xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดอาหารเช้า เสี่ยงสูงโรคหลอดเลือดหัวใจ

อาหารเช้าอาจเป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุดของวัน เพราะงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า บรรดาผู้ชายที่อดอาหารเช้าเป็นประจำ มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดอาการหัวใจวาย หรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

ทีมนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม เรื่องความถี่ในการรับประทานอาหาร และติดตามปัญหาสุขภาพที่ตามมา เป็นเวลา 16 ปี (ปี 1992-2008) ในผู้ชาย 26,902 คน อายุระหว่าง 45-82 ปี พบว่า

ผู้ชายที่อดอาหารเช้า มีความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจวายหรือเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ สูงกว่าคนที่รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำ ถึง 27% ซึ่งผู้ชายที่อดอาหารเช้ามักมีอายุน้อยกว่า สูบบุหรี่ ยังไม่แต่งงาน ทำงานประจำ ออกกำลังกายน้อยกว่า และดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า

“การอดอาหารเช้า อาจนำไปสู่ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง อาทิ ความอ้วน ความดันโลหิตสูง ระดับโคเลสเตอรอลสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดภาวะหัวใจวายในเวลาต่อมา ดังนั้น อย่าอดอาหารเช้า เพราะการกินอาหารเช้าช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ” ดร.เลียห์ อี คาฮิลล์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

คนอาเซียนจะป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม เพิ่มมากขึ้น

นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผู้แทนจากองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์สถานการณ์โรคมะเร็งที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนว่า ในอีก 17 ปีข้างหน้าหรือปี 2573 ในภูมิภาคอาเซียนจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 30 โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย รับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งลำไส้ทั้งสิ้น

ดังนั้น สถาบันมะเร็งฯ จึงเตรียมที่จะเริ่มโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในปี 2557

ร่างกายเริ่มเสื่อมเมื่ออายุ 30 แต่สามารถชะลอความแก่ได้

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า ปัจจุบันเวชศาสตร์ชะลอวัยกำลังได้รับความสนใจกันมากขึ้น เนื่องจากคนอายุยืนยาวขึ้น และต้องการให้ร่างกายแข็งแรงหรือดูอ่อนกว่าวัย ซึ่งตามทฤษฎีทางการแพทย์นั้น พบว่า ร่างกายคนเราจะเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป และจะแก่ลงทุกปี ปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ เราไม่สามารถหยุดความแก่ได้ แต่สามารถชะลอความแก่ให้ช้าลงได้ 2 ทางคือ 1. ลักษณะภายนอก คือ ดูแล้วไม่แก่ และ 2.ลักษณะภายใน คือ ร่างกายไม่แก่

การชะลอให้ร่างกายไม่แก่จากภายใน ได้แก่ อวัยวะ กล้ามเนื้อ สมอง ตับ ไต ในปัจจุบันสามารถทำได้จากการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคที่ดี ส่วนภายนอก เช่น รักษาผิวพรรณ รอยเหี่ยวย่น อาจอาศัยการแพทย์ช่วย เช่น ผ่าตัดศัลยกรมตกแต่ง เป็นต้น เป็นการชะลอแก่ได้ในระยะสั้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นหนุ่มสาวขึ้น หรือคงความเป็นหนุ่มสาวอย่างถาวรได้

วิธีการดูแลตนเองให้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และมีหลักฐานว่า สามารถชะลอความแก่ให้เกิดขึ้นช้าลงได้ คือ การออกกำลังกายและรับประทานอาหารครบ 5 หมู่และหลากหลาย เพิ่มการรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง

หมอย้ำ..รักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์ ยังทำได้เฉพาะ 5 โรค

ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยร่วมกับสมาคมวิชาชีพด้านอายุรศาสตร์เฉพาะทางของประเทศไทยด้านโรคระบบประสาทวิทยา-โรคผิวหนัง-หัวใจ-ไต-โลหิต เรื่องแนวทางการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถพัฒนาจนทำให้มีการรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งเป็นที่ยอมรับเพียง 5 โรคเท่านั้น คือ 1. โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว 2. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 3. โรคไขกระดูกฝ่อ 4. โรคมะเร็งมัลติเพิล มัยอิโรมา 5. โรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซีเมีย

แต่ยังไม่มีผลการศึกษาอื่นที่ยืนยันชัดเจนว่า โรคอื่นๆสามารถนำสเต็มเซลล์มารักษาได้ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ถูกชวนเชื่อหรือชักชวนว่า มีแพทย์สามารถรักษาโรคสมองเสื่อม โรคหัวใจ ไต หรืออวัยวะอื่นๆ ได้ด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยที่ได้รับสเต็มเซลล์เหล่านี้ เพราะจะเกิดอาการแพ้ เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะมีการนำสเต็มเซลล์มาใช้อย่างไม่ถูกต้อง

วัยรุ่นยุคใหม่ติดไลน์ ส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิต

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะโปรแกรมยอดนิยม เช่น แอพพลิเคชั่นไลน์ เด็กวัยรุ่นปัจจุบันนิยมเล่นกันมาก จนอาจทำให้สูญเสียการใช้ชีวิตประจำวันของวัยเด็กที่ควรจะเป็น เช่น พัฒนาการเรียนรู้เรื่องปฏิสัมพันธ์ การวางตัว ชีวิตในห้องเรียน การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มพัฒนาการที่สำคัญของวัยรุ่น การเล่นจนติดเป็นนิสัยจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่แข็งกระด้าง เพราะใช้ชีวิตทางการสื่อสารทางตัวหนังสือ หรือใช้ภาพการ์ตูนสะท้อนภาวะอารมณ์แทนที่พฤติกรรมจริงที่มีโอกาสแต่ไม่ได้กระทำ

ขณะนี้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้เปิดให้บริการปรึกษาแก่เด็กและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานติดโทรศัพท์มือถือ หรือติดเกมส์ โดยให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ 0-2248-8990 สำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑล(ในเวลาราชการ) หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั่วประเทศ

ถ้าไม่มีเวลา.. ก็ออกกำลังกายแบบสะสมได้

ข่าวดีสำหรับผู้ที่คิดว่าตนเองไม่มีเวลาออกกำลังกาย เพราะนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า มีการทำการศึกษาวิจัยว่า การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องออกครั้งเดียวเป็นเวลานาน แต่สามารถออกกำลังกายสะสมใน 1 วันได้ อาจจะเดินขึ้นบันได 1 ครั้ง 10 นาที แล้วทำกิจกรรมอื่นที่เป็นการออกกำลังกาย และเมื่อรวมเวลาแล้วควรให้ได้ตามที่กำหนดคือ 30 นาทีต่อวัน และต้องทำให้ได้อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์

การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายสุขภาพดี ลดอัตราเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ อย่างไรก็ตาม ต้องประกอบกับการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการด้วย คือ ใน 1 จานแบ่งเป็น 4 ส่วน ต้องรับประทานผัก 2 ส่วน หรือครึ่งจาน แป้ง 1 ส่วน และโปรตีน 1 ส่วน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย ธาราทิพย์)




กำลังโหลดความคิดเห็น