xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : ฟันแท้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูก : อุ๊ย! ตอนเด็กๆพ่อก็ฟันหลอเหมือนกันเหรอครับ?

พ่อ : ใช่ เด็กหกขวบใครๆก็ฟันหน้าหลอทั้งนั้นแหละลูก

ลูก : ในรูปเนี่ยพ่ออายุเท่าผมเหรอ?

พ่อ : ใช่ลูก ไหนลองยิ้มสิ พ่อจะเทียบดูว่าตอนเด็กเราสองคนใครน่ารักกว่ากัน

ลูก : ไม่เอา น่าอายจะตาย (หุบปากแน่นไม่ยอมยิ้ม) อื้อๆๆ อื้มอือ อื้อๆๆ

พ่อ : น่าดีใจต่างหากล่ะลูก

ลูก : อ๋อ พ่อดีใจที่ผมฟันหลอเหมือนพ่อตอนเด็กๆใช่มั้ย?! (น้ำเสียงเคืองๆ)

พ่อ : แหม! ทำมาเคือง ที่พ่อว่าน่าดีใจเพราะว่าลูกกำลังจะมีฟันแท้ขึ้นแล้วต่างหากล่ะ ฟันแท้ที่จะค่อยๆงอกขึ้นแทนฟันน้ำนมซี่หน้าที่หลุดไปเนี่ยจะแข็งแรงกว่า และจะอยู่กับลูกตลอดไปถ้าลูกรักษาดีๆ ก็เหมือนลูกไงที่ปีนี้โตขึ้น เก่งขึ้น ทำอะไรได้เองโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องช่วยเหมือนตอนลูกยังเล็กๆไง

ลูก : ฟันแท้ผมขึ้น หมายถึงผมกำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่เหรอพ่อ?

พ่อ : แน่นอนอยู่แล้ว

ลูก : จริงสิ ปีนี้ผมทำอะไรเองได้ตั้งหลายอย่าง ที่สำคัญผมก็ขี่จักรยานได้แล้วด้วย (อวดอย่างภูมิใจ)

พ่อ : ทีนี้ก็ยิ้มโชว์ฟันหลอได้อย่างมั่นใจ ไหนยิ้มซิ กว้างไปมั้ยเนี่ย (หัวเราะ)

ลูก : ก็ผมไม่ใช่เด็กๆแล้วนี่ (หัวเราะ)

หมอเหมียวชวนคุย

ฟันน้ำนมคู่หน้าของเด็กจะร่วงในช่วงอายุราว 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากชั้นอนุบาลขึ้นชั้นประถม พ่อแม่จึงควรปรับเทคนิคการเลี้ยงดูจากที่ต้องคอยบอก คอยเตือน คอยช่วยเหลือคอยทำแทนมาสู่การหัดลงมือทำและช่วยเหลือตนเอง สุดท้ายเด็กจะมั่นใจในความสามารถและพร้อมพัฒนาตนเองค่ะ

เมื่อฟันน้ำนมลาไปและฟันแท้มาเยือน
ฟันน้ำนมคู่หน้าของเด็กจะร่วงในช่วงอายุราว 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากชั้นอนุบาลขึ้นชั้นประถม มีผลต่อสภาพจิตใจเด็ก และการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน

ขณะฟันซี่หน้าหลอรอฟันแท้ขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจเพราะถูกล้อเลียน โกรธเมื่อคนอื่นหัวเราะที่เห็นเขาฟันหลอ พ่อแม่จึงควรอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทุกคน พ่อแม่ก็เคยผ่านเหตุการณ์นี้ในช่วงอายุนี้เช่นเดียวกัน ไม่มีอะไรที่ต้องอาย หรือมีอะไรที่ต้องกลัว เด็กจะได้คลายความกังวลใจ พ่อแม่อาจอาศัยช่วงนี้อธิบายถึงวงจรชีวิตของคนและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตั้งแต่เกิดเป็นทารก เด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว วัยกลางคน และคนแก่ หรืออาจอธิบายวงจรชีวิตของสัตว์ เช่น ผีเสื้อ ลูกอ๊อด เพื่อให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าคนหรือสัตว์ เมื่อฟันน้ำนมหลุดร่วงไป ฟันแท้ก็จะงอกมาแทน หรือจากดักแด้ โตมาเป็นผีเสื้อ จากลูกอ๊อดกลายเป็นกบ เด็กจะได้เข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เป็นช่วงวัยแห่งการเจริญเติบโตของเขา

