ประชาชนส่วนใหญ่นิยมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง แต่หากไม่ใส่ใจและคำนึงถึงเมนูที่จะนำมาตักบาตร ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์ได้
จากการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2554 จำนวน 98,561 รูป พบว่า ร้อยละ 55 ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน พระสงฆ์บางรูปป่วยมากกว่า 1 โรค พระสงฆ์ร้อยละ 5 หรือ 5,381 รูป อยู่ในภาวะอ้วน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการฉันอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เพราะไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตร ประกอบกับสถานภาพพระภิกษุสงฆ์ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค
ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ ควรเลือกอาหารเมนูชูสุขภาพในการตักบาตร ดังนี้
เมนูที่ให้ใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ผักต่างๆ เพื่อจะได้มีกากอาหารช่วยในการขับถ่าย
เมนูที่ให้แคลเซียมสูง เช่น นมจืดหรือนมพร่องมันเนย ปลาเล็กปลาน้อย ผัดผักที่มีใบเขียวเข้ม เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกไม่ให้เปราะบาง แตกหรือหักง่าย
เมนูที่ให้ไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกายซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
ผลไม้รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ
อาหารที่ปรุงนั้นต้องมีรสที่ไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด เน้นการต้ม นึ่ง อบ หรือทำเป็นน้ำพริก แต่หากต้องการปรุงอาหารประเภทผัดหรือกะทิ ก็ต้องใช้น้ำมันและกะทิแต่น้อย อาทิ เมนูลาบปลา ปลานึ่งผัก แกงส้ม แกงเลียง แกงเหลือง ต้มยำปลา ยำมะม่วง ยำสมุนไพร
ที่สำคัญควรเลือกซื้อจากร้านจำหน่ายอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุก ใหม่ มีการป้องกันแมลงวัน ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนการใช้มือ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย ปุยฝ้าย)