xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ทำ “สังฆทาน” แบบไหน ได้บุญมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พูดถึง “สังฆทาน” เรื่องนี้เกี่ยวกับพระนางปชาบดีโคตมี เพราะว่าคราวหนึ่งพระนางปชาบดีโคตมีได้ทำจีวรไปถวายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับ ให้นำจีวรไปถวายสงฆ์ พระองค์ตรัสว่า ถ้าถวายสงฆ์แล้วก็เท่ากับเป็นการได้บูชาพระผู้มีพระภาคเอง และเป็นการบูชาพระสงฆ์ด้วย

พระนางปชาบดีโคตมีทูลขอร้องถึง 3 ครั้ง พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิเสธทั้ง 3 ครั้ง ทรงบอกให้นำไปถวายพระสงฆ์ อย่าถวายพระองค์เลย ถ้าได้ถวายสงฆ์ ก็เป็นการถวายพระองค์ด้วย และเป็นการถวายสงฆ์ด้วย

ร้อนถึงพระอานนท์ซึ่งทนไม่ไหว ได้ทูลขอร้องพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงรับจีวรที่พระนางปชาบดีโคตมีนำมาถวาย แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงรับ ทั้งๆที่พระอานนท์ก็พยายามทูลให้เห็นคุณของพระนางว่ามีอุปการะมาก เป็นผู้บำรุงเลี้ยงดูพระผู้มีพระภาคเจ้ามาตั้งแต่พระชนนีสวรรคต ทรงอยู่ในความคุ้มครองดูแลของพระนางมาโดยตลอด แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยังไม่ทรงรับอยู่นั่นเอง และทรงแสดงปาฏิบุคลิกทาน 14 อย่าง ได้แก่

1. ทานที่ถวายแก่พระพุทธเจ้า
2. ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
3. ถวายแก่ผู้เป็นพระอรหันต์
4. ถวายแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตผล
5. ถวายแก่ผู้เป็นพระอนาคามี
6. ถวายแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุพระอนาคามี
7. ถวายแก่ผู้เป็นพระสกทาคามี
8. ถวายแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุสกทาคามี
9. ถวายแก่พระโสดาบัน
10. ถวายแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุโสดาปัตติผล
11. ทานที่ให้แก่บุคคลภายนอกพุทธศาสนา ซึ่งปราศจากกามราคะ
12. ทานที่ให้แก่ปุถุชนผู้มีศีล
13. ทานที่ให้แก่ปุถุชนผู้ทุศีล
14. ทานที่ให้แก่สัตว์เดรัจฉาน

แล้วในที่สุดพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อย่างไรๆ ก็สู้สังฆทานไม่ได้ ปาฏิบุคลิกทานให้แก่ใครก็ตาม สู้สังฆทานไม่ได้ โดยพระพุทธพจน์ที่ว่า

“ทานที่เจาะจง เรากล่าวว่าเป็นปาฏิบุคลิกทาน ปาฏิบุคลิกทานใดๆจะมีผลเท่าสังฆทานไม่ได้เลย”

พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคคงจะทรงดำริว่า พระองค์เองมีพระชนม์ไปได้ไม่นานเท่าไรก็ต้องปรินิพพาน แต่สงฆ์จะดำรงอยู่นานตราบเท่าที่ศาสนายังอยู่ และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ยำเกรงในสงฆ์ ก็เลยแนะนำให้ถวายเป็นการสงฆ์ คือให้ถวายแก่สงฆ์ ถือว่าได้ถวายแก่พระองค์ด้วย

มีปัญหาหนึ่งที่ถกเถียงกันอยู่เสมอว่า สังฆทานกี่รูปกันแน่ การให้สังฆทานต้องเป็นพระสงฆ์ 4 รูปเสมอไปหรือ หรือว่ารูปเดียวก็ได้

คำตอบคือ ถวายแก่สงฆ์กี่รูปก็ได้ ถ้าได้มาจากสงฆ์หรือเป็นการสงฆ์ อย่างเช่นพระมาบิณฑบาตเช้าๆ เราไม่ได้เจาะจงบุคคล ใครผ่านมาที่บ้านก็ใส่ นี่เป็นสังฆทานแท้ รูปเดียวก็เป็น หรือไปนิมนต์พระที่วัด บอกว่านิมนต์พระ 1 รูปไปฉันอาหารที่บ้าน แล้วทางวัดจะส่งพระรูปไหนไปก็แล้วแต่ นั่นก็เป็นสังฆทาน เพราะได้รับอนุมัติจากสงฆ์ มีพระปัจเจกบุคคลไปรับ แต่รับในนามของสงฆ์ สงฆ์เป็นผู้จัด

คล้ายกับเราให้อะไรแก่ส่วนรวม ให้แก่โรงเรียน สมมติเราให้นาฬิกาแก่โรงเรียน เป็นนาฬิกาเรือนใหญ่ และโรงเรียนส่งคนเป็นตัวแทนของโรงเรียนมารับ เราก็ไม่ได้ให้แก่บุคคลนั้น เราให้แก่โรงเรียน แต่มีปัจเจกบุคคลคนหนึ่งเป็นตัวแทนไปรับ นั่นก็ชื่อว่าเป็นการให้แก่โรงเรียน ไม่ใช่ให้แก่บุคคล

เพราะฉะนั้น สรุปว่า การทำสังฆทานนี้ไม่จำกัดจำนวนพระ เท่าไรก็ได้ แต่ให้ตั้งใจแน่วแน่ว่าไม่ได้เจาะจงบุคคล ไม่เจาะจงพระเท่านั้น ก็เป็นสังฆทาน

(จากหนังสือ สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่เพื่อความถูกต้อง)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย อ.วศิน อินทสระ นักวิชาการศาสนา)



กำลังโหลดความคิดเห็น