• สวธ.จัดทำแสตมป์ชุดพิเศษ "อัคราภิรักษศิลปิน" เฉลิมพระเกียรติ "พระราชินี"
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ร่วมกับ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต จัดทำไปรษณียากรชุดพิเศษมหามงคล “อัคราภิรักษศิลปิน” เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2555 นับเป็นสุดยอดงานศิลป์บนดวงตราไปรษณียากร ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ และเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในฐานะพระองค์ทรงเป็น “ศิลปินยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ”
โดยได้อัญเชิญพระสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่าน จากฝีมือการวาดของนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2543 จำนวน 6 ภาพ มาออกแบบเป็นตราไปรษณียากร “อัคราภิรักษศิลปิน” เป็นชุดดวงตราไปรษณียากรไทย ลำดับที่ 999 พร้อมอัญเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ มาประดิษฐานที่ด้านบนของแผ่นตราไปรษณียากร
อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า สวธ. ได้กำหนดรูปแบบการจำหน่ายตราไปรษณียากร “อัคราภิรักษศิลปิน” ออกเป็น 2 ชุด ได้แก่ 1. บัตรตราไปรษณียากรที่ระลึก (ชุดเล็ก) ราคาจำหน่ายชุดละ 600 บาท จำนวน 190,000 ชุด 2.สมุดภาพเฉลิมพระเกียรติ (ชุดใหญ่) ราคาจำหน่าย 3,600 บาท จำนวน 10,000 ชุด โดยจะเริ่มเปิดจองพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 3 สิงหาคม 2556 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขา
อนึ่ง คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ถวายพระราชสมัญญา “อัคราภิรักษศิลปิน” (อัก-คะ-รา-พิ-รัก-สิน-ละ-ปิน) แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555
คำว่า “อัคร” หมายถึง ยิ่งใหญ่ เป็นเลิศ เป็นยอด คำว่า “อภิรักษ์” หมายความว่า ระวัง รักษา ป้องกัน ปกป้อง พระราชสมัญญา “อัคราภิรักษศิลปิน” มีความหมายว่า “ศิลปินยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ” ทั้งนี้ เพื่อร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระปรีชาสามารถล้ำเลิศ ในงานประณีตศิลป์ทุกแขนง ทรงตระหนักในคุณค่าความงามของศิลปะ และทรงทุ่มเทพระกำลังทั้งปวงในการทำนุบำรุงงานศิลปะไว้เป็นสมบัติศิลป์แห่งแผ่นดินไทย
• กทม.ร่วมกับมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช จัดงาน “12 สิงหาพระบรมราชินีนาถ”
นางอุดมพร พัฒนโกวิท ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 81 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาต ให้จัดงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา “12 สิงหาพระบรมราชินีนาถ” ระหว่างวันที่ 8–13 สิงหาคม ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ พิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชและสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า, กิจกรรมเดินเฉลิมพระเกียรติ, พิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพร, พิธีถวายพระพรชัยมงคลของศาสนาต่างๆ, การแสดงมหกรรมดุริยางค์จากสถานศึกษา, พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์, พิธีถวายเครื่องราชสักการะ, จุดเทียนชัยถวายพระพรและถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมงานและร่วมกิจกรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณโดยพร้อมเพรียงกัน
• ถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นแม่และครูแห่งแผ่นดิน” แด่ ‘พระราชินี’
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอเพื่อขอพระราชทานน้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นแม่และครูแห่งแผ่นดิน” แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ปวงชนชาวไทย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยอุตสาหะ ในการที่จะเป็นที่พึ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ที่ทรงเห็นว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยขจัดความไม่รู้ และความด้อยโอกาสให้ลดน้อยลง
ทรงเห็นว่า การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยพัฒนาชีวิต สังคม และประเทศชาติ ทรงเป็น "ครู" ที่ดีของพระราชโอรสและพระราชธิดา และทรงเป็น “ครู” ของพสกนิกรชาวไทย ทรงสงเคราะห์ประชาชนด้านการศึกษานานัปการ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นครูของผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ทรงสอนหนังสือแก่ราษฎรด้วยพระองค์เองในโอกาสที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร ทรงสอดแทรกความรู้ทางพุทธศาสนา จริยศึกษา และสุขศึกษา ตลอดจนความรักชาติ รักแผ่นดินถิ่นกำเนิดของตนด้วย
พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษาเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ทั้งในประเทศและนานาประเทศ พระองค์มีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันบริสุทธิ์ มิได้ทรงเลือกที่รักมักที่ชังแก่ผู้ใด กลุ่มใด ทรงมีแต่ “ให้” อันเป็นคุณลักษณะเด่นแห่งความเป็นครู จึงทรงเป็น “ครู” เป็น “สิริ” เป็น “ศรี” แผ่นดินไทยโดยแท้
• ปชช.โหวตให้ “วัดพนัญเชิง” ติดอันดับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ที่ท่องเที่ยวไทยยุคเก่าโบราณ
นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ เว็บไซต์ 7 วันเดอร์ไทยแลนด์ ดอท คอม (www.7wondersthailland.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวแปลกใหม่ มหัศจรรย์ ทั่วไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทประกอบด้วย ที่เที่ยวเก่า โบราณสถานและวัตถุ ที่เที่ยวยุคใหม่ ทันสมัย และที่เที่ยวธรรมชาติ
โดยเว็บไซต์ดังกล่าวเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมโหวตสถานที่ต่างๆเป็นประจำทุกปี สำหรับผลโหวต 7 มหัศจรรย์ที่เที่ยวไทย ครั้งที่ 6 ประจำปี 2556 ในหมวดของสิ่งมหัศจรรย์ที่ท่องเที่ยวไทยยุคเก่าโบราณนั้น วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันดับ 1 พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง อันดับ 2 และสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อันดับ 3
ส่วน 7 มหัศจรรย์ที่ท่องเที่ยวไทยนั้น อันดับ 1 น้ำตกทีลอซู จังหวัดตาก อันดับ 2 อุทยานแห่งชาติทางทะเล หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา และอันดับ 3 วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อนึ่ง วัดพนัญเชิงมีพระพุทธรูปสำคัญซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปมาแต่โบราณกาล คือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดพนัญเชิง
• กรมศิลป์ดัน “วัดสุทัศน์-วัดราชนัดดาราม” ