ปัจจุบัน สำนักงานการท่องเที่ยวและหน่วยงานพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในจึน กำลังแข่งขันกันสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เพื่อหวังเจริญรอยตาม “หลวงพ่อโตแห่งวัดหลิงซาน” เมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวราว 3.8 ล้านคน ให้มาเยือนในปีที่แล้ว สร้างรายได้กว่า 1,200 ล้านหยวน (ราว 6,700 ล้านบาท)
หลวงพ่อโต วัดหลิงซาน เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด สูง 88 เมตร หนัก 725 ตัน
ขณะที่ “พระพุทธรูปเทียนถาน” พระใหญ่แห่งเกาะลันเตา ในฮ่องกง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดประทับนั่ง ขนาดสูง 34 เมตร มีขนาดความสูงแค่เข่าของ “พระใหญ่จงหยวน” แห่งวัดฟัวเฉวียน (Spring Temple Buddha) ในเมืองหลู่ซัน มณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดง ความสูง 208 เมตร น้ำหนัก 1,000 ตัน โดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้ทุ่มทุน 1,200 ล้านหยวน ก่อสร้างในปี 2008
นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปที่สูงกว่าพระพุทธรูปเทียนถานอีกอย่างน้อย 5 องค์ประดิษฐานตามที่ต่างๆในจีน เช่น พระโพธิสัตว์กวนอิม สูง 88 เมตร ในซูโจว มณฑลเจียงซู พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ (Ksitigarbha Bodhisattva) สูง 99 เมตร ในมณฑลอันฮุย และพระอมิตาภพุทธะ สูง 48 เมตร ในภูเขาลู่ มณฑลเจียงซี รวมทั้งมีโครงการหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่เกิดขึ้นเรื่อยๆ
จากรายงานข่าวของ New Weekly บริษัท Aerosun Corporation ผู้สร้างพระพุทธรูปเทียนถาน ในฮ่องกง กำลังผุดโครงการทั่วประเทศ มากกว่า 10 โครงการภายในปี 2014
เสวี่ย อี้ว์ เจ้าหน้าที่แผนกวัฒนธรรมและศาสนาศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยจีน ฮ่องกง ชี้ว่า บรรดารัฐบาลท้องถิ่นมองพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ว่าเป็นช่องทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น
“โครงการเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นจากกระแสนิยมในพุทธศาสนา และใช้เป็นวิถีทางการเมืองที่ปลอดภัยในการสร้างความสงบสุขของสังคม”
ทั้งนี้ จีนมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในด้านพุทธศิลป์และประติมากรรม โดยมียุคทองอยู่ในสมัยราชวงศ์สุ่ย (ค.ศ. 589-617) และราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) แต่งานพุทธศิลป์ชิ้นเอกหลายชิ้นได้ถูกทำลายไปพร้อมกับมรดกแห่งชาติทางศาสนาอีกมากมาย ในช่วงหลายปีหลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
“ก่อนปี ค.ศ. 1949 ในกรุงปักกิ่ง มีวัดวาอารามมากกว่า 1,000 แห่ง แต่ขณะนี้เหลือเพียง 20 - 30 แห่งเท่านั้น” เสวี่ย อี้ว์ กล่าว
ในสายตาของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม พุทธอุทยานกลายเป็นสถานที่ยิ่งใหญ่ อย่างเช่น พุทธอุทยานหลิงซาน ที่มีหลวงพ่อโต สูง 88 เมตร กำหนดค่าบัตรผ่านประตู 210 หยวน มีผู้เข้าชมล้นหลามในช่วงวันหยุดต่างๆ
“พุทธอุทยานเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ถือกล้อง ถ่ายรูปกันวุ่นวายไปหมด มันไม่ใช่สถานที่สงบสำหรับการปฏิบัติธรรมอีกต่อไปแล้ว” เคนท์ ช่า ผู้มาเยือน จากเมืองหนิงปัว มณฑลเจียงซู กล่าว
เคนท์ ช่า ยังบอกต่อไปว่า “ผมรู้สึกแปลกๆ เมื่อเห็นธูปชุดเล็กชุดใหญ่วางขายเต็มไปหมด มีทั้งราคา 50 หยวนสำหรับการสวดวิงวอนขอให้มีสุขภาพดี ราคา 128 หยวนสำหรับสวดมนต์ขอลูก ราคา 398 หยวน สำหรับสวดมนต์ขอความสุขมากๆ และราคา 598 หยวน สำหรับการสวดอ้อนวอนขอโชคลาภใหญ่”
นอกจากนี้ ในบางครั้งยังมีเหตุขัดแย้งระหว่างผู้ลงทุนสร้างพุทธอุทยาน กับพระสงฆ์ และชาวบ้านในบริเวณที่มีการก่อสร้าง เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ส่วนในเล่อซาน มณฑลเสฉวน คนท้องถิ่นต่างพากันบ่นว่า พุทธอุทยานที่มีพระพุทธรูปกว่า 3,000 องค์ รวมทั้งพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ไทย และพม่า ได้ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งเคยมีให้กับหลวงพ่อโตแห่งเล่อซาน พระพุทธรูปหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูง 71 เมตร ซึ่งสร้างเมื่อ 1,200 ปีที่แล้ว
“ในฐานะพุทธศาสนิกชน ฉันอยากเห็นการสร้างพระพุทธรูปเรื่อยๆ เพราะช่วยให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์และวิถีพุทธ แต่ฉันไม่เห็นด้วย ที่จะต้องสร้างให้ใหญ่โตมโหฬาร เพื่อทำลายสถิติโลก” ฮุ่ยเหยา แม่ชีวัดในหยังโจว มณฑลเจียงซู กล่าว
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 159 มีนาคม 2557 โดย กองบรรณาธิการ)