xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไขมันจากปลาอาจช่วยป้องกันโรครูมาตอยด์

ในอดีตมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ไขมันปลามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อหัวใจ แต่ปัจจุบัน นักวิจัยบอกว่า มันอาจช่วยป้องกันโรครูมาตอยด์ได้ด้วย โดยได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องโภชนาการของผู้หญิง 32,000 คน พบว่า คนที่กินไขมันปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเป็นประจำนาน 10 ปี ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ครึ่งหนึ่งของคนที่กินน้อยกว่าหรือไม่กินเลย

นักวิจัยคาดว่า กรดไขมันโอเมก้า-3 ในเนื้อปลาออกฤทธิ์ป้องกันการอักเสบของระบบภูมิคุ้มกันในผู้หญิงที่รับประทานบ่อยๆ อย่างได้ผล

โรครูมาตอยด์เป็นอาการข้ออักเสบเรื้อรัง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายข้อตัวเอง ทำให้ปวดข้อ และจะทำลายเนื่อเยื่อรอบข้อและกระดูก โดยมักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้กินอาหารทะเล เช่น ปลา หอย กุ้ง ปู สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อสุขภาพที่ดี

จัดบ้านให้ถูกสุขลักษณะ ลดโรค”ภูมิแพ้”

นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ถูกสุขลักษณะเพื่อลดโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก

เนื่องจากโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อับทึบ ชื้น มีเชื้อรา หรือฝุ่นละออง จึงควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาด โดยเฉพาะห้องนอน ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและรับแสงสว่างจากธรรมชาติ เพื่อลดจำนวนเชื้อรา หมั่นทำความสะอาดที่นอนอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เพื่อลดการสะสมของเศษผิวหนังตกค้าง ซึ่งจะเป็นอาหารของไรฝุ่น

หากพบว่าบริเวณใดของบ้านมีเชื้อรา เช่น ห้องน้ำ ฝาผนังที่ชื้น ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำผสมคลอรีน ซึ่งหากทำความสะอาดทั่วไปให้ใช้คลอรีน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 แกลลอน ส่วนการฆ่าเชื้อโรคให้ใช้คลอรีน ¾ ถ้วย ต่อน้ำ 1 แกลลอน การดูแลรักษาบ้านให้มีความสะอาดอยู่เสมอ จะช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคจากยุงลาย หนู แมลงสาบ ที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อต่างๆ

ความดันชีพจรสูง เสี่ยงโรคอัลไซเมอร์

มีงานวิจัยชิ้นใหม่บอกว่า คนวัยกลางคนที่มีความดันชีพจรสูง ที่บอกถึงภาวะความดันโลหิตสูงนั้น มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าคนที่มีความดันชีพจรต่ำกว่า

เมโย คลินิก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ความดันชีพจรสูงสามารถใช้วินิจฉัยการทำงานของหัวใจได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนวัยกลางคน ขณะที่สมาคมอัลไซเมอร์ กล่าวว่า การที่หัวใจหรือหลอดเลือดเกิดความเสียหาย รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์

โดยผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยา ซึ่งได้วิเคราะห์กลุ่มตัวอย่าง 177 คน อายุระหว่าง 55-100 ปี ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะความดันชีพจรสูงและโรคอัลไซเมอร์ จะเกิดขึ้นในคนอายุระหว่าง 55-70 ปีเท่านั้น

ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมินเนโซตา ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า สตรีที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเป็นประจำ มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกภายหลังหมดประจำเดือน มากกว่าสตรีอื่นๆในวัยเดียวกัน

ดร.มากิ อินู-ชอย หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า นี่เป็นงานวิจัยครั้งแรกที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเป็นประจำ กับการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งสตรีที่ชอบดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ถึง 78%

ขณะที่งานวิจัยชิ้นอื่นๆระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมากขึ้น ทำให้เป็นโรคอ้วนมากขึ้น และสตรีอ้วนมักมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและอินซูลินสูงกว่าสตรีน้ำหนักปกติ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

“แปรงฟัน” ช่วยรักษาหัวใจได้จริงหรือ?

การศึกษาวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา บอกว่าการมีสุขภาพเหงือกที่ดีนั้น ดีต่อหัวใจ เพราะสุขภาพเหงือกที่สมบูรณ์ ช่วยชะลอการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือด ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบ และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และเสียชีวิต

จากการศึกษาในผู้ใหญ่ 420 คน ตลอดเวลา 3 ปี พบว่า การมีสุขภาพเหงือกดี ช่วยชะลออัตราการสะสมของคราบจุลินทรีย์ที่หลอดเลือดลำคอ ทั้งนี้ โรคเหงือกอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรีย อาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบได้หลายทาง จากการทดลองในสัตว์พบว่า แบคทีเรียอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหลอดเลือดตีบได้

ดังนั้น การทำความสะอาดฟันเป็นประจำทุกวัน และไปพบทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคเหงือกได้

กรมสุขภาพจิตแนะ 5 วิธีเพิ่มฮอร์โมนความสุข

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วิธีที่จะช่วยเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุขให้เกิดขึ้น มีข้อปฏิบัติ 5 ข้อ คือ 1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขทั้ง 3 ตัว ได้แก่ “ซีโรโทนิน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อความสุข ความมั่นคงทางอารมณ์ และช่วยป้องกันโรคซึมเศร้า “เอ็นดอร์ฟิน” เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี ลดความกังวลและความเจ็บปวด และ “โดปามีน” เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกสดชื่น กระฉับกระเฉง 2. รับประทานอาหารจำพวกน้ำตาล ไขมัน และโคเลสเตอรอลในระดับที่พอเหมาะ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารโปรตีนที่มีส่วนประกอบของทริปโตเฟนในปริมาณมาก เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ปลา นม กล้วย ถั่วลิสง จะช่วยเพิ่มการหลั่งของซีโรโทนิน

3. ทำกิจกรรมท่ามกลางแสงแดด อย่างน้อย 20 นาทีในตอนเช้า จะส่งผลให้ร่างกายผลิตสารเมลาโทนิน ที่จะเปลี่ยนเป็นซีโรโทนิน ช่วยในเรื่องการนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ในตอนกลางคืน 4. นวดตัว เป็นพลังจากการสัมผัส ซึ่งมีรายงานวิจัย พบว่า การนวดตัวช่วยเพิ่มซีโรโทนิน ถึง 28% และลดสารคอร์ติโซน ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดได้ถึง 31% และ 5. ลดเครียดและจัดการอารมณ์ที่ทำให้เครียด เช่น ความกังวล ความโกรธ ความกลัว เพื่อช่วยเพิ่มระดับของซีโรโทนิน อาทิ การฝึกหายใจคลายเครียด

"ตราบใดที่ตัวเราสามารถให้ความรักแก่ตนเองและผู้อื่น ยอมรับตัวเราและผู้อื่น ยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบัน สามารถชื่นชม ภาคภูมิใจ สิ่งที่เรามี และสิ่งที่ผู้อื่นมี มีความอ่อนโยน และเมตตาทั้งตัวเราและผู้อื่น มองโลกตามความเป็นจริง มองทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมีแง่ดีงามอยู่เสมอ รวมทั้งมีอารมณ์ขันกับเรื่องรอบตัวบ้าง เราก็จะเป็นสุขได้เช่นกัน" นพ.เจษฎากล่าว

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)





กำลังโหลดความคิดเห็น