xs
xsm
sm
md
lg

เราจะช่วยกันหยุดวงจรนี้ด้วยกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิมิตร์ เทียนอุดม

สวัสดีครับคุณผู้อ่าน สัปดาห์นี้ผมยังคงเล่าเรื่องราวของการออกหน่วยบริการปรึกษาและตรวจเอชไอวีเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะคิดว่ามีประเด็นน่าสนใจที่อยากหยิบยกมาคุยกันต่อครับ
ในการออกหน่วยทั้ง 4 ครั้งตลอดเดือนกรกฎาคม เราพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด 10 ราย จากผู้มารับบริการทั้งสิ้น 420 ราย อย่างไรก็ตามผมคิดว่าเราไม่ได้แค่ช่วยให้ 10 รายนี้รู้ผลแต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพและเข้าถึงบริการรักษาอย่างทันท่วงที แต่เราได้ช่วยให้คนอย่างน้อย 20 คน ปลอดภัยไปด้วยครับเพราะ 10 คนที่ทราบผลว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีก็จะป้องกันตัวเองกับคู่ และหากคู่ติดเชื้อก็มีแนวโน้มว่าคู่ของเขาก็จะเขารับการรักษาด้วย ไม่เพียงเท่านั้นหาก 10 คู่นี้มีอันต้องเลิกร้างกันไปมีคู่ใหม่ เขาก็จะป้องกันกับคู่ใหม่ นั่นเท่ากับว่าเราได้ช่วยคนอีกหลายคนให้ปลอดภัยจากการรับเชื้อเอชไอวีครับ

ที่ผมพูดแบบนี้ก็เพราะว่าในชีวิตจริงคนเรามีโอกาสเปลี่ยนคู่ได้หลายสาเหตุ ลองคิดเล่นๆ ก็ได้ครับว่าแฟนคนแรก หรือคนที่เรามีเซ็กส์ด้วยคนแรกใช่คนที่เราแต่งงานด้วยหรือเปล่า และกว่าที่เราจะแต่งงาน เรามีคู่และมีเซ็กส์มาแล้วกับคนกี่คน หรือแม้แต่หลังแต่งงานแล้วก็มีโอกาสเลิกราและมีชีวิตคู่ใหม่ได้อีก การเปลี่ยนคู่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในวิถีของคนเราครับ แต่สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นตามมาก็คือการติดเชื้อเอชไอวี

แต่...(อีกที) คนจำนวนมากก็อาจจะไม่ได้คิดว่าคู่ของเรามีเชื้อเอชไอวี หรือบางทีคู่ของเราอาจจะมีเชื้ออยู่แล้วแต่ยังไม่รู้เพราะยังไม่ได้ไปตรวจนั่นเอง และเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันก็มีโอกาสส่งต่อเชื้อไปยังคู่ได้ครับ

ดังนั้น การรู้ผลเลือดเอชไอวีของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะถือเป็นจุดเริ่มที่จะช่วยหยุดวงจรการส่งต่อเอชไอวีได้ เริ่มจาก 1 คนรู้ (ไม่ว่าผลจะเป็นบวกหรือลบก็ตาม) ก็เท่ากับว่าจะมีอีก 1 คนปลอดภัย เพราะการได้รับบริการปรึกษาซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการตรวจเลือดจะทำให้เราประเมินความเสี่ยงและเลือกวิธีป้องกันที่เหมาะกับวิถีทางเพศของเราได้ และถ้ามี 2 คนปลอดภัย ก็เท่ากับว่าจะมีอีก 4 คนปลอดภัยไปด้วยหากมีการเปลี่ยนคู่ใหม่ แล้วลองคิดดูสิครับว่าหากคนอีก 300,000 คน ที่คาดว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วจากการคำนวณทางสถิติของนักวิจัยทราบผลเลือดของตัวเองจะมีคนอีกกี่แสนกี่ล้านคนที่ปลอดภัยไปด้วย

แต่จะรอให้อีก 300,000 คนที่ว่าคิดถึงเรื่องการไปตรวจเอชไอวี หรือการป้องกันตัวเองอาจจะช้าไปครับ เพราะในระหว่างที่คุณกำลังอ่านบทความชิ้นนี้อยู่ 300,000 คน ที่คาดว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วก็ยังคงมีวิถีชีวิตทางเพศ และอาจไม่ป้องกันซึ่งก็จะเป็นการส่งต่อเชื้อไปยังคู่โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อเป็นการหยุดวงจรนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานเชิงรุกให้มากกว่านี้ครับ เช่น หน่วยบริการที่อาจจะถนัดทำงานเชิงรับก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปออกหน่วยบริการปรึกษาและตรวจเอชไอวีนอกสถานที่เป็นระยะๆ เพื่อส่งเสียงให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการรู้ผลเลือดเอชไอวีของตัวเอง นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าภาพงานสุขภาพของประเทศจะต้องทำงานรณรงค์ ประชาสัมพันธ์มากขึ้นและต้องทำแบบต่อเนื่องเพื่อทำให้คนเห็นว่าการตรวจเลือดเอชไอวีเป็นเรื่องปกติเหมือนการไปตรวจสุขภาพประจำปี

งานเชิงรุกเป็นงานที่สำคัญมากนะครับ เพราะถ้าเราทำได้ก็จะช่วยลดปริมาณผู้ป่วยที่จะต้องมารับบริการรักษาและนอนโรงพยาบาล ถ้างานเชิงรุกได้ผล งานเชิงรับก็จะเบาลง และเราก็จะสามารถหยุดวงจรการส่งต่อเอชไอวีนี้ได้

พูดไปพูดมา ผมเห็นเป้าหมาย “Getting to Zero” อยู่ไม่ไกล คุณเริ่มเห็นเหมือนผมไหมครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น