xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : 8 สาเหตุ “มือชา” รู้ก่อน หายก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โอ๊ะ..มือเป็นอะไรไม่รู้..ชาไปหมดเลย...ทำไงดี?

เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับใครหลายคน โดยเฉพาะงานผู้ที่ต้องเหยียดและงอข้อมือซ้ำๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ งานที่ต้องยกของในท่าข้อมือเหยียด เป็นต้น

แต่สาเหตุของมือชาไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะอาจเกิดจากโรคอื่นๆก็เป็นได้ โดยภาควิชาออร์โธปิดิคส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมือชาไว้ดังนี้

โรคมือชาจากกลุ่มอาการเส้นประสาทที่เรียกว่า “มีเดียน” ที่อยู่ในอุโมงค์ข้อมือ (Carpal Tunnel) บริเวณฝ่ามือใกล้ข้อมือทางด้านหน้า ถูกกดทับ ทำให้เกิดอาการชามือและมืออ่อนแรง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยกลางคนขึ้นไปและพบมากในผู้หญิง

บริเวณอุโมงค์ข้อมือ มีลักษณะเป็นช่องทางปิด คือ ผนังทั้งสามด้านเป็นกระดูกข้อมือ ส่วนด้านบนเป็นพังผืดหนามีเส้นประสาทมีเดียนซึ่งเป็นเส้นประสาทใหญ่ ทำหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณด้านหน้าของนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางด้านนิ้วหัวแม่มืออีกครึ่งหนึ่ง และยังเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อสำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่มือ

นอกจากนี้ ในอุโมงค์ข้อมือยังมีเส้นเอ็นงอนิ้วมือรวมทั้งหมดอีก 9 เส้น อยู่รวมกันในบริเวณอุโมงค์ข้อมือนั้น

สาเหตุ
การกดทับของเส้นประสาทมีเดียนที่บริเวณอุโมงค์ข้อมือ เกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้ดังนี้

1. มีการหนาตัวของพังผืดด้านหน้าอุโมงค์ข้อมือ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
2. มีการหนาตัวของเยื่อหุ้มเส้นเอ็น
3. ภาวะเส้นประสาททำงานผิดปกติ เช่น เบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง
4. ภาวะเส้นประสาทบวมน้ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ในภาวะตั้งครรภ์ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ไตวายเรื้อรัง
5. ภาวะเส้นประสาททำงานผิดปกติ เช่น การอักเสบติดเชื้อ โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
6. การบาดเจ็บบริเวณข้อมือ เช่นกระดูกข้อมือหักหรือเคลื่อนหลุดไปกดทับเส้นประสาทโดยตรง
7. มีก้อนเนื้องอกในอุโมงค์
8. ความสัมพันธ์ของโรคจากการใช้งาน ได้แก่ งานที่ต้องเหยียดและงอข้อมือซ้ำๆ งานที่ต้องยกของในท่าข้อมือเหยียด ทำงานจับเครื่องมือขุด-เจาะ งานที่ต้องออกแรงบิดซ้ำๆที่ข้อมือ อยู่ในท่าผิดปกติ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์

อาการ
อาการและอาการแสดง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาในการถูกกดทับ

1. จะมีอาการตั้งแต่ชามือ บริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยในระยะแรกจะมีอาการชาเฉพาะเวลาทำงานที่ข้อมืออยู่ในท่างอนานๆ เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ รับโทรศัพท์ กวาดบ้าน

2. อาการชาจะเป็นมากขึ้น เป็นตลอดเวลาแม้ขณะไม่ได้ทำงาน อาจจะมีอาการเวลานอนหลับ ทำให้ต้องลุกตื่นขึ้นมาบีบนวดมือ หรือสะบัดมือ อาการจะดีขึ้น

3. ถ้าอาการมากขึ้นจะเริ่มมีอาการกล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วแม่มืออ่อนแรง ทำให้รู้สึกมืออ่อนแรง ของหล่นขณะหยิบจับ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา กล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือจะลีบลง

การรักษา
แบ่งเป็นการรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด

การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด ใช้สำหรับผู้ป่วยซึ่งมีอาการไม่รุนแรง และโรคเพิ่งเริ่มเป็นอยู่ในระยะเริ่มแรก มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น
1. ให้ยาต้านอาการอักเสบและวิตามินบีรับประทาน
2. ใส่เผือกให้ข้อมืออยู่ในท่าตรง เพื่อให้พักข้อมือ ได้ผลดีในรายที่มีอาการน้อยกว่า 1ปี และมีอาการไม่มาก
3. ฉีดยาต้านการอักเสบเฉพาะที่ เข้าไปในอุโมงค์ข้อมือ สำหรับในผู้ป่วยตั้งครรภ์ซึ่งมีอาการของโรคนี้ แพทย์มักจะรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด เนื่องจากหลังคลอด อาการของโรคจะดีขึ้นได้เอง

การรักษาโดยวิธีผ่าตัด ใช้สำหรับผู้ป่วยซึ่งมีอาการของโรคมาเป็นเวลานาน (มากกว่า 2 ปี) หรือมีอาการรุนแรง เช่น ชาตลอดเวลา กล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มืออ่อนแรง หรือในกรณีที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อลีบแล้ว หากรับการผ่าตัดรักษาช้า อาจทำให้มีการสูญเสียกล้ามเนื้ออย่างถาวร

การผ่าตัด คือ การเข้าไปตัดพังผืดที่รัดเส้นเอ็น บริเวณด้านหน้าอุโมงค์ข้อมือออก เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับต่อเส้นประสาท

ปัจจุบันการผ่าตัดมีอยู่ 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิด และแบบใช้กล้องส่อง ทั้งสองวิธีนี้เป็นการผ่าตัดเล็ก ฉีดยาชาเฉพาะที่ที่ข้อมือ และได้ผลดีทำให้หายขาดจาดโรค เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว สามารถกลับบ้านได้เลย

การผ่าตัดรักษานี้ ใช้ในรายที่รักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล หรือมีการกลับเป็นใหม่ของโรค

การผ่าตัดแบบเปิด แผลผ่าตัดจะมีขนาดใหญ่กว่า แต่การทำผ่าตัดทำได้ง่ายกว่า ปลอดภัย และได้ผลแน่นอน

การผ่าตัดแบบใช้กล้องส่อง การผ่าตัดยุ่งยากมากกว่ามาก ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ศัลยแพทย์ต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ แต่มีข้อดีคือ แผลผ่าตัดมือขนาดเล็กกว่า การบาดเจ็บเนื้อเยื่อมีน้อยกว่า ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้มือทำงานได้เร็วกว่า

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย กองบรรณาธิการ)



กำลังโหลดความคิดเห็น