ในด้านการเลี้ยงดู เมื่อลูกฟันหลอก็เป็นการเตือนให้พ่อแม่รู้ว่า ควรต้องปรับเทคนิคการเลี้ยงดูจากเด็กอนุบาลที่ต้องคอยบอกคอยเตือน คอยช่วยเหลือ คอยทำแทนลูก มาเป็นการฝึกให้เด็กช่วยเหลือตนเอง หรือให้พึ่งตนเองในด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น พ่อแม่อาจมอบหมายหน้าที่ยากกว่าเมื่อตอนที่เขายังอยู่อนุบาล และแสดงให้เด็กรับรู้ว่า พ่อแม่ไว้วางใจจึงมอบหน้าที่นี้ให้ เพราะเห็นว่าเขารับผิดชอบได้ หากมีข้อผิดพลาดก็ไม่ควรดุว่า แต่ควรอดทนสอน หากเด็กทำดีก็มีคำชมเพื่อที่เด็กจะได้มีกำลังใจ

เมื่อลูกฟันหลอเพราะรอฟันแท้ ลูกก็ต้องปรับตัวปรับใจ พ่อแม่ก็ต้องปรับวิธีการเลี้ยงดูเช่นกัน

ควรทำ

• ใช้โอกาสเรื่องฟันที่หลุดไป ทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าลูกโตขึ้นแล้ว ต้องปรับเทคนิคการเลี้ยงและกติกาต่างๆ ลดการช่วยเหลือ และปล่อยให้เด็กทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเองให้มากที่สุด เพื่อฝึกคิด วางแผน ตัดสินใจ และสุดท้ายเด็กต้องหัดยอมรับผลของการกระทำของตนเอง

• การล้อเลียนเด็กในเรื่องฟันหลอ อ่านไม่ออก ตาเหล่ พูดไม่ชัด หูกาง ฯลฯ จะทำให้เด็กเสียความมั่นใจได้ง่ายๆ แต่การให้เด็กมองในมุมที่ต่างออกไปในส่วนที่ดี เช่น ฉลาด แข็งแรง วิ่งเร็ว พูดรู้เรื่อง อดทน เสียสละ ฯลฯ จะทำให้เด็กเรียนรู้จักชีวิตในมุมมองใหม่

• ใช้โอกาสเรื่องฟันที่หลุดไป ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องของความสำคัญของฟัน โดยเฉพาะฟันแท้ที่จะขึ้นใหม่ว่าจะไม่มีอีกแล้ว(นอกจากจะใช้ฟันปลอม) และต้องรักษาไว้ให้คงทนนานที่สุด โดยการดูแลความสะอาด ถนอมการใช้งาน ทำให้คุยไปถึงวิธีการรักษาฟัน

• พ่อแม่ที่ฝึกให้ลูกมีความสามารถหลายด้าน และทำกิจกรรมได้หลายแบบ เด็กจะมั่นใจในตัวเอง และไม่กังวลกับเรื่องของร่างกายที่เปลี่ยนแปลง เพราะมีเรื่องสนุก ต้องคิด ต้องทำอยู่เรื่อยๆ ซึ่งแตกต่างกับเด็กที่เงียบ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แยกตัว อยู่คนเดียว ทำให้มักครุ่นคิดเรื่องของตัวเองซ้ำไปซ้ำมา

• การสอนให้เด็กรู้จักธรรมชาติของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สอนจากลักษณะภายนอกจนให้เรียนรู้จักอวัยวะของร่างกายภายใน เช่น จากเดินไม่ได้มาเป็นเดินได้ จากฟันน้ำนมมาเป็นฟันแท้ จากเด็กที่ไม่มีประจำเดือนจนเป็นสาว ร่างกายเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง มีการทำงานของอวัยวะร่ายกายหลายอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลง

* หัวใจการเลี้ยงดู

การสอนให้ลูกเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นตามวัย

จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 159 มีนาคม 2557 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น