xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : เตรียมพร้อมรับมือ ก่อน “เป็นลม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาการวิงเวียน หน้ามืด จะเป็นลม ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์ราว 1/3 เคยมีอาการเช่นนี้ แต่การเป็นลม หมดสติ เป็นหนึ่งในเรื่องน่ากลัวที่สุดที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ มันอาจทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการได้รับบาดเจ็บโดยไม่รู้ตัว

มาดูกันว่า จะมีวิธีป้องกันและปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน ตาลาย คล้ายจะเป็นลม

ขั้นแรก การปฏิบัติ

1. รู้ว่าควรทำเช่นไรเมื่อกำลังจะเป็นลม เพราะมันอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ และถ้าคุณไม่รู้วิธีการรับมือ อาจทำให้ตัวเองได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง ดังนั้น เมื่อเริ่มเกิดอาการ ควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย

นั่งลง : หากไม่นั่งลง คุณอาจเสี่ยงที่จะล้มศีรษะแตก เนื่องจากกระแทกกับของแข็งหรือของมีคม

หายใจลึกๆ : เมื่อรู้สึกวิตกกังวล เครียด หรือหายใจเร็วกว่าปกติ จนเกิดอาการหน้ามืด จะเป็นลม ขอให้หายใจเข้าลึกๆช้าๆ ก็จะช่วยให้ดีขึ้นได้ทันที

ร้องขอความช่วยเหลือ : ร้องขอความช่วยเหลือดังๆเท่าที่จะทำได้ จนกว่าจะมีคนเข้ามาช่วย และบอกไปว่า คุณกำลังจะเป็นลม เพื่อเขาจะช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ยกเท้าสูง : หาสถานที่ที่คุณสามารถนอนราบ และยกเท้าสูงกว่าศีรษะ ก็จะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สงบจิตใจ : ลองใช้เทคนิคที่ช่วยให้ใจสงบ ขณะรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม เช่น การทำสมาธิ การสร้างมโนภาพว่าอยู่ในที่ที่ปลอดภัย หรือการสวดมนต์ภาวนา เพื่อบรรเทาอาการ

2. เตรียมพร้อมเมื่อฟื้นคืนสติอีกครั้ง เพราะการเป็นลมเป็นเรื่องน่ากลัว บางคนเมื่อฟื้นขึ้นมา อาจกรีดร้อง รู้สึกแปลกๆ หรือปัสสาวะราด แต่ไม่ต้องตกใจ ขอให้ตั้งสติ และปฏิบัติดังนี้

• นั่งหรือนอนพักสักครู่
• เมื่อรู้สึกดีขึ้น ค่อยๆลุกขึ้นอย่างช้าๆ
• ถ้าอยู่ตามลำพัง พยายามเรียกให้คนช่วย

3. ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเป็นลม จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก

ขั้นที่สอง การป้องกัน

1. รู้สาเหตุ การเข้าใจสาเหตุของอาการวิงเวียนและเป็นลม อาจช่วยให้รู้ช่วงเวลาที่มักจะเกิดอาการ และรู้ว่าควรทำอย่างไร และต่อไปนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นลม

• ภาวะความดันโลหิตต่ำผิดปกติ
• อาการหมดสติชั่วขณะ เมื่อเส้นเลือดขยายตัวและเส้นประสาทสมองเวกัส ลดการทำงานของหัวใจลง
• หัวใจวาย
• ความเครียด
• ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
• ลุกขึ้นเร็วเกินไป
• ขาดน้ำหรือทานอาหารไม่เพียงพอ

2. รู้สิ่งเตือน การรู้ตัวว่ากำลังจะเป็นลม อาจช่วยชีวิตได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ช่วยป้องกันไม่ให้บาดเจ็บ เพราะเมื่อรู้ตัวว่า กำลังจะเป็นลม จะได้รีบเดินไปยังจุดที่ปลอดภัย และขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

มีหลายอาการที่เตือนว่า กำลังจะเป็นลม และหากมีอาการดังต่อไปนี้ในขณะที่ยืนอยู่ ขอให้รีบนั่งลงโดยเร็วที่สุด

• มองเห็นจุดขาวหรือดำหลายๆจุด
• หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ
• รู้สึกร้อนและมีเหงื่ออก
• หน้าซีด
• ท้องปั่นป่วน
• มองเห็นภาพเบลอ ไม่ชัด

3. รู้วิธีป้องกัน คนที่เคยเป็นลม จะรู้ดีว่ามันไม่ใช่เรื่องสนุก ถึงแม้ว่า บางคนอาจเคยเป็นลมแค่ 10 ครั้งในชีวิตก็ตาม ส่วนคนที่เคยเป็นลม และได้เรียนรู้เทคนิคป้องกัน มักไม่ค่อยมีอาการเกิดซ้ำอีก

อาการเป็นลมนั้น สามารถป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ดังนี้

• ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องออกนอกบ้านในวันที่อากาศร้อน อบอ้าว
• รับประทานอาหารให้เพียงพอและถูกหลักโภชนาการ ซึ่งจะไม่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย หรือหน้ามืด วิงเวียน
• เมื่อจะลุกขึ้นจากการนั่งหรือนอน ต้องทำอย่างช้าๆ เพราะการลุกขึ้นทันทีอาจทำให้เสียหลักได้ง่าย ยิ่งถ้ามีที่จับหรือเกาะขณะลุกขึ้น จะช่วยได้มาก
• หลีกเลี่ยงบุหรี่ คาเฟอีน แอลกอฮอล์ เนื่องจากสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบนั้น อาจมีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการเป็นลมได้มากขึ้น
• หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด โดยเฉพาะเมื่อทำให้คุณหายใจเร็วผิดปกติ และเกิดอาการวิตกกังวล ควรฝึกทำใจให้สงบ ซึ่งจะช่วยสยบอารมณ์เหล่านี้ได้

คำแนะนำ

• หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น เพราะแม้น้ำอุ่นจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ก็ทำให้หมดสติได้เช่นกัน
• เมื่อรู้สึกวิงเวียน หรือกำลังจะเป็นลม รีบมองหาสถานที่ปลอดภัยและนั่งลง
• หากเห็นคนที่หน้าซีด ดูไม่ค่อยสบาย และร้องขอความช่วยเหลือ จงช่วยพยุงเขานั่งลง และรีบขอความช่วยเหลือ เพราะเป็นไปได้ที่เขากำลังจะเป็นลม
• บอกคนรอบข้าง เมื่อรู้สึกหน้ามืด วิงเวียน เพื่อเขาจะได้เตรียมตัวช่วยเหลือได้ทัน
• อย่ามองบาดแผลหรือเลือดสด เพราะบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการช็อคและหยุดหายใจ จนหมดสติได้
• หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมาก หรือสถานที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว
• จดบันทึกระยะเวลาที่เป็นลม แจ้งให้ทีมแพทย์ทราบ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย เบญญา)

กำลังโหลดความคิดเห็น