ท่านผู้อ่านนิตยสารธรรมลีลาคงจำได้ว่า ผมเคยเขียนถึงประเทศศรีลังกามาแล้วครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้นเป็นการเขียนจากการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลอุ่นเครื่องก่อนการเดินทางไปท่องเที่ยวท่องธรรม “อายุบวร (สวัสดี) ศรีลังกา” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ผมขออนุญาตเขียนถึง “ลังกา” หรือ “ลงกา” อีกสักครั้ง ในมุมมองของนักเดินทาง ซึ่งค้นพบว่า นอกจากประวัติศาสตร์ พุทธศาสนา วัฒนธรรมวิถีของศรีลังกาที่น่าสนใจแล้ว ในด้าน “ศิลปะ” อัตลักษณ์ของเกาะลังกา ก็เป็นมุมมองที่ควรค่าแก่การนำมาถ่ายทอดสู่กัน ทั้งมุมที่เป็นเหมือนหยดน้ำตา… หรือว่าไข่มุก ตรงนี้สุดแท้แต่ว่าใครจะมองเห็นเป็นอย่างไรครับ
ศรีลังกาเป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องของไทยในด้านพุทธศาสนา ทว่าออกจะพลัดพรากจากกันไกลไปสักนิด เนื่องเพราะไม่มีอาณาเขตติดต่อกัน แต่ความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้มีมาช้านาน ดั่งที่เคยเขียนเล่าถึงที่มาของ “ลังกาวงศ์” และ “สยามวงศ์” ซึ่งนั่นทำให้ไทยและศรีลังกาไม่ห่างเหินกันจนเกินไป โดยเฉพาะในระยะเวลา 10 กว่าปีมานี้ที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวศรีลังกากันมากขึ้น
ประวัติศาสตร์อันยาวนานที่จารึกไว้ในคัมภีร์ต่างๆ ของศรีลังกา ทำให้ได้ค้นพบว่า พุทธศาสนาในศรีลังกามีทั้งยุคเจริญรุ่งเรืองสุดขีด (สมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ) และช่วงตกต่ำจนถึงขีดสุด พุทธศาสนาในศรีลังกาดำเนินไปไม่ค่อยราบรื่นสักเท่าไรนัก เริ่มตั้งแต่การต่อสู้กู้เอกราชคืนจากทมิฬ (สมัยพระเจ้าทุฏฐคามนี) การแตกแยกกันของคณะสงฆ์ (สมัยพระเจ้าวัฏฏคามนีอภัย)
พุทธศาสนาในลังกาถูกกลับมาฟื้นฟูคู่ไปกับการกอบกู้เอกราชอีกครั้ง (ในสมัยพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1) หนักสุดก็เห็นจะเป็นการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของชาติตะวันตก ทั้งโปรตุเกส (สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 8) ฮอลันดา (สมัยพระเจ้าราชสิงหะที่ 2) และยุคสุดท้ายเป็นการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ ผู้ซึ่งมีหน้าที่คอยกอบกู้ฟื้นฟูเอกราชและพุทธศาสนา เมื่ออังกฤษเข้ามายึดครองศรีลังกา ในสมัยพระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะ ประมาณพ.ศ. 2358
อย่างไรก็ดี ศรีลังกายังคงมีร่องรอยทางพุทธประวัติที่งดงาม สื่อสารผ่านงานสถาปัตยกรรมเก่าแก่และล้ำค่า อุดมด้วยคติธรรมแห่งพุทธะที่ปรากฏอยู่ในทุกๆเนื้องาน เนื่องเพราะรากฐานของศรีลังกาที่มักจารึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ในคัมภีร์ การสานต่อด้านศาสตร์และศิลป์จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองทุกคน
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์กันมายาวนานกว่า 700 ปี ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ด้านหลักธรรมทางพุทธศาสนาเท่านั้น ทว่าในแง่ของคติการก่อสร้างในศาสนสถาน ก็ถือได้ว่า ศรีลังกามีอิทธิพลต่อการสร้างเจดีย์ในประเทศไทยไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น “เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ” ซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า “เจดีย์ทรงลังกา”
รูปแบบเด่นชัดของเจดีย์ทรงระฆังลังกา คือองค์ระฆังทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ ฐานเตี้ย มีบัลลังก์สี่เหลี่ยมเหนือองค์ระฆังและต่อด้วยกรวยแหลม ที่เรียกกันภายหลังว่า “ปล้องไฉน”
ในประเทศไทย พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกถ่ายถอดแบบจากเจดีย์ลังกาในช่วงราว พ.ศ. 1700 มีช้างล้อมที่ฐานอันเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของศรีลังกา รวมทั้งข้อมูลตำนานพระบรมธาตุเมืองนครที่เล่าสืบกันมา ก็มีเค้ามาจากตำนานพระทันตธาตุของสิงหลโบราณด้วยครับ
หลัง พ.ศ. 1800 ลงมา รัฐต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ล้านนา สุโขทัย อยุธยา เริ่มนิยมเจดีย์ทรงระฆังคู่ไปกับการเปลี่ยนศาสนาจากฮินดู-มหายาน มาเป็นพุทธศาสนาเถรวาทตามแบบศรีลังกากันเกือบทั้งสิ้น เช่น เจดีย์วัดช้างล้อม ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม ฐานมีรูปช้างล้อมรอบ นับว่าเป็นเจดีย์ที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งของสมัยสุโขทัยเลยครับ
นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์วัดสวนดอก เจดีย์วัดป่าแดงหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์วัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน ต่างก็เป็นเจดีย์ช้างล้อมทรงกลมที่ได้อิทธิพลมาจากศรีลังกาด้วยกันทั้งสิ้น
ความแพร่หลายของเจดีย์ช้างล้อม เป็นสิ่งที่ชาวไทยพุทธในขณะนั้นเห็นว่า เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นพระพุทธศาสนา และสะท้อนการยอมรับว่า พุทธศาสนาในศรีลังกาเป็นพุทธศาสนาที่ประเสริฐและบริสุทธิ์ อีกทั้งยังเป็นการฉายภาพความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศผ่านงานพุทธศิลป์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วยครับ
ย้อนกลับไปราว พ.ศ. 200-300 เจดีย์ทรงระฆังมีถิ่นกำเนิดจากอินเดียโบราณ สมัยราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ ทางลุ่มน้ำคงคา จุดเริ่มต้นมาจากพิธีฝังศพในสมัยก่อนที่นิยมนำดินมากลบและสร้างเป็นเนินดินเล็กๆ อาจจะมีการปักสัญลักษณ์ เพื่อบอกความสำคัญของบุคคลผู้นั้น
เมื่อการทำเนินดินไม่ถาวร จึงมีการใช้หินมาสร้างเจดีย์เป็นครั้งแรก ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. 270-311) กำเนิดสถูปสาญจี ทรงชามคว่ำพร้อมประตู(โตรณะ) ระเบียงล้อมรอบ ประดับด้วยลวดลายสลักอย่างงดงาม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และปักร่ม(ฉัตรวลี) จากนั้นเจดีย์รูปแบบนี้จึงแผ่ขยายไปทั่วอินเดีย ส่งไปถึงอินเดียใต้ (ศิลปะอมราวดี) ข้ามเกาะไปศรีลังกาในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ราวพุทธศตวรรษที่ 3
