xs
xsm
sm
md
lg

นานาสารธรรม : รู้จัก “กฐินทาน” ก่อนไปทอดกฐิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การทำบุญถวายผ้ากฐินที่เรียกว่า “กฐินทาน” เกิดขึ้นและมีการปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสแล้ว รับผ้าที่ประชาชนถวายหลังจากออกพรรษา ซึ่งเป็นฤดูจีวรกาล คือช่วงระยะเวลาการทำจีวรของพระภิกษุ เพื่อเปลี่ยนผ้านุ่งผ้าห่มใหม่ (แทนผ้าที่เก่ามากหรือขาดชำรุด) โดยเริ่มทำในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๑๒ ดังนั้น กฐินทานจึงมีกำหนดระยะเวลาในการถวายพระสงฆ์วัดต่างๆ ในช่วงออกพรรษาแล้วเพียง ๒๙ วัน

ความสำคัญพิเศษของกฐินทาน

กฐินทาน มีความสำคัญพิเศษหรือข้อจำกัดพิเศษที่พอจำแนกกล่าวได้ ดังนี้

๑. จำกัดวัตถุ คือสิ่งของที่จะทำกฐินทานนั้น ต้องใช้จีวร สังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร หรือจะเป็นไตรจีวร ๑ ไตร หรือใช้ผ้าขาวที่มีปริมาณพอสำหรับทำจีวร สังฆาฏิ หรือสบง ก็ได้

๒. จำกัดภิกษุ คือพระภิกษุที่กำหนดเป็นสงฆ์ซึ่งจะรับกฐินทานนั้น ต้องมีจำนวนอย่างน้อย ๕ รูป หรือมี ๕ รูป ขึ้นไป และจะต้องได้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอาวาสวัดเดียวกันนั้นด้วย

๓. จำกัดกาล คือกฐินทานมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ประมาณ ๑ เดือน

๔. จำกัดเขตสังฆกรรม คือกฐินเป็นสังฆกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของสงฆ์ โดยเมื่อทำพิธีอุปโลกน์ต่อสงฆ์เพื่อขอความเห็นชอบ และถวายผ้ากฐินนั้นแก่พระภิกษุรูปหนึ่งแล้ว ก็จะต้องสวดญัตติทุติยกรรมวาจาให้ผ้ากฐินในท่ามกลางสงฆ์ ซึ่งต้องทำภายในเขตสีมาหรือในโบสถ์ให้สำเร็จถูกต้องตามพระวินัยอีกครั้งหนึ่ง

องค์กฐินและบริวารกฐิน

กฐินทานมีผ้ากฐิน ที่เรียกว่า กฐินทุสฺสํ แปลว่า ผ้าเพื่อกฐิน ซึ่งกำหนดเป็นองค์กฐิน ถ้าขาดวัตถุทานที่สำคัญนี้ ก็ไม่เป็นกฐินทาน อันที่จริงกฐินทานใช้ผ้าเพียงผืนเดียว ซึ่งการทอดกฐินในสมัยนี้นิยมใช้ไตรจีวรสำเร็จรูป แต่พระท่านจะใช้กรานกฐินหรือทำผ้ากฐินเพียงผืนเดียวเท่านั้น ส่วนที่เหลือจัดเป็นผ้าบริวารกฐินทั้งสิ้น

ในการจัดกฐินทานนั้น เมื่อเจ้าภาพตั้งเครื่องกฐินขึ้นแล้ว ก็นิยมเรียกว่า “ตั้งองค์กฐิน” บ้าง “กองบุญกฐิน” บ้าง ถ้ามีการสมโภช ก็เรียกว่า “สมโภชองค์กฐิน” หรือ “ฉลองสมโภชกองบุญกฐิน” ถ้าเป็นพระกฐินพระราชทาน เรียกว่า “สมโภชองค์พระกฐินพระราชทาน”

บริวารกฐินที่นิยมจัดมาแต่โบราณมีหลายอย่างที่หลักๆ เช่น ผ้าห่มพระประธาน (ถวายบูชาองค์พระพุทธปฏิมาประธาน) เทียนพระปาติโมกข์ (สำหรับจุดบูชาการสวดพระปาติโมกข์) และของสำหรับถวายแก่พระภิกษุที่ครองกฐิน มีบาตร เข็มเย็บผ้า มีดโกน กระบอกกรองน้ำ หมอน มุ้ง เสื่อ ร่ม รองเท้า สำรับอาหารคาวหวาน เป็นต้น ตลอดทั้งมีของถวายไว้เป็นส่วนกลางในวัด เช่น ถ้วย ชาม หม้อ จาน เป็นต้น

อันสิ่งของเหล่านี้มิได้เป็นข้อกำหนดว่า จะต้องจัดให้มีในกฐินทานเสมอไป แต่จะลดหรือเพิ่มเติมอะไรก็ได้ที่เจ้าภาพมีศรัทธา และเห็นว่าสมควรแก่พระภิกษุสามเณร หรือสำหรับเป็นของใช้สอยในวัดวาอารามนั้นๆ

ประเภทของการทอดกฐิน

การทอดกฐินที่ปฏิบัติมาในประเทศไทย พอจำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ พระกฐินหลวง และกฐินราษฎร์

พระกฐินหลวง

พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และองค์ศาสนูปถัมภก โดยได้ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดมาด้วยประการต่างๆ เมื่อถึงเทศกาลกฐินก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามต่างๆ ทั้งวัดในเมืองหลวงและในภูมิภาคต่างจังหวัด จึงได้เรียกว่า “พระกฐินหลวง” สืบต่อมา โดยมิได้กำหนดว่าจะเป็นพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินทานแล้ว จัดเป็นพระกฐินหลวงทั้งสิ้น

ปัจจุบันจำแนกพระกฐินหลวงได้ ๓ ประเภท คือ พระกฐินหลวงที่กำหนดเป็นพระราชพิธี พระกฐินต้น และพระกฐินพระราชทาน

๑. พระกฐินหลวงที่กำหนดเป็นพระราชพิธี ได้แก่ พระกฐินทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามต่างๆ จำนวน ๑๖ พระอาราม โดยมีหมายกำหนดการเป็นพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินประจำปี และรวมถึงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็นผู้แทนพระองค์ในการถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามหลวงที่สำคัญๆ ดังกล่าวแล้วนี้ด้วย

๒. พระกฐินต้น คือพระกฐินทาน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราษฎร์ และมิได้มีหมายกำหนดการเป็นการพระราชพิธีหรือเป็นทางการแต่ประการใด หากแต่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ เรียกว่า พระกฐินต้น

๓. พระกฐินพระราชทาน คือพระกฐินทาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้แก่หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน หรือประชาชน ที่ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินเพื่ออัญเชิญไปถวายพระสงฆ์ ณ พระอารามหลวงต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคจังหวัดต่างๆ (เว้นใน ๑๖ พระอาราม)

กฐินราษฎร์

กฐินราษฎร์ คือกฐินทานที่ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาจัดกฐินไปทอด ณ วัดราษฎร์ต่างๆ ซึ่งพอจำแนกกล่าวได้เป็น ๓ ประเภท ตามลักษณะการจัดกฐิน ได้แก่ มหากฐิน จุลกฐิน และกฐินตกค้าง

๑. มหากฐิน ที่เรียกว่า มหากฐิน มิได้หมายความว่า การจัดกฐินทานนั้น เจ้าภาพได้ใช้ผ้าจีวรผืนใหญ่เป็นพิเศษกว่าจีวรที่พระภิกษุใช้อยู่ทั่วไป หรือใช้จีวรหลายผืนทำเป็นผ้ากฐินทานขึ้นแต่อย่างใด แต่นิยมกันว่าเจ้าภาพได้จัดกฐินกองใหญ่ขึ้น คือนอกจากมีผ้ากฐินแล้ว ยังได้จัดสิ่งของอื่นๆ รวมทั้งจตุปัจจัยที่ถือเป็นบริวารกฐินเป็นจำนวนมาก ทั้งสำหรับถวายพระสงฆ์ สามเณร และสำหรับใช้สอยเป็นส่วนกลางในวัด เป็นต้น การจัดกฐินทานลักษณะเช่นนี้นิยมเรียกว่า มหากฐิน

มหากฐินอีกชนิดหนึ่งเป็นลักษณะกฐินสามัคคี ซึ่งมีเจ้าภาพหลายคนร่วมกันจัดกฐินขึ้น มิใช่เจ้าภาพเดียว หรือคณะญาติพี่น้องเดียว โดยนิยมตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้น เพื่อดำเนินงานในการจัดกฐินให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และกฐินสามัคคีนี้ถือว่า ทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพในกองบุญกฐินทานนั้น ใครมีปัจจัยน้อยหรือมีมากก็สามารถบริจาคทำบุญได้ตามศรัทธาตามควรแก่กำลังแห่งตน ซึ่งก่อให้เกิดศรัทธาเบิกบานใจต่อบุญกฐินทานในพระพุทธศาสนา

๒. จุลกฐิน ได้แก่ กฐินทานที่มีเวลาจัดเตรียมการน้อย กระชั้นชิดด้วยเวลา และมีสิ่งของบริวารกฐินน้อยด้วย โดยเฉพาะการจัดผ้ากฐินนั้นต้องทำด้วยความเร่งรีบ ในบางถิ่นจึงเรียกว่า กฐินแล่น(วิ่ง) เริ่มจากทำฝ้ายหรือไหมให้เป็นเส้นด้าย กรอ ปั่น ทอ เป็นผืนผ้า แล้วกะ ตัดเย็บทำให้สำเร็จเป็นจีวรหรือสบง ซักย้อมตากให้แห้งและนำไปทอด ณ วัดนั้น ซึ่งถ้ายังไม่สำเร็จเป็นจีวร เมื่อพระสงฆ์รับแล้วก็จะต้องดำเนินการทำพิธี “กฐินัตถารกิจ” ให้สำเร็จก่อนรุ่งอรุณวันใหม่

๓. กฐินตกค้าง กฐินตกค้างหรือกฐินตก ได้แก่ กฐินทานที่นำไปถวาย ณ วัดตกค้าง(ไม่มีเจ้าภาพจองกฐิน) โดยในสมัยโบราณเมื่อใกล้จะหมดเขตกฐิน ประชาชนรู้ว่าวัดใดกฐินตกค้าง ก็จะเชิญชวนญาติมิตรเพื่อนบ้านผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันจัดกฐินขึ้น พร้อมด้วยเครื่องบริวารกฐิน และนำไปทอด ณ วัดนั้น

ในการทอดกฐินตกค้างนั้น เจ้าภาพจะไม่แจ้งทางวัดให้ได้ทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวเตรียมการให้พร้อมแต่ประการใด โดยเมื่อขบวนกฐินไปถึงวัดก็จะแจ้งการทอดกฐินกับทางวัดแบบจู่โจม จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กฐินโจร

(จากหนังสือระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)

อานิสงส์สำหรับผู้ทอดกฐินทาน

๑. ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักชอบใจของชนหมู่มาก (คนจำนวนมาก)
๒. สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓. กิตติศัพท์ชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้ให้ทานย่อมขจรไปไกล
๔. ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากคุณธรรมของคฤหัสถ์
๕. ผู้ให้ทานเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)


กำลังโหลดความคิดเห็น