ได้ ร้อยละ 12

นอกจากนี้ ชะเอม มิ้นท์ จะช่วยลดอาการระคายเคืองที่ลำคอ ขิงจะช่วยขับสารพิษตกค้าง ช่วยระบบทางเดินอาหาร และใบขี้เหล็ก สามารถช่วยเรื่องการนอนหลับได้ เป็นต้น

แพทย์แนะนำผู้สูงอายุรับแดดเช้า-เย็น เพื่อสร้างวิตามินดี สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาโดยเฉพาะผู้สูงอายุ โดยผิวหนังของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนแปลงตามวัย และไวต่อแสงแดดมากกว่าวัยหนุ่มสาว เกิดผื่นคัน เกิดผิวหนังไหม้ ทำให้เป็นแผล มีการติดเชื้อราเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย

ทั้งนี้ การให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสแสงแดดระยะสั้นๆในช่วงเช้าตรู่และช่วงเย็นประมาณ 10-15 นาที ร่างกายจะผลิตวิตามิน D ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้โดยการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (UVB) ซึ่งมีอยู่ในแสงแดด และเนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ร่างกายจึงเก็บสะสมวิตามินดีได้ และมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถป้องกันโรค โดยเฉพาะภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรงในวัยผู้สูงอายุได้

ฉี่ในสระน้ำ อาจสร้างสารพิษ “ไซยาไนด์”

การวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดิว ในมลรัฐอินดีแอนาของสหรัฐฯ พบว่า การปัสสาวะในสระว่ายน้ำจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่ว่ายอยู่ในสระน้ำดังกล่าว เนื่องจากกรดยูริกที่ขับออกมาทางปัสสาวะจะเข้าไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารคลอรีนในสระว่ายน้ำ ก่อให้เกิดสารเคมีชนิดใหม่ชื่อว่า “ไซยาโนเจน คลอไรด์” ซึ่งเป็นสารพิษในตระกูลเดียวกับ “ไซยาไนด์” ที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมผลิตยาปราบศัตรูพืช เส้นใยอะคริลิก และการชุบโลหะ

โดยสระว่ายน้ำที่มีระดับความเข้มข้นของกรดยูริกจากปัสสาวะในระดับตั้งแต่ 24-68% จะพบการก่อตัวของสารไซยาโนเจน คลอไรด์ เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้สระว่ายน้ำดังกล่าว

นอกจากสารไซยาโนเจน คลอไรด์แล้ว ยังพบว่า ปัสสาวะของคนเราสามารถทำปฏิกิริยากับคลอรีน และเกิดเป็นสารเคมีอันตรายอีกชนิดหนึ่ง คือ “ไทรโคลราไมน์” ซึ่งสารเคมีอันตรายทั้งสองชนิดจะมีผลกระทบต่อการทำงานของปอด และหัวใจ หากเข้าสู่ร่างกายของเรา

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย ธาราทิพย์)





กำลังโหลดความคิดเห็น