• ทำไมทำผิดกับพระอริยะจึงบาปมาก
ปุจฉา : ทำไมต้องแบ่งแยกด้วยว่า การทำผิดต่อพระอริยะเป็นบาปมากกว่าการทำผิดต่อบุคคลธรรมดา ถ้าเราคิดไม่ดีกับบุคคลที่ปฏิบัติจนมีฌานสูงแล้วจะบาปมากไหม แล้วถ้าสำนึกได้ บาปนั้นจะลดลงหรือไม่ครับ
วิสัชนา :
ก็เหมือนกับเราไปตบหน้าเพื่อนๆ เราที่เป็นผู้หญิงสักเปรี้ยงหนึ่ง ความรู้สึกก็ผิดบาป แต่ก็ยังเฉยๆ แต่ถ้าเมื่อใดที่เราหันไปตบหน้า(ขออภัย)มารดาของเรา เรารู้สึกยังไงล่ะ ผิดไหม เฉยได้ไหม แล้วมันจะจำไปจนวันตายเชียวล่ะคุณ นั่นแหละข้อเปรียบเทียบว่า ทำไมถึงทำผิดบาปกับพระอริยเจ้ากับคนธรรมดาจึงแตกต่างกัน
ทำผิดกับพระอริยเจ้าก็เหมือนกับการตีพ่อตีแม่ ความรู้สึกเราจะเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครบอกเรา แต่เราจะรู้ด้วยตัวเราเอง เหมือนกับเราไปตีคนที่เขาบริสุทธิ์ ทีแรกตอนตีก็ไม่คิดว่าเขาบริสุทธิ์ คิดว่าเขาผิด แต่พอตีไปแล้วความจริงปรากฏว่าเขาบริสุทธิ์ กับการตีโจรที่ไม่บริสุทธิ์ คุณคิดว่าอะไรเป็นบาปมากกว่ากัน
ตีคนบริสุทธิ์เป็นบาปมากกว่าตีโจร ก็เหมือนกับตีพระอริยเจ้ากับตีคนธรรมดา คนธรรมดาก็อาจจะมีผิดมีถูก แต่พระอริยเจ้าไม่มีผิด มีแต่ถูก ความรู้สึกมันบอกตัวคุณเอง ไม่มีใครมาบอกหรอก ไม่มีใครมาแบ่งแยก คุณนั่นแหละเป็นคนแบ่งแยกตัวคุณเอง
• สามีขี้เหล้า
ปุจฉา : ดิฉันแต่งงานมีครอบครัว มีลูกชายหนึ่งคน สามีเป็นคนที่ชอบดื่มเหล้า และไม่มีความรับผิดชอบในครอบครัว เราทะเลาะกันบ่อย ขอให้เขาเลิกเหล้า แต่ก็ไม่เป็นผล เวลาที่เขาเมา ดิฉันก็รู้สึกโมโหขึ้นมา คิดอยากจะฆ่าเขาให้ตาย แล้วก็ฆ่าลูก ฆ่าตัวเองให้ตายกันทั้งครอบครัว ดิฉันไม่รู้จะทำอย่างไรดี ชีวิตครอบครัวจึงจะมีความสุข
วิสัชนา :
สิ่งที่ฉันอยากบอกคุณให้เข้าใจก็คือ คุณไม่ต้องไปฆ่าเขา เขาก็ต้องตาย ไม่ต้องฆ่าตัวเองด้วย จะช้าหรือเร็วก็ต้องตาย และที่สำคัญคุณบอกว่า อยากฆ่าลูกให้ตายตามไปด้วย เรื่องนี้ไม่ถูกนะ เพราะลูกคุณไม่ได้ทำอะไรผิด หน้าที่ของคุณคือต้องดูแลรักษาเขาให้เจริญเติบโต และให้ความสุขทางกายและทางจิตวิญญาณแก่เขา และก็ให้กำลังใจด้วย ทำเช่นนี้เหมือนได้ทำบุญใหญ่ให้สามีและครอบครัว
ความสุขของครอบครัวก็คือความพรั่งพร้อม ระหว่างพ่อ แม่ ลูก และก็เป็นความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ เป็นความเจริญ ถ้าหากทุกคนเข้าใจกัน และหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน มันก็น่าจะอยู่เป็นสุขได้
ฉันคิดว่าพระธรรมเป็นเครื่องป้องกันเหตุเภทภัยเลวร้ายในชีวิตได้ และพระธรรมทำให้เรารู้สึกแกร่งและกล้า พร้อมที่จะเผชิญในทุกสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณก็ควรจะศึกษาขวนขวายแสวงหาพระธรรมมาเป็นเครื่องประดับสติปัญญาและกายวาจาใจ เวลามีทุกข์เดือดร้อนใจอะไรจะได้อาศัยพระธรรมเป็นเครื่องปลดปล่อยความทุกข์นั้น
• ให้เงินขอทาน บุญหรือบาป
ปุจฉา : การที่เราทำทานให้กับคนขอทาน แต่คนขอทานนั้นมาจากกระบวนการของคนชั่ว หรือคนทุจริต เราจะเรียกการทำทานนี้ว่าบุญหรือบาปเจ้าคะ
วิสัชนา :
มันก็ไม่น่าจะเป็นบุญเท่าไหร่หรอกนะ เพราะมันไม่ได้ประกอบไปด้วยกิริยาของบุญ ไม่ได้เป็นกิริยาวัตถุ บุญกิริยาวัตถุต้องประกอบไปด้วย 3 กาล คือ ก่อนทำตั้งใจ ขณะที่ทำเต็มใจ ทำแล้วสบายใจ
คุณทำแล้วสบายใจหรือเปล่า ถ้าไม่สบายก็ไม่น่าจะเป็นบุญ เพราะถ้าสบายใจคุณคงไม่ถามฉัน ก็แสดงว่าคุณก็ไม่สบายใจ เมื่อไม่สบายใจก็คงไม่เป็นบุญเท่าไหร่ อีกอย่างหนึ่งก็คือบุญกิริยาวัตถุ คือ กิริยาที่ทำให้เป็นบุญ กิริยาบวกใจบวกวัตถุ กิริยาพร้อมที่จะทำ มีวัตถุพร้อมที่จะทำ แล้วลงมือทำนั่นเป็นบุญสมบูรณ์
แต่ถ้ากิริยามี ใจมี แต่วัตถุไม่มี ก็อาจจะไม่ดี เพราะไม่มีวัตถุทำบุญ รวมๆก็คือต้องอยู่ที่ตัวคุณด้วย ถ้าคุณทำแล้วคุณไม่ทุกข์ใจก็อาจจะได้บุญ แต่มันไม่ดีเพราะคุณกำลังทำให้โจรมีอายุมากขึ้น ไปต่อตีนให้โจร ให้ช่องกับคนชั่วเบียดบังประโยชน์คนอื่น มันก็เป็นเรื่องไม่ดีเหมือนกัน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)