xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : 7 สัญญาณเตือน คุณอาจเป็นโรคร้าย!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่า ตัวเองเริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงมาเยือน เพราะอาการของโรคบางโรคในเบื้องต้นนั้น มักไม่แสดงออกอย่างเด่นชัด เช่น ปวดหัวตัวร้อนเล็กๆน้อยๆ ซึ่งดูเหมือนเป็นอาการธรรมดาๆ กินยาแก้ปวดหัวก็หาย ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ หรือท้องเสียบ่อยๆ ท้องผูกนานๆ เป็นต้น

แต่การไม่เคยสังเกตสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น และปล่อยปละละเลยจนอาการของโรคกำเริบ จึงค่อยไปพบแพทย์นั้น บางครั้งก็สายเกินไปที่จะเยียวยารักษาให้หายได้

เพราะฉะนั้น จึงควรหันมาใส่ใจสุขภาพตนเอง ด้วยการลองสังเกตสัญญาณเตือนความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ร่างกายของเราแสดงออกมาในหลากหลายรูปแบบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. น้ำหนักลดไม่มีสาเหตุ

การที่น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ได้ออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก หรือไม่ทราบสาเหตุนั้น ฟังดูน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่า ร่างกายของเรากำลังมีปัญหาสุขภาพแน่ๆ และหากน้ำหนักตัวลดถึง 10% ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุโดยด่วน

เพราะตัวการที่ทำให้น้ำหนักลดลง อาจเกิดจากโรคต่างๆ อาทิ ไฮเปอร์ไทรอยด์(ไทรอยด์เป็นพิษ) เบาหวาน ซึมเศร้า โรคตับ มะเร็ง หรือสภาวะผิดปกติที่ขัดขวางระบบดูดซึมสารอาหาร

2. มีไข้สูงหรือมีไข้ตลอดเวลา


เมื่อเป็นไข้ ไม่จำเป็นต้องตกใจ เพราะนั่นหมายถึงร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค แต่อย่างไรก็ตาม หากมีไข้เกิน 3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อเช็คอาการ

เนื่องจากการมีไข้นานติดต่อกันหลายวัน อาจเป็นสัญญาณว่า มีการติดเชื้อซ่อนเร้นอยู่ในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ จนถึงวัณโรค และในบางกรณี โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ก็เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีไข้สูงตลอดเวลา รวมถึงการทานยาบางชนิด ก็ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นด้วย

โปรดจำไว้ว่า เมื่อมีไข้สูง อุณหภูมิร่างกายเกิน 39.4 องศาเซลเซียส ควรไปพบแพทย์ในทันที

3. หายใจติดขัด

อาการหายใจติดขัดหรือหายใจไม่ออก ซึ่งรุนแรงกว่าการหายใจไม่ออก เนื่องจากคัดจมูกหรือเหนื่อยเพราะออกแรงมากนั้น อาจชี้ให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่ซ่อนอยู่ และหากการหายใจติดขัดแบบที่ต้องอ้าปากหายใจหอบ หรือหายใจลำบากมีเสียงฟืดฟาด รวมถึงเมื่อนอนราบและหายใจไม่ออก ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่จำต้องต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หายใจไม่ออก อาจเกิดจากโรคเกี่ยวกับปอดเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หอบหืด ปอดบวม เส้นเลือดอุดตันในปอด รวมถึงโรคหัวใจและปอด อีกทั้งอาการหายใจติดขัดอาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดการตื่นตกใจ เครียดอย่างรุนแรงจนหัวใจเต้นแรง เหงื่อออก และอาการทางร่างกายอื่นๆ

4. ขับถ่ายผิดปกติ


อาการขับถ่ายที่ถือเป็นปกติของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป เช่น บางคนถ่ายทุก 2 วัน ในขณะที่บางคนถ่ายทุกวัน แต่ควรปรึกษาแพทย์เมื่อสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น อุจจาระมีสีดำหรือมีเลือดปน ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง หรือปวดท้องอยากถ่ายในทันที

การเปลี่ยนแปลงนิสัยในการขับถ่าย อาจเป็นสัญญาณชี้ว่า กำลังติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในอาหาร เช่น แคมพิโลแบคเตอร์ (Campylobacter), ซัลโมเนลลา (Salmonella) หรือติดเชื้อปรสิต นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุจากลำไส้อักเสบ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย

5. คิดสับสนหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไป


หากมีความรู้สึกสับสนเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่ มีปัญหาเรื่องสมาธิและความจำ พฤติกรรมหรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น ก้าวร้าว ซึมเศร้า ฯลฯ เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จงอย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์

เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดและพฤติกรรม อาจมีสาเหตุจากปัญหาทางกาย เช่น การติดเชื้อ ภาวะโลหิตจาง น้ำตาลในเลือดต่ำ ร่างกายขาดน้ำ หรือปัญหาด้านจิตใจ รวมถึงยาบางชนิดที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

6. อิ่มเร็วกว่าปกติ

เมื่อรู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติเป็นประจำ หรือกินน้อยกว่าธรรมดาก็รู้สึกอิ่ม ควรปรึกษาแพทย์ เพราะความรู้สึกเช่นนี้ มักมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม อาเจียน ตัวบวม มีไข้ และน้ำหนักตัวลดหรือเพิ่ม ร่วมอยู่ด้วย ขอให้เล่าอาการที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดให้แพทย์ฟัง เพื่อการวินิจฉัยและหาทางรักษาได้อย่างถูกต้อง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติ อาจเกิดจากโรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้อักเสบ และในบางราย อาจเกิดจากโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น

7. มองเห็นแสงแฟลชหรือสิ่งรบกวน


การมองเห็นจุดสว่าง แสงแฟลช หรือรู้สึกมองไม่ชัด มีสิ่งแปลกปลอมรบกวนการมองเห็น บางครั้งเป็นสิ่งที่แสดงถึงอาการไมเกรน

แต่ในบางกรณี การมองเห็นแสงแฟลชหรือฟ้าแลบในทันทีนั้น เกิดจากจอรับภาพของลูกนัยน์ตาฉีกขาด จึงควรไปพบจักษุแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษา ก่อนที่จะสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิต

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย มนตรา)







กำลังโหลดความคิดเห็น