เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผลการวิจัยชี้ สมุนไพรจีน ที่เรียกกันว่า เถาพระเจ้าฟ้าร้อง (thunder god vine) มีสรรพคุณบรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ดีกว่ายา ที่แพทย์นำมาใช้รักษากันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
เถาพระเจ้าฟ้าร้อง หรือเหลย กง เถิง มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Tripterygium wilfordii Hook F. เป็นสมุนไพร ซึ่งมีการนำมาใช้รักษาโรคภูมิแพ้ตนเอง ซึ่งทำลายข้อต่อมือและข้อต่อเท้ามาเป็นเวลานานแล้วในเมืองจีน
สารสกัดจากสมุนไพรตัวนี้เป็นที่สนใจอย่างมากของห้องปฏิบัติการ เพราะมีสารประกอบหลายร้อยชนิด รวมทั้งสารไดเทอร์พีนอยด์ ( diterpenoids) ซึ่งเชื่อกันว่า ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน (immune response)
ผลการวิจัยดังกล่าว ซึ่งตีพิมพ์ในบีเอ็มเจ โอเพ่น (BMJ Open) วารสารการแพทย์ของอังกฤษเมื่อวันจันทร์ (14 เม.ย.) ระบุว่า คณะนักวิจัยชาวจีนได้ทดลองกับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำนวน 207 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่กลุ่มที่รักษาด้วยเถาพระเจ้าฟ้าร้อง กลุ่มที่รักษาด้วยยาแมตโทเทร็กเซต (methotrexate) ซึ่งมีชื่อในท้องตลาดว่า รูมาเทร็กซ์ (Rheumatrex) หรือเทร็กซ์ออล (Trexall) และกลุ่มที่รักษาด้วยเถาพระเจ้าฟ้าร้องควบคู่กับยาแมตโทเทร็กเซต
อีก 6 เดือนต่อมา แพทย์ได้ประเมินอาการของผู้ป่วยทั้งหมด โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน ACR 50 ซึ่งตั้งชื่อตามวิทยาลัยแพทย์โรคข้อแห่งอเมริกา (American College of Rheumatology) และหมายถึงอาการของข้อต่อบวม เจ็บปวด หรือไร้ความสามารถ มีอาการดีขึ้นร้อยละ 50
การประเมินพบว่า ในจำนวนผู้ป่วย ซึ่งผ่านการทดลองจนครบกระบวนการจำนวน 174 คนนั้น ร้อยละ 55 ของผู้ป่วยที่รักษาด้วยสมุนไพรดังกล่าว อาการดีขึ้นถึงเกณฑ์ACR 50 เทียบกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยารูมาเทร็กซ์ มีเพียงร้อยละ 46
ทว่าที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือในกลุ่มที่รักษาด้วยสมุนไพรและยาควบคู่กัน พบว่ามีผู้ถึงเกณฑ์มากเกือบร้อยละ 77
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยก่อนหน้าพบว่า เถาพระเจ้าฟ้าร้องมีผลข้างเคียงด้วยเช่นกัน และในงานวิจัยล่าสุดนี้ก็พบผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ ท้องเสีย และประจำเดือนคลาดเคลื่อน โดยนายซวน จาง ผู้เชี่ยวชาญโรคข้ออักเสบของโรงพยาบาลวิทยาลัยสหแพทย์ปักกิ่ง (Peking Union Medical College Hospital) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยยอมรับว่า ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างในการทดลองครั้งนี้ เช่น การทดลองมีระยะเวลาสั้นเกินกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า สมุนไพรตัวนี้ช่วยหยุดยั้งการลุกลามของโรคได้หรือไม่ นอกเหนือจากการช่วยบรรเทาอาการ และการทดลองครั้งนี้มีการใช้ยาแมตโทเทร็กเซตเพียง12.5 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นมาตรฐานในเอเชีย ขณะที่ในชาติตะวันตกมีการใช้ยาได้เกินกว่านี้