xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายที่เกิดกับฟันเด็ก / Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟันของลูกน้อยเป็นสิ่งที่พึงถนอม แต่บ่อยครั้ง ความเสียหายก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก ทั้งจากอุบัติเหตุ และความซุกซนของหนูน้อย ฟันบางซี่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งแตก บิ่น หรือกระทั่งหัก และหลุด แต่อย่าได้หมดความหวังหรือมัวแต่นั่งสงสารลูก เพราะหากรู้ทันก็สามารถรักษาได้

นพ.เศกสันต์ ศรีมหาราชา กลุ่มงานศัลยศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า อาการฟันบิ่น แตก หัก หรือฟันหลุด ของลูกน้อยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุ หกล้ม ตกเตียง ตกเปล หรือตกจากที่สูง ทำให้ฟันกระแทก ทำให้ฟันหัก แตก หรือกระดูกขากรรไกรหัก แล้วแต่ความรุนแรงเป็นกรณีไป

แล้ววิธีรับมือ เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์นี้จะต้องทำอย่างไร
นพ.เศกสันต์ กล่าวว่า ถ้าเกิดเฉพาะกับฟันจริงๆ ไม่ได้กระทบในส่วนอื่น ก็บูรณะ ปิดให้ดีขึ้น อยู่ที่ระดับการแตก ถ้าฟันบิ่น และมีคม เราก็ฝนให้คมมันหาย เพื่อไม่ให้คมฟันนั้นมันบาด แต่อุบัติเหตุที่เกิดกับฟันทั้งหมดนั้น ขอให้ทำใจว่าโอกาสที่ฟันจะเป็นฟันตาย หรือเป็นหนองที่โพรงประสาท สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ก็ควรจะต้องได้รับการรักษารากฟัน บางกรณีก็ต้องถอนฟันออก ในกรณีที่เป็นฟันน้ำนม

“ส่วนกรณีฟันบิ่นฟันหัก จะมีความคล้ายกัน แม้จะเกิดอุบัติอะไรมา เราก็จะพยายามบูรณะซ่อมแซมและเก็บรักษาไว้ให้อย่างดีถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแตก หัก เราก็รักษารากฟัน ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุกับฟันแท้ เช่น ฟันแตก หรือหัก ควรจะนำมาให้หมอรักษาโดยเร็วที่สุด อย่างน้อยก็ควรอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งถึงสองชั่วโมงหลังเกิดอุบัติเหตุ การรักษาจะทำได้ประสบผลสำเร็จอย่างดี แต่ถ้าช้ากว่านั้นก็อาจจะได้ เพียงแต่อาจจะเกิดการผิดปกติ เช่น ฟันอาจจะต่ำกว่าระดับ หรือยึดเชื่อมกระดูกเป็นชิ้นเดียวกัน”

วิธีการที่จะนำฟันที่แตก หรือหักไปให้หมอรักษา นพ.เศกสันต์ แนะนำว่า ไม่ควรจะนำไปแบบแห้งๆ หรือเช็ดจนแห้ง เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ตัวฟันตาย การยึดติดกลับเข้าไปใหม่จะไม่ดี โอกาสความสำเร็จก็อาจจะมีน้อยลง หรือว่ามีปัญหาหลังจากนั้น มีการละลายตัวของเนื้อเยื่อรอบๆ ราก แล้วจะทำให้รากฟันละลายทีหลังก็มี

“วิธีการก็คือ นำฟันที่หลุดออกไปนั้นแกว่งน้ำทำความสะอาดนิดหน่อย เพื่อให้เศษสิ่งที่ติดอยู่กับฟันหมดไป แล้วอย่าปล่อยให้แห้ง คือ มันจะมีน้ำยาที่เหมาะ แต่คงหาไม่ทัน แต่ถ้าเป็นไปได้ ให้ใส่มาในน้ำนม นมจืดนั่นล่ะ หรือถ้าเป็นฟันหลุด และคุณพ่อคุณแม่สามารถนำฟันกลับใส่เข้าไปในเบ้าฟันเหมือนเดิมได้ แล้วให้เด็กอมฟันนั้นมาหาหมอก็จะช่วยได้ แต่ต้องมั่นใจว่าเด็กจะไม่กลืนเข้าไป จึงต้องพิจารณาจากเด็กด้วยว่าโตพอที่จะรับรู้ว่าไม่ควรกลืนเข้าไป”


เรื่องฟันเป็นเรื่องต้องใส่ใจ เพราะลูกรักจำเป็นต้องใช้ฟันไปอีกหลายสิบปี ดังนั้น หากเกิดกรณีเช่นนี้ ควรปฏิบัติตามขั้นตอน และพาไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 07.00-08.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo


กำลังโหลดความคิดเห็น