ส่วนเจดีย์ในศรีลังกา ซึ่งพัฒนาจากสถูปของอินเดีย ทว่าปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นทรงชามคว่ำขนาดใหญ่มาก ฉัตรวลียืดสูงกลายเป็นปลียอด (ยอดเจดีย์) บางครั้งมีช้างยืนล้อมสถูป
เมื่อมีการเดินเรือค้าขายมากขึ้นทางศรีลังการับพุทธศาสนาไปพร้อมสร้างเจดีย์เป็นมหาสถูปประจำเมือง ที่สำคัญคือ รุวันเวลิเสยะ(Ruwanveli Seya) หรือที่รู้จักกันว่า สุวรรณมาลิกเจดีย์ เจดีย์อภัยคีรี และเจดีย์เชตวัน ทั้งสามองค์นี้อยู่ในเมืองอนุราธปุระ(Anuradhapura) ราชธานีเก่าของศรีลังกา
ในบรรดาสถูปอันงดงามแปลกตาในเมืองอนุราธปุระ คงไม่มีสถูปใดเกินไปกว่า “สถูปรุวันเวลิเสยะ” บริเวณโดยรอบกำแพงของสถูป มีรูปปั้นช้างขนาดใหญ่เรียงรายแลดูมั่นคง โดยรอบเหลี่ยมมุมของกำแพงเป็นสัญลักษณ์ว่า บรรดาช้างเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องรักษาสถูปแห่งนี้เอาไว้นั่นเองครับ
และแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่สถูปรุวันเวลิเสยะ ก็ถูกจัดให้มีความสำคัญในลำดับต้นๆ เพราะที่มาของสถูปแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยพระเจ้าทุฏฐคามนี (พ.ศ. 382-406) โดยโปรดให้สร้างขึ้นภายหลังจากเสร็จศึกยุทธหัตถีกับกษัตริย์ทมิฬ
ต่อมาศรีลังกาย้ายเมืองหลวงลงมาอยู่ที่โปโฬนนารุวะ(Polonnaruva) ในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ได้ยึดครองอาณาจักรโปโฬนนารุวะได้ทั้งหมด ทรงครองราชย์ระหว่างปีพ.ศ. 1696-1729 กลายเป็นยุคทองของพุทธศิลป์ศรีลังกา
พระองค์ทรงชำระพุทธศาสนาเสียใหม่ โบราณสถานต่างๆ ที่โปโฬนนารุวะ มีความสมบูรณ์กว่าอนุราธปุระมาก เพราะแม้เป็นซากกำแพงเมือง วิหาร พระราชวัง ล้วนยังคงรูปร่างเค้าโครงเดิมทั้งสิ้น มีศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาในศรีลังกามากมาย อาทิ
วิหารถูปาราม (Thuparama Cetiya) เป็นหนึ่งในโสฬสบุณยสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธศรีลังกา ถือว่าเป็นเจดีย์แห่งแรกของลังกา เป็นปฏิมาฆระ ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งอยู่ภายใน สร้างขึ้นจากอิฐทั้งหลัง จึงมีความแข็งแรง เพราะต้องรองรับน้ำหนักเป็นพิเศษ
และยังสวยงามเนื่องเพราะมีหลังคาเป็นรูปโค้งแบบกระทะคว่ำที่เรียกว่า “เคทิเค” หลังคาอยู่ภายในค่อนข้างมืดทึบครับ มีพระพุทธรูปสลักหินอยู่หลายองค์ด้วยกัน มีประตูเข้าด้านหน้าเพียงทางเดียว มีพื้นที่ประมาณ 16 ตารางเมตร ไม่กว้างขวางนัก มีฝาผนังสูงก่อด้วยอิฐมีความหนาถึง 2.10 เมตร ส่วนยอดของอาคารมีการประดับตกแต่งลวดลายดอกบัว
ส่วนสถูปแบบวฏทาเค (Vatadage) ในภาษาสิงหล ใช้เรียกสถูปที่มีหลังคาคลุม เป็นศิลปะของพุทธศาสนานิกายมหายานแบบตันตระ มีรูปทรงแบบลอมฟาง มีเสาหินเรียงรายอยู่ 3 แถวโดยรอบ แต่เดิมมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องครอบอยู่ ตรงกลางเป็นเจดีย์ทรงกลม บางครั้่งก่อกำแพงด้วยอิฐ ถือปูน บางครั้งปล่อยโล่ง ไม่มีพระพุทธปฏิมาประดิษฐาน มีความหมายคือเพื่อให้เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในฐานะพระธรรมกาย
กัลวิหาร (Gal Viharaya) หรือชื่อเดิมคืออุตตราราม แปลว่า วิหารหิน เป็นวิหารที่สลักบนวิหารหินแกรนิต ประติมากรรมขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปจำนวน 4 องค์ ในอิริยาบถต่างกัน แกะลงเนื้อหิน ถือเป็นผลงานชั้นเอกอุเชิงศิลป์ของศรีลังกา ประกอบด้วย 3 ถ้ำ คือถ้ำวิชชาธรคูหา ถ้ำนิสินนปฏิมาคูหา ถ้ำนิปันนปฏิมาคูหา และถ้ำที่สร้างขึ้นมาใหม่ภายหลังในสมัยพระเจ้านิสสังกมัลละ คือถ้ำอุตติตปฏิมาคูหา
ต่อมาถ้ำต่างๆถูกทิ้งร้างภายหลังอาณาจักรโปโฬนนารุวะล่มสลาย และถูกค้นพบอีกครั้งเมื่อปีพ.ศ. 2450 สมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครอง และได้รับความสนใจจากทั่วโลก
หากวิเคราะห์ในภาพรวมจะพบว่า มีการผสานคติความเชื่อแบบเถรวาทดั้งเดิมเข้ากับคำสอนมหายานและฮินดู สะท้อนว่า คติความเชื่อของมหายานและฮินดูยังคงเจริญเติบโตคู่ขนานไปกับพุทธศาสนาในศรีลังกา ทว่ายกสถานภาพของพระพุทธเจ้าให้สูงส่งเหนือเทพเจ้าทั้งปวง จนกลายเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของศรีลังกามาจนถึงปัจจุบันนี้ครับ
ส่วนอาคารรูปสี่เหลี่ยมชื่อว่า “อาตทาเค” (Atadage) และ “ฮาตทาเค” (Hatadage) มีลักษณะแผนผังโดยทั่วไปเหมือนกัน เพียงแต่ฮาตทาเคจะใช้หินเป็นวัสดุหลัก และทั้งคู่เคยเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วทั้ง 2 วิหาร เพราะฉะนั้น ลานแห่งนี้จึงเรียกว่า ลานพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งจะมีกลุ่มโบราณสถานสำคัญรวม 12 แห่ง มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก มีอ่างน้ำขนาดยาวอยู่หนึ่งใบ ใช้สำหรับล้างเท้าก่อนจะขึ้นไปบนลานอันศักดิ์สิทธิ์
ฮาตทาเคมีกำแพงหินล้อมรอบ ตัววิหารก็สร้างด้วยหิน ภายในเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีพระพุทธรูปประทับยืน 3 องค์ประดิษฐานอยู่ มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า ที่ผนังของมุขด้านหน้ามีอักษรจารึกเรื่องราวของพระเจ้านิสสังกมัลละ และมีภาพหงส์สลักยาวเป็นแนวอยู่ด้วย ประตูทางเข้าจะประดับด้วยรูปนักฟ้อนรำ นักดนตรี ทำจากปูนปั้น ส่วนหน้าบันไดทางขึ้นจะมีทวารบาลและอัฒจันทร์อยู่ด้วย วิหารนี้แต่เดิมเป็น 2 ชั้น แต่ชั้นบนเป็นไม้ ซึ่งผุพังไปหมดแล้ว
รังโกตฏเวเหระ (Rankot vehera) แปลว่า เจดีย์ที่มียอดเป็นทอง เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในเมืองเก่าโปโฬนนารุวะ เจดีย์มีรูปทรงเป็นบาตรคว่ำหรือทรงฟองน้ำ สร้างโดย พระเจ้านิสสังกมัลละ (พ.ศ. 1730 – 1739) เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโปโฬนนารุวะ สูงกว่า 55 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 54 เมตร ตั้งใจจำลองมาจากรุวัลเวลิเสยะที่เมืองอนุราชปุระ
นิสสังกลฎามณฑป (Nissanka Lata Mandapa) เป็นอาคารขนาดเล็ก สร้างด้วยหิน ตั้งอยู่ในเขตรั้วหินที่สลักเลียนแบบเครื่องไม้ หลังคาได้ผุพังไปหมดแล้ว เหลือแต่เสาหินภายในอาคาร ซึ่งสลักเป็นรูปก้านดอกบัว ส่วนบัวหัวเสาสลักเป็นรูปดอกบัวกำลังแย้ม บริเวณตรงกลางวิหารจะมีพระเจดีย์เล็กๆ ตั้งอยู่ภายใน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเจ้านิสสังกมัลละ เสด็จมาทรงฟังพระภิกษุสงฆ์สวดพระปริตร
เนื่องจากพุทธศาสนาในศรีลังกามีความรุ่งเรืองสลับกับความตกต่ำมาหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะในสมัยอนุราธปุระ ถือว่าเป็นยุคที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เราจึงพบวัดวาอารามน้อยใหญ่มากมายเหมือนเช่นประเทศไทย ทั้งในระดับหมู่บ้านหรือเมือง
อารามที่สร้างโดยกษัตริย์ มักจะมีองค์ประกอบสำคัญและเป็นแบบอย่างให้กับอารามทั่วไปนั่นคือ สถูป อุโบสถ ปฏิมาฆระ และโพธิมณฑล
โพธิมณฑล หมายถึงบริเวณที่ปลูกต้นโพธิ์ครับ เนื่องจากศรีลังกาให้ความนับถือต้นโพธิ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งสักการะบูชาแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกิ่งโพธิ์กิ่งแรกของศรีลังกามาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ปลูกไว้ ณ มหาวิหาร ในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ
ธรรมเนียมชาวพุทธศรีลังกา มีประเพณีบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์สองครั้งต่อวัน คือในตอนเพลถวายภัตตาหารหวานคาว ดอกไม้และธูปเทียน ส่วนตอนเย็นถวายน้ำปานะพร้อมดอกไม้และธูปเทียน ประหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ในแต่ละวันจะมีชาวศรีลังกาเข้ามากราบสักการะและสวดมนต์อยู่บริเวณต้นโพธิ์ เป็นจำนวนมาก และชาวพุทธในศรีลังกามักจะนำน้ำมารดที่โคนต้นโพธิ์อยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าเป็นการทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง และทำให้ชีวิตตนเองนั้น รุ่งเรือง งอกงาม ร่มเย็นอีกด้วยครับ
ในการเดินทางไปศรีลังกานั้น ผมได้มีโอกาสเดินขึ้นไปบนเขาสีคีริยา (Sigiriya) หรือสิงหคีรี แปลว่า ภูเขาแห่งพญาราชสีห์ ซึ่งเป็นพระราชวังของพระเจ้ากัสสปะที่ 1 (พ.ศ. 1020-1038)
อดีตก่อนที่จะเป็นพระราชวังนั้น เคยเป็นศาสนสถานมาก่อน ถ้ำและเพิงผาต่างๆโดยรอบเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ครับ ที่แห่งนี้มีการค้นพบจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามและสมบูรณ์เป็นอย่างมาก จนได้รับการขนานนามว่า เป็นต้นแบบจิตรกรรมคลาสสิคของศรีลังกา นั่นคือ “ภาพเขียนสีเฟรสโก”
เป็นกลุ่มภาพนางอัปสรในชะง่อนผากลางภูเขา สตรีแต่ละคู่จะมองเห็นเฉพาะท่อนบนบ้าง สวมผ้าบางหรือไม่สวม ถือดอกไม้ไว้ในมือ และนิยมใช้สีทองในการเขียน
สันนิษฐานว่า เป็นภาพของสตรีผู้หนึ่งซึ่งเป็นนาย ส่วนผู้ที่เป็นบ่าวนั้นจะสวมผ้าที่หนากว่า ถือถาดดอกไม้หรือมีท่าทีนอบน้อม เน้นความแตกต่างของชนชั้นด้วยการใช้สีโทนหนัก โทนเข้ม ส่วนช่วงล่างของภาพทั้งหมดจะปกคลุมด้วยเมฆหมอก ราวกับเป็นนางฟ้า นางอัปสร
มัคคุเทศก์ชาวศรีลังกาอธิบายว่า เทคนิคที่ใช้ในการวาดภาพเป็นเทคนิคโบราณครับ สันนิษฐานว่ามาจากประเทศอินเดีย เนื่องจากพบภาพเขียนที่ใช้กรรมวิธีในการวาดเช่นเดียวกันนี้ที่ถ้ำอชันตา คือการใช้วัตถุดิบคล้ายดินเหนียวเปียกแบบโบราณมาทำเป็นสี และมีการเล่นแสงเงาที่ชัดเจน และตัดเส้น ตัดขอบ จนทำให้ภาพนั้นดูมีมิติมากยิ่งขึ้น
ส่วนพระราชวังลอยฟ้านั้น กว่าจะขึ้นไปถึงบนยอดเขาได้ ก็ทำเอาหอบอยู่เหมือนกันครับ ปัจจุบันเหลือเพียงแค่เศษซาก แต่ก็ยังเห็นร่องรอยความงามและความปราณีตของการออกแบบจัดวาง ทั้งในเชิงช่างและเชิงศิลป์ จนองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อพ.ศ. 2525
หากจะกล่าวในมุมของพุทธศิลป์แล้ว งานศิลปะของศรีลังกาถือว่ามีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นมาก แม้ว่าจะรับเอาพุทธศาสนามาจากอินเดียก็ตาม ทว่ามีการพัฒนาการผ่านขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ จนกลายเป็นงานที่มีแบบอย่างของตน เช่น วฏทาเค มีหินที่สลักลวดลายอย่างสวยงามประกอบอยู่ บริเวณฐานและผนัง เป็นลายสิงโต คนแคระ ดอกไม้ และพันธุ์พฤกษาต่างๆทางด้านเหนือมีมุขขนาดเล็กสร้างปรากฏอยู่ สันนิษฐานว่าสร้างโดยพระเจ้านิสสังกมัลละ
ส่วนทวารบาลสลักหินที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์แห่งนี้ เป็นทวารบาลที่สลักได้งดงามที่สุดในศิลปะแบบโปโฬนนารุวะ เป็นรูปมนุษย์นาค (ผู้ชายมีนาคแผ่พังพานอยู่ด้านหลัง) มือซ้ายถือดอกบัว มือขวาถือหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ (ปูรณฆฏะ) และมีคนแคระ 2 คนยืนอยู่สองข้างในแผ่นสลักหินชิ้นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่บางยุคสมัยของศรีลังกา พุทธศาสนาไม่สามารถเจริญงอกงามได้ เช่นช่วงยุคหลังอาณาจักรโปโฬนนารุวะล่มสลาย บ้านเมืองเกิดจราจล พุทธศาสนาก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
แต่หากย้อนกลับไปในยุคแรกอย่างสมัยอาณาจักรอนุราธปุระ และอาณาจักรโปโฬนนารุวะ บ้านเมืองร่มเย็น กษัตริย์ผู้ปกครองให้ความสนพระทัยในพระพุทธศาสนา ส่งผลให้เกิดการสร้างอาราม ศาสนสถาน งานพุทธศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ งดงาม พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูเป็นอย่างดี
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่พุทธศาสนากลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักที่สำคัญของชาติ ซึ่งคนในชาติไม่ว่าจะศรีลังกาหรือว่าประเทศไทย ควรที่จะเคารพบูชาสักการะ เพื่อให้พุทธศาสนาอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร อยู่เป็นหลักชัยที่จะเกาะเกี่ยวรวมทุกคนในชาติเข้าไว้ด้วยกัน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 159 มีนาคม 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)