xs
xsm
sm
md
lg

5 วิธีเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อพูดถึง “ฮอร์โมน” เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงซีรีส์พันธุ์ไทยชื่อดัง “ฮอร์โมน...วัยว้าวุ่น” แต่สำหรับงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติปี 2556 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1-7 พ.ย.นี้ จะว่าด้วยเรื่องของ “ฮอร์โมนความสุข” แบบล้วนๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “ฮอร์โมนความสุข...สร้างได้ทุกวัย” ซึ่งค่อนข้างตอบโจทย์กับสถานการณ์ทางด้านอารมณ์ของคนไทย ที่พบว่า เคร่งเครียดมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากปัญหาการทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือรวมไปถึงปัญหาการเมืองที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้

แล้วจะดีสักแค่ไหนถ้าตื่นเช้าไม่ต้องเจอกับความทุกข์ ความเคร่งเครียด ชีวิตมีแต่ความสุข ความรู้สึกเชิงบวก และที่สำคัญสามารถสร้างความสุขได้ด้วยตัวเอง...เพียงแค่คิดก็ฟินแล้ว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความสุขเป็นสิ่งที่คนทุกเพศทุกวัยต้องการ แต่อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ มีการศึกษาจำนวนมากที่บ่งชี้ว่า ความสุขนั้นมีความสัมพันธ์กับสมอง เมื่อคนเรามีความสุข สมองซีกซ้าย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล การวิเคราะห์ และการคำนวณจะทำงานมากขึ้น แต่เมื่อมีความรู้สึกเชิงลบหรือมีความทุกข์ สมองซีกขวาซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและศิลปะจะทำงานมากกว่า ดังนั้น คนที่มีสมองซีกซ้ายทำงานมากกว่าซีกขวา จึงมักจะเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม และมีความคิดในเชิงบวก คนที่อยู่รอบข้างก็มักจะรู้สึกถึงความสุขไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากพวกที่สมองซีกขวาทำงานมากกว่า ที่จะพบว่าเป็นคนที่มีความคิดในแง่ร้าย ความจำไม่ดี และมีความรู้สึกในเชิงลบมากกว่าทำให้คนที่อยู่รอบข้างรับรู้ถึงความทุกข์ไปด้วย

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า ความสุขของคนเรายังเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนหรือสารเคมีในสมองด้วย เช่น

โดปามีน เป็นสารสื่อประสาทที่จะหลั่งเมื่อเราเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จ หรือได้รับการตอบสนองตามความต้องการ

ซีโรโทนิน เป็นสารสื่อประสาทอีกชนิดหนึ่งที่หลั่งเมื่อเราเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย หรือรู้สึกมีความสุขสงบ

และ เอ็นดอร์ฟิน หรือสารแห่งความสุข เป็นฮอร์โมนที่หลั่งในขณะที่อารมณ์ดี และมักจะหลั่งออกมา โดยเฉพาะหลังจากออกกำลังกาย อีกทั้ง ยังเป็นสารที่ช่วยลดความเจ็บปวดได้อีกด้วย

การหลั่งของสารทั้ง 3 ชนิดนี้ มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ในขณะที่เรามีความสุข อย่างไรก็ตาม นอกจากฮอร์โมนความสุขแล้ว ร่างกายเรายังสามารถหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์หรือความเครียดได้ เช่น คอร์ติโซน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งเมื่อเรามีความเครียดหรือความกดดันขึ้น ฮอร์โมนชนิดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล ทำให้ความสามารถในการคิดและการจำลดลง ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงเช่นเดียวกัน

คงไม่มีสูตรสำเร็จรูปในการสร้างความสุข แต่สิ่งสำคัญคือ การเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนความคิด การรับรู้และการตัดสินคุณค่าของตัวเราให้เป็นไปตามความเป็นจริง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตที่นำไปสู่ความสุขและความสมดุลได้ไม่ยาก ความสุขในชีวิตจึงไม่ใช่เกิดจากการไขว่คว้าหรือแสวงหาจากสิ่งภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่ตัวเราว่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขมากหรือสุขน้อย ตราบใดที่ตัวเราสามารถให้ความรักแก่ตนเองและผู้อื่น ยอมรับตัวเราและผู้อื่น ยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบัน สามารถชื่นชม ภาคภูมิใจ สิ่งที่เรามี และสิ่งที่ผู้อื่นมี มีความอ่อนโยน และเมตตาทั้งตัวเราและผู้อื่น มองโลกตามความเป็นจริง มองทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ มีแง่ดีงามอยู่เสมอ รวมทั้งมีอารมณ์ขันกับเรื่องรอบตัวบ้าง เราก็จะเป็นสุขได้เช่นกัน

สำหรับวิธีที่จะช่วยเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุขให้เกิดขึ้นนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะข้อปฏิบัติ 5 ข้อ ดังนี้

1.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขทั้ง 3 ตัว ได้แก่ ซีโรโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อความสุข ความมั่นคงทางอารมณ์ และช่วยป้องกันโรคซึมเศร้า เอ็นดอร์ฟิน ที่เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี ลดความกังวลและความเจ็บปวด และโดปามีน ที่เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึก สดชื่น กระฉับกระเฉง

2.รับประทานอาหาร จำพวกน้ำตาล ไขมัน และโคเรสเตอรอลในระดับที่พอเหมาะไม่น้อยเกินไป การรับประทานอาหารประเภทน้ำตาลหรือไขมันในระดับต่ำเกินไปจะทำให้ระดับโดปามีนในร่างกายต่ำไปด้วย การรับประทานกล้วย ธัญพืช สามารถช่วยเพิ่มระดับของโดปามีนได้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารโปรตีนที่มีส่วนประกอบของ ทริปโตเฟน ในปริมาณมาก เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ปลา นม กล้วย ถั่วลิสง จะช่วยเพิ่มการหลั่งของ ซีโรโทนิน

3.ทำกิจกรรมท่ามกลางแสงแดด อย่างน้อย 20 นาทีในตอนเช้า จะส่งผลให้ร่างกายผลิตสารเมลาโทนิน ที่จะเปลี่ยนเป็นซีโรโทนิน ช่วยในเรื่องของการนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ในตอนกลางคืน

4.นวดตัว เป็นพลังจากการสัมผัส ซึ่งมีรายงานวิจัยโดย Touch Research Institute ของ Miami School of Medicine พบว่า การนวดตัวช่วยเพิ่มซีโรโทนิน ถึง 28% และลดสารคอร์ติโซน ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดได้ถึง 31%

และ 5.ลดเครียดและจัดการอารมณ์ที่ทำให้เครียด เช่น ความกังวล ความโกรธ ความกลัว เพื่อช่วยเพิ่มระดับของซีโรโทนิน อาทิ การฝึกหายใจคลายเครียด


กำลังโหลดความคิดเห็น