เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์--ขณะนี้เจ้าหน้าที่ในหน่วยท่องเที่ยวจีน และหน่วยงานการพัฒนาบรรดามีในแผ่นดินใหญ่กำลังประชันกัน หล่อพระพุทธรูปองค์มหึมา เจริญรอยตามพระใหญ่แห่งหลิงซัน เมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู
พระใหญ่แห่งหลิงซัน ความสูง 88 เมตร กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว ราว 3.8 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว ทำรายได้ มากกว่า 1,200 ล้านหยวน นับเป็นการถอนทุนที่ไม่เลวเลย สำหรับบรอนซ์ 725 ตัน ที่ลงทุนไป
พระใหญ่เทียนถันในฮ่องกง ยังจัดเป็นองค์ย่อมๆด้วยความสูง 34 เมตร สูงแค่เข่าของอภิมหาประติมากรรมในปัจจุบัน อาทิ พระใหญ่จงหยวนแห่งวัดฟัวเฉวียน (Spring Temple Buddha) ความสูงถึง 208 เมตร ในอำเภอหลู่ซัน มณฑลเหอหนัน
นอกไปจากนี้ ไม่เพียงรูปปั้นพระพุทธรูปอื่นที่สูงกว่าเทียนถัน อีกอย่างน้อย 5 องค์ ประดิษฐานตามที่ต่างๆในจีน ยังมีรายชื่อโครงการหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ อาทิ โครงการหล่อรูปปั้นพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิน ความสูง 88 เมตร ในซูโจว มณฑลเจียงซู โครงการภาพวาดพระกษิติครรภโพธิสัตว์ (Ksitigarbha Bodhisattva) 99 เมตร ในมณฑลอันฮุย และรูปปั้น พระอมิตาภพุทธะ ในภูเขาลู่ มณฑลเจียงซี
จากรายงานข่าวของ New Weekly บริษัท Aerosun Corporation ผู้สร้างพระพุทธรูปเทียนถัน ในฮ่องกง กำลังผุดโครงการฯมากกว่า 10 โครงการภายในปีนี้
จีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานด้านประติมากรรมพระพุทธและพุทธศิลป์อื่นๆ โดยมียุคทองแห่งพุทธศาสนา ได้แก่ ราชวงศ์สุ่ย (ค.ศ. 589-617) และราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) แต่งานพุทธศิลป์ชิ้นเอกหลายชิ้นก็ถูกทำลายพร้อมกับมรดกทางศาสนาจำนวนมหาศาลระหว่างช่วงหลายปีหลังจากที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน “ก่อนปี ค.ศ. 1949 ในกรุงปักกิ่ง มีวัดวาอารามมากกว่า 1,000 แห่งแต่ขณะนี้ หลงเหลือเพียง 20 ถึง 30 แห่ง”
ในสายตาของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม สวนพระพุทธ อย่างเช่น สวนหลิงซัน กำหนดค่าบัตรผ่านประตู 210 หยวน ผู้ชมแน่นล้มหลามในช่วงวันหยุดต่างๆ
“สวนเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ถือกล้อง ถ่ายรูปกันวุ่นวายไปหมด มันไม่ใช่สถานที่สงบสำหรับการปฏิบัติธรรมอีกต่อไปแล้ว” เคนท์ ช่า จากเมืองหนิงปัว มณฑลเจียงซู กล่าว
“ผมรู้สึกมึนเมื่อเห็นห่อธูปชุดใหญ่น้อยวางขายละลานตา ระบุราคา 50 หยวนสำหรับการสวดวิงวอนขอให้สุขภาพดี, 128 หยวนสำหรับสวดมนต์ขอลูก, 398 หยวนสำหรับสวดมนต์ขอความสุขมากๆ, และ 598 หยวน สำหรับการสวดวิงวอนขอโชคลาภมหึมา”
นอกจากนี้ ยังมีเหตุขัดแย้งระหว่างนักลงทุนสวนพุทธ นักบวช หลวงจีน และผู้อาศัยในบริเวณที่จะผุดโครงการ เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ในเขตที่ยากจนแห่งลู่ซัน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทุ่มทุน 1,200 ล้านหยวน สำหรับโครงการก่อสร้างวัดพระพุทธ ในปี 2551
ในเล่อซัน มณฑลเสฉวน คนท้องถิ่นต่างพากันบ่นว่า สวนสนุกที่มีรูปจำลองพระพุทธรูป กว่า 3,000 องค์ รวมทั้งพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงในอินเดีย ไทย และพม่า ได้ทำลายพระใหญ่ 71 เมตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสร้างเมื่อ 1,200 ปีที่แล้ว
“ในฐานะผู้นับถือศาสนาพุทธ ฉันก็อยากเห็นรูปปั้นพระพุทธรูป ซึ่งน้อมนำประชาชนให้ศึกษาคำสอน ปฏิบัติธรรม และหันมานับถือศาสนาพุทธ” ฮุ่ยเหยา แม่ชีที่วัดในหยังโจว มณฑลเจียงซู “แต่ก็นึกไม่ถึงเลยว่าพวกเขาต้องการเพียงสร้างรูปปั้นพระพุทธขนาดใหญ่ขึ้นๆ หรือทำสถิติโลก”
เสวี่ย อี้ว์ แผนกการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม แห่งมหาวิทยาลัยจีน ฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ชี้ว่าบรรดารัฐบาลท้องถิ่นมองพระพุทธรูปใหญ่เป็นช่องทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น
“ผู้พัฒนาโครงการฉวยกระแสนิยมพุทธศาสนา และเป็นหนทางที่ปลอดภัยในทางการเมืองที่จะช่วยสร้างเอกภาพในสังคม”