ศิลปินสาวชาวอินเดีย ได้ท้าทายจารีตประเพณีและวรรณะ ด้วยการวาดภาพเหตุการณ์บางตอนในพุทธประวัติ
มัลวิกา ราช (Malvika Raj) หญิงสาวผู้ต่อต้านเรื่องชนชั้นวรรณะและธรรมเนียมปฏิบัติ ขณะเดียวกัน เธอก็ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในโลกศิลปะแบบอินเดีย ด้วยการริเริ่มนำประเด็นใหม่มาใช้ในการวาดภาพสไตล์ฮินดู ที่มีมายาวนานหลายร้อยปี นั่นคือ การวาดภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติ รวมทั้งหลักธรรมคำสอน
มัลวิกาได้เรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคการวาดภาพ “มธุพานี” (หรือศิลปะมิถิลา) ซึ่งเป็นศิลปะการวาดรูปในสมัยโบราณที่สืบทอดกันในเหล่าผู้หญิงของหมู่บ้านมิถิลา ในรัฐพิหาร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
มธุพานี มีความหมายว่า “ป่าน้ำผึ้ง” ซึ่งในยุคแรกๆนั้น วาดบนฝาผนังกระท่อมที่เพิ่งฉาบด้วยโคลน โดยใช้สีจากธรรมชาติ ต่อมาจึงวาดลงบนผ้า กระดาษที่ทำด้วยมือ และผืนผ้าใบ ใช้สีอะคริลิคและสีโปสเตอร์ ภาพที่วาดมักเป็นเรื่องมหากาพย์ของฮินดู เช่น รามายณะ และมหาภารตะ เทพเจ้าฮินดู ภาพธรรมชาติ เป็นต้น
การวาดภาพพุทธประวัติครั้งนี้ หญิงสาวได้แรงบันดาลใจจากบิดา ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เธอได้นำภาพที่วาดในสไตล์มธุพานี ไปจัดแสดงที่วิทยาลัยศิลปะปัฏนา เมืองปัฏนา และแกลลอรี่ศิลปะเจฮานเกอร์ ในนครมุมไบ รัฐพิหาร ในระหว่างการจัดแสดงภาพนั้น เธอต้องเผชิญกับคำถามมากมาย ซึ่งเธอเล่าให้ฟังตอนหนึ่งว่า
“ฉันจำได้ถึงเหตุการณ์วันหนึ่งที่วิทยาลัยศิลปะปัฏนา ซึ่งฉันนำภาพวาดไปจัดแสดง มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในงาน เขาไม่ได้ตั้งใจเข้ามาดูภาพ แต่เริ่มพูดจายั่วโทสะ ด้วยการแสดงความคิดเห็นทำนองว่า ทำไมฉันจึงนำศิลปะมธุพานีที่ใช้วาดเทพเจ้าฮินดู มาใช้วาดรูปพระพุทธเจ้า แถมยังแสดงความเห็นที่มีอคติอีกหลายอย่าง”
มัลวิกาเล่าต่อไปว่า “ฉันได้ตอบโต้กลับไปว่า ฉันวาดภาพพุทธประวัติ ด้วยศิลปะมธุพานี เพราะสิ่งแรกที่ฉันนึกถึงคือพระพุทธองค์ที่สถิตอยู่ในใจของฉัน”
ศิลปินสาวเล่าว่า เหตุที่เธอเริ่มสนใจพระพุทธศาสนา เป็นเพราะพ่อของเธอนับถือศาสนาพุทธ “ตอนพวกเราเป็นเด็ก มักได้ยินพ่อเล่าเรื่องราวและคำสอนของพระพุทธองค์อยู่บ่อยๆ เมื่อโตขึ้น ฉันจึงได้เรียนวรรณคดีเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าด้วย”
เส้นทางเดินของศิลปินสาวผู้นี้ เต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะสถานะของเธอคือ “ดาลิต” ซึ่งตามโครงสร้างสังคมชาวฮินดูถือว่าเป็น “จัณฑาล” ซึ่งเป็นชนชั้นต่ำสุดในสังคม โดยมัลวิกาได้รับแรงบันดาลใจจาก ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์ นักปฏิรูปสังคม ผู้เป็นจัณฑาลโดยกำเนิด ดร.อัมเบดการ์ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ต่อต้านการแบ่งแยกชั้นวรรณะอย่างไร้เหตุผล เขาจึงได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ
จากนั้นราว 50 ปีที่ผ่านมา มีชนชั้นจัณฑาลจำนวนนับหลายล้านคนรวมทั้งมัลวิกา ละทิ้งสถานะจัณฑาล หันมานับถือศาสนาพุทธ ตาม ดร.อัมเบดการ์
มัลวิกามีจิตใจแน่วแน่ในการต่อต้านความไม่เท่าเทียมในสังคม และมองการแสดงออกด้านศิลปะอย่างมีอิสระ ว่าเป็นการสร้างพลัง มิใช่การจำกัดวงในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน เธอได้สอนการวาดภาพสไตล์มธุพานีให้กับหญิงสาวชนชั้นจัณฑาล และประกาศว่า
“ฉันเป็นผู้สนับสนุนความเสมอภาคของสิทธิสตรี และฉันสนับสนุนพลังของผู้หญิง แต่ผู้หญิงชั้นจัณฑาลค่อนข้างล้าหลัง ไม่สามารถเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้หญิงอื่นๆในทุกๆก้าวย่างของชีวิต เนื่องจากพวกเธอต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ถึง 3 ด้านด้วยกัน ด้านแรกคือ พวกเธอเป็นจัณฑาล ต่อมาคือ พวกเธอเป็นผู้หญิง และสุดท้ายคือ พวกเธอส่วนใหญ่ไร้การศึกษาและมีฐานะยากจน”
• ประวัติ
มัลวิกา ราช เป็นศิลปิน จิตรกร นักออกแบบแฟชั่น ช่างภาพ และนอกเหนือกว่านี้ เธอคือมนุษย์ที่ดีงามคนหนึ่ง ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสตรีแห่งหนึ่งในเมืองปัฏนา เธอได้เข้าศึกษาต่อที่ NIIFT ในเมืองโมฮาลี จนได้รับปริญญาด้านการออกแบบแฟชั่น
หญิงสาวเคยได้รับรางวัล “นักออกแบบแฟชั่นสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดแห่งปี 2007” หลังจากนั้น เธอได้ทำงานให้กับห้องเสื้อชั้นนำเป็นเวลา 3 ปี กระทั่งทนเสียงเรียกร้องของจิตวิญญาณ ความรักและหลงใหลในศิลปะไม่ไหว เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงาน และเริ่มค้นหาฝันผ่านสีและพู่กันบนผืนผ้าใบ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 159 มีนาคม 2557 โดย มนตรา)