xs
xsm
sm
md
lg

คนดังมีดี : ‘นางมารร้าย’ ที่โลกเรียกว่า ‘แม่’ “แอน” จินดารัตน์ เจริญชัยชนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารการเมืองอย่างเข้มข้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นแฟนรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” คงไม่มีใครไม่รู้จัก “แอน” จินดารัตน์ เจริญชัยชนะ” พิธีกรขาประจำผู้ดำเนินรายการดังกล่าว

ในเชิงการเมือง ไม่มีใครสงสัยในความเข้มข้นจริงจังของแอน ที่ดูเหมือนจะมอบหัวใจให้กับการอุทิศตนเพื่อความถูกต้องของบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม ในเชิงการบ้านการเรือน แอนก็ไม่ได้ละเลยแต่อย่างใด ในฐานะคุณแม่ลูกสอง พิธีกรชื่อดัง ยังคงครองบทบาทคุณแม่ลูกสองได้แบบไม่ขาดตกบกพร่อง

ในวันที่เดือนสิงหาคมหวนมาอีกวาระ เรานัดพบกับ “ดอกไม้เหล็ก” อีกคนหนึ่งแห่งสนามการเมือง แต่สนทนาถึงเรื่องความเป็นแม่และการเลี้ยงลูก คำพูดหนึ่งซึ่งติดอยู่ในหูเราไม่จางหาย เธอบอกว่า “แม่คือนางมารร้ายของทุกๆบ้าน” แต่เป็นมารอย่างไร บรรทัดถัดไปมีคำตอบ...

เข้าใจ – ใช้เหตุผล และต้องโตไปพร้อมกับลูก

“วิธีการเลี้ยงลูก แอนเอาหลักมาจากพ่อแม่ตัวเองค่ะ” คุณแม่ลูกสองยิ้มแซมบนใบหน้า “พ่อแม่ของแอน เลี้ยงแอนมาในแบบที่เรียกว่า เลี้ยงอย่างเข้าใจ ไม่ได้บังคับ ให้คิดเอง ใช้เหตุและผล เวลาดุก็ใช้เหตุผลว่าเราทำผิดเพราะอะไร ทำไมถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ และเราควรจะทำอะไร”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ่อแม่หลายคนเผลอใจใช้ความคิดของตนเป็นที่ตั้ง และบ่อยครั้ง ก็เอาความคาดหวังของตนเองไปวางตั้งไว้บนบ่าของลูก ซึ่งสำหรับคุณแม่พิธีกรชื่อดัง มองต่างไปอีกแบบ

“เราไม่ได้คาดหวังว่า เขาจะต้องเรียนจบอะไร หรือจบไปแล้วจะต้องประกอบอาชีพอะไร เราหวังแค่ว่า ช่วงวัยที่เขาเรียนหนังสือ เขาต้องเรียนอย่างมีความสุข เรามีความเชื่อนะว่า ถ้าเขามีความสุข เขาทำอะไรก็จะสำเร็จ

พ่อแม่ของแอนก็เลี้ยงแอนมาในแบบที่ให้เราได้เรียนหนังสืออย่างมีความสุข ไม่ได้เน้นหรือบังคับว่าลูกจะต้องเรียนวิชาการเยอะๆ จะต้องสอบให้ได้ที่หนึ่ง จะต้องนู่นต้องนี่ ไม่เคยอยู่ในสมอง แค่รู้ว่าอะไรเหมาะกับเขา เขาทำแล้วแฮปปี้ แอนให้เขาทำทุกอย่างที่เขาอยากทำ”

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร วันวัยช่วงหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะก่อปัญหาให้กับแม่จำนวนไม่น้อยก็คือ ตอนที่ลูกๆ ย่างเข้าสู่วัยรุ่น และสำหรับคุณแม่พิธีกร ก็กำลังอยู่ในห้วงเวลาแบบนั้นเช่นกัน เพราะหนึ่งในสองคน อายุย่างเข้าวัยรุ่น “เริ่มเยอะ เริ่มเข้าใจยาก เริ่มมีโลกส่วนตัว เริ่มคิด ขี้ใจน้อย”

“เราต้องทำใจเยอะเลย เมื่อวันหนึ่ง จากที่เค้าเคยเป็นเด็กที่เราสามารถจับนั่งตรงไหนก็นั่งตรงนั้น แล้วเล่นอะไรก็เล่นได้เป็นชั่วโมง เขาจะไม่มารบกวนคุณแม่เวลาทำงานเลย แล้วเวลาเราบอกเราแนะอะไร เขาจะไม่เคยมีเงื่อนไข จะบอกง่าย เข้าใจง่าย มีเหตุผล แต่พอเริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มมีความหงุดหงิด งุ่นง่าน อารมณ์เสีย เราก็ต้องปรับตัวเอง ปรับความรู้สึกของตัวเองว่า เออ.. ลูกเราเริ่มโตเป็นวัยรุ่นแล้ว

แอนเข้าใจนะว่า บางครอบครัว พ่อแม่ทำงานมากจนลืมสังเกตพฤติกรรมของลูก ลืมคิดไปว่าลูกอายุเท่าไหร่แล้ว ย่างเข้าสู่วัยไหน แต่ยังเลี้ยงดูเขา หรือมีทัศนคติต่อเขาเหมือนเดิม มันจะมีปัญหา แต่ถ้าเราสังเกต พยายามยอมรับเขา แอนว่าเวลาพูดคุยกับเขามันจะง่ายขึ้น เราจะปรับอารมณ์ของตัวเราได้ด้วย ไม่งั้นเราจะโมโห”

นั่นหมายความว่า ขณะที่ลูกๆ กำลังเติบโตไปเรื่อยๆ แต่พ่อแม่หลายคนยังคง “อยู่กับที่”

“เรายังมองเขาเป็นเด็กเล็กเหมือนเดิมตลอดเวลาไม่ได้ แต่ครอบครัวแอนอาจจะดีอยู่อย่าง คือเราอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ กลับบ้านก็จะมีคุณน้าคุณตาคุณยาย ลูกเขาก็จะชอบคุยกับน้าซึ่งอายุไม่เยอะมาก เขาคุยกันเหมือนเพื่อน

ส่วนเราก็จะไม่ได้เจอลูกๆ ทั้งวันเหมือนกับคุณตาคุณยายหรือน้าๆ เราก็จะพยายามแลกเปลี่ยนกับน้ากับตากับยาย ถามว่าลูกของเรามีพฤติกรรมอย่างไรที่น้าๆ เขารู้สึกว่าไม่ได้แล้วนะ เกินไปแล้วนะ แอนก็จะฟัง

และที่สำคัญ น้าๆ เขาก็จะไม่ดุ แต่จะแสดงออกให้เห็นว่ามันเกินขอบเขตแล้วนะลูก หนูจะมาเหวี่ยงหรืออารมณ์เสียหงุดหงิดใส่น้าไม่ได้ น้าเขาก็จะมาเล่าให้เราฟัง เราก็จะไปคุยกับลูก อธิบายเหตุผลให้เขาฟัง อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ลูกคนโตเขาจะรู้สึกแบบเหมือนกับว่า เราไม่ได้รักเขา เขาบอก ทีน้องทำกับเขา คุณแม่ไม่เคยดุเลย เราก็ยิ้ม

สมัยแอนยังเด็กๆ แอนก็เคยเห็นว่า ถ้ามีลูกคนไหนพูดกับพ่อแม่ว่า รักลูกไม่เท่ากัน จะโดนพ่อแม่ตวาดใส่ แต่พอลูกพูดกับเราแบบนี้ เราก็ยิ้มและหัวเราะ แล้วก็บอกว่าไม่หรอก หนูลองทบทวนดู เวลาหนูโดนดุแล้วหนูโกรธ หนูจะคิดแต่เรื่องร้ายๆ ว่าแม่ดุกับตัวเอง แม่รักน้องมากกว่า ทุกคนรักน้องมากกว่า.. แต่ไม่จริง

หนูลองนั่งคิดทบทวน เผลอๆ หนูจะได้อะไรมากกว่าน้องเยอะ เพราะน้องยังเด็ก น้องไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไรตั้งหลายอย่าง หนูโตกว่าน้องตั้งห้าปี หนูรับรู้อะไรตั้งหลายเรื่อง อย่างแม่ดุหนู หนูจะรับรู้ว่าอะไรได้ไม่ได้ ส่วนน้อง แม่ดุไป บางทีน้องก็อาจจะไม่จำ แม่ก็จะใช้กลวิธีแบบอื่น ไม่เหมือนกับหนู เราก็อธิบายให้ฟัง เขาก็โอเคมาก ร้องไห้เลยนะ เราก็ถามว่าที่แม่อธิบายหนูเข้าใจมั้ย เขาก็พยักหน้าแล้วเขาก็ดีขึ้น คือเปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่งเลย

คือต้องใจเย็นน่ะ บางทีก็หงุดหงิดนะ ทำไมลูกเป็นแบบนี้ แต่เราก็พยายามเข้าใจเขา อธิบายให้ฟังด้วยความใจเย็น”

อย่าให้เกิด “ช่องว่าง” ระหว่างแม่กับลูก

เพราะโลกนี้ไม่ได้มีแค่พ่อกับแม่และลูกๆ เพียงเท่านั้น ยิ่งคืนวันที่ลูกโตขึ้น ย่อมพบเจอสังคมใหม่ เพื่อนฝูงแบบใหม่ๆ แม่ทุกคนย่อมกังวลใจ กลัวว่าจะลูกจะเถลไถลไปในทางไม่ดี แบบที่เห็นกันทั่วไปในสังคม ความกังวลแบบนั้นมันครอบคลุมไปทั่วทุกหลังคาเรือนที่พ่อแม่มีลูก

แล้วใต้ชายคาบ้านของคุณแม่จินดารัตน์ จัดการอย่างไรกับความกังวลใจนั้น

“แอนเคยคุยกับเรื่องนี้กับแฟนว่า ตอนที่ลูกเราโตขึ้นแล้ว เราคาดเดาไม่ถูกเลยว่า มันจะเป็นอย่างไร แล้วแฟนแอนก็พูดมาคำหนึ่ง ซึ่งวันนี้เราก็ได้เห็นแล้ว เขาบอกว่าไม่ต้องกังวลเยอะ ให้คิดถึงตอนเราเด็กๆ พ่อแม่จะบอกจะชี้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี อะไรดีอะไรชั่ว เราก็สอนลูกแบบนั้น ให้เขาแยกแยะได้ และโตมาเขาก็จะแยกแยะเป็น แล้วคำแนะนำที่เรามีให้เขา มันจะเป็นเกราะป้องกันเขา ไม่ทำให้เขาต้องไปขวนขวายหาความรักจากข้างนอกหรือของที่รู้ว่ามันไม่ดี

แอนคิดว่าแอนรู้นิสัยของลูกดี แต่เราก็ไม่ได้วางใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอะไรมันก็เกิดขึ้นได้ แต่เราคิดว่าวิธีนี้ มันได้ผลนะ พอเขาโตมา เขาแยกแยะได้ว่าอะไรผิดชอบชั่วดี แล้วเขาก็จะมักจะมาเล่าให้เราฟังว่า เพื่อนคนนั้นทำอย่างนั้น เพื่อนคนนี้ทำอย่างนี้

อย่างเร็วๆนี้ก็มีกรณีทะเลาะกัน จริงๆ เขาไม่ได้ทะเลาะเองหรอก แต่เพื่อนสองคนเขาทะเลาะกันแล้วลูกเราก็ไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งเพราะคิดว่าถูก เราก็ถามเขาว่า แล้วหนูรู้สึกอย่างไร เขาก็บอก หนูก็เสียใจนะแม่ เพราะหนูรู้สึกว่าคำพูดนั้นมันแรง เราก็บอกว่า ใช่.. ถ้าแม่เป็นเพื่อนของหนู แม่ก็คงรับไม่ได้เหมือนกัน

เราก็ถามกลับไปว่า แล้วหนูจะทำยังไง เขาก็บอกว่า พรุ่งนี้หนูจะไปขอโทษเพื่อน และถ้าเจอคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อน หนูจะเข้าไปขอโทษคุณพ่อคุณแม่เขาด้วย อันนี้คือเราไม่ได้แนะนำนะ แต่เราอยากจะลองทดสอบดูว่า ลูกจะตัดสินใจกับสถานการณ์แบบนี้ยังไง

มันได้ผลนะสำหรับเด็กๆ เราก็สอนให้เขาแยกแยะ เช่น การมองสี อันไหนขาว อันไหนดำ หรืออันไหนเทา แยกแยะให้ถูก ไม่ใช่ว่าขาวมันเป็นเทาได้ หรือดำมันเป็นเทาได้ คือบ้านเราจะค่อนข้างตรง พูดกันแบบตรงไปตรงมา แล้วใช้เหตุผลกับเขา ไม่ใช้อารมณ์กับลูกๆ”

ด้วยวิถีสังคมยุคปัจจุบัน อาจทำให้พ่อแม่หลายคนไม่ได้อยู่กับลูก หรือใช้เวลากับลูกไม่เพียงพอ มันจึงนำไปสู่ช่องว่างระหว่างแม่กับลูก ซึ่งจุดนี้จินดารัตน์มองว่า เป็นเรื่องน่ากลัวอยู่เหมือนกัน

“มันทำให้เกิดหลุมดำ แล้วพอยิ่งลูกโต เรายิ่งห่างเขา ไม่ได้คลุกคลีกับเขา ไม่ได้สังเกตพฤติกรรมเขา ไม่ได้เรียนรู้วิธีคิดและความรู้สึกของเขา นับวันมันจะยิ่งห่างขึ้น..ห่างขึ้น.. ห่างจนวันหนึ่งเราอาจจะคุยกับลูกไม่รู้เรื่อง นี่อันตรายมาก

เพราะฉะนั้น เกราะป้องกันของเขามันจะบางลง.. บางลง.. จนกระทั่งเขารู้สึกว่า เขาไม่ต้องการมันอีกต่อไปแล้ว เขาต้องการแค่เพื่อน เพราะเพื่อนคุยอะไรแล้วก็ไม่เห็นขัดเขาเลย ชวนกันไปเฮฮาปาร์ตี้ ไม่เห็นมีใครมาบ่นมาด่ามาว่าอะไร อันนี้อันตราย

ปัญหาคือ ครอบครัวทุกวันนี้มันเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่แอนโชคดีหน่อยที่บ้านเราอยู่ติดกับบ้านคุณแม่ คุณตาคุณยายรักหลาน แล้วก็เลี้ยงดูหลานอย่างดี ส่วนน้าก็ไม่มีลูก น้าก็ทุ่มเทให้กับหลานเต็มที่ ลูกของเราก็เลยไม่รู้สึกขาด เขาคุยกับแม่ไม่ได้ในอารมณ์นี้ เขาก็ไปคุยกับน้าของเขา เขาจะรู้สึกว่า น้าเป็นเพื่อนมากกว่าเรา

แต่ลูกเราไม่ได้มีความลับอะไรนะ เพียงแต่บางที เขาก็จะไปถามน้าว่า น้า.. หนูจะทำยังไงดี แม่จะดุมั้ย กับเรื่องบางเรื่อง น้าเขาก็จะบอกว่า น้าว่าแม่ไม่ดุหรอก แต่หนูต้องบอกเหตุผลกับแม่นะ

คือลูกเขาจะกลัวแอนที่สุด เพราะแอนดุที่สุดในบ้าน ส่วนคนอื่นก็จะตามใจบ้างอะไรบ้าง อย่างคุณแม่ของแอนจะบอกว่า ดุลูกอะไรกันนัก แต่เราก็บอกว่า ไม่ได้หรอกคุณยาย ที่บ้านน่ะมีแต่คนตามใจ คือไม่ได้ตามใจจนเหลิงนะ เพียงแต่จะพูดด้วยเหตุผล แต่บางเรื่องเราเห็นว่าต้องดุ ดุเพื่อให้เขาจำว่าไม่ได้ก็คือไม่ได้ เราก็จะทำบทบาทนั้น จนบางทีเขาอาจจะรู้สึกว่า แม่ดุจัง อะไรอย่างนี้

แต่เวลาอารมณ์ดีๆแล้ว เราก็จะถามลูกว่า แม่ดุเกินไปมั้ย แม่เป็นแม่ที่ดุหรือเปล่า เขาก็จะบอก “ไม่ค่ะ” เราก็ถามต่อ “จริงนะ หนูพูดจริงนะ” เขาก็จะบอก “จริงค่ะ เพราะหนูรู้ว่าที่แม่ดุ แม่มีเหตุผล” คือเราจะคอยเช็คตลอดเวลา”

จะเป็น ‘นางมารร้าย’ ที่หวังดี หรือแม่แสนดีที่รังแกลูก

“แม่นี่เหมือนนางมารร้ายทุกบ้านนั่นแหละค่ะ” พิธีกรชื่อดังกล่าวแล้วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี “คือขี้บ่น จู้จี้จุกจิก ส่วนคุณพ่อจะดูเป็นเทพบุตร ไม่บ่น แต่บ้านแอนจะดีอย่างก็คือ เราจะไม่มีดับเบิ้ลสแตนดาร์ด อย่างเวลาแอนดุลูก แฟนแอนจะไม่ยุ่งเลย แต่ว่าเวลาที่แอนดุลูกจบ แฟนก็จะสอนสำทับอีกทีหนึ่ง มันก็เลยไม่เกิดความรู้สึกแบบว่า รักพ่อมากกว่าแม่ หรือรักแม่มากกว่าพ่อ แม่ดุแม่น่ารำคาญ

เพราะว่าเราก็จะคอยบอกเขาว่า ลูกเข้าใจแม่ใช่ไหมที่แม่ดุ เขาก็บอก “เข้าใจ เพราะหนูผิด” อย่างนี้เป็นต้น แอนว่าแอนมาถูกทางแล้วนะ เหมือนกับที่พ่อแม่เคยสอนเรา”

ก่อนจะมาเป็นแม่ จินดารัตน์เคยเป็นลูกมาก่อน และสิ่งต่างๆ ที่แม่บอกแม่สอน ก็ถูกผ่องถ่ายมาสู่ตัวเธอ และเมื่อนึกถึงคืนวันเก่าๆ เหล่านั้น ก็มีแต่ความรู้สึกขอบคุณสำหรับทุกๆอย่างที่แม่ให้

“แม่แอนเป็นซูเปอร์มัมเลยนะ เลี้ยงลูกสาวสี่คน ทำทุกอย่าง ทำงานบ้าน ทำงานของตัวเอง แล้วก็ยังมีธุรกิจทำเสื้อผ้า เราก็มานั่งนึกนะว่า เฮ้ย.. ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราจะทำหน้าที่ได้ดีเท่ากับแม่ของเราหรือเปล่า แอนมีคำตอบลึกๆในใจนะว่า คงไม่ได้

คุณแม่ของแอนจะดุหน่อย ชอบบ่น แต่พอมาถึงวันนี้ เรารู้สึกว่าเราขอบคุณแม่นะ เหมือนกับที่เราเคยพูดกับลูกว่า วันหนึ่ง หนูจะขอบคุณแม่ เรารู้ว่า ที่แม่บังคับขู่เข็ญว่า หนูต้องทำนั่นทำนี่นะลูก ทำงานบ้านนะ ล้างจานนะ ทำกับข้าวนะ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจแม่ว่า เฮ้ย.. เราก็มีคนใช้นะ ตอนนั้นน่ะ แต่เราต้องรีดเสื้อผ้านักเรียนเองตั้งแต่ ป.4

คุณแม่บอกต้องรีดเสื้อผ้าเอง เราก็ว่า พี่คนใช้ก็มี ทำไมไม่ให้เขารีดล่ะ แม่บอกว่า ถ้าแต่งงานแล้วใครจะทำให้ ถ้าฐานะไม่ดีพอที่จะมีเงินจ้างคนรับใช้ แล้วเราจะทำยังไง เราต้องหัดทำไว้นะลูก เราต้องทำเอง

แอนกับพี่สาวต้องรีดเสื้อผ้าเองตั้งแต่ ป.4 ซักเสื้อผ้าเองอะไรเอง เราก็โกรธแม่นะว่า อะไรว้า.. มีคนใช้แต่ไม่ให้เขาทำ แล้วจ้างเขามาทำไม มันเกิดเป็นคำถาม แต่แม่ก็พยายามอธิบายให้เราฟังว่า มันเป็นยังไง แล้วเราก็ทำตามแม่บอก จนเป็นความเคยชิน

พอมาถึงวันนี้ เรามานึกย้อนหลัง เรารู้สึกขอบคุณแม่มากๆ คือต้องบอกว่า เขามอบทุกอย่างให้เรา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งดีๆ ทั้งนั้นเลย เขามองเห็นอนาคตว่า ลูกจะต้องเจออะไรบ้าง คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ต้องใจแข็งนะ เพราะอย่างทุกวันนี้ คนที่รักลูกมากๆ จะประเคนให้ลูกทุกอย่าง ไม่อยากให้ลูกลำบาก อยากให้ลูกสบาย อยากให้ลูกยิ้ม อยากให้ลูกหัวเราะ แต่ความอยากทั้งหลายนั้น มันคือดาบสองคม มียาพิษปนไปด้วย

ถ้าคุณมีฐานะพอที่จะประเคนให้ลูก ทำให้ลูกทุกอย่าง หรือแม้แต่ฐานะไม่ดีพอ แต่ก็ทำให้ลูกทุกอย่าง ไม่ให้ลูกได้เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง โตขึ้นจะเหมือนเรารังแกเขา แล้วคนที่จะกลุ้มใจที่สุดก็คือเรา เพราะว่าลูกจะมีปัญหาในการดำเนินชีวิต แล้วเราย้อนกลับมาไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราต้องใจแข็ง บางทีเราเจ็บปวดและสงสารลูกนะ แต่เราต้องทำ เช่นบางครั้ง เราอยากให้ของบางอย่างกับลูก แต่เราก็ต้องแกล้งไม่ให้ เพราะเป็นการฝึกเขา ถ้ารักเขาหวังดีกับเขา กลั้นใจนิดนึง อย่าใจอ่อน

ถ้ารักลูก ต้องไม่รังแกลูก ด้วยความรักที่มากเกินขอบเขต เพราะไม่เช่นนั้น จะเกิดเหตุการณ์ตามคำกล่าว “พ่อแม่รังแกฉัน” พิธีกรชื่อดังกล่าวส่งท้าย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา)





กำลังโหลดความคิดเห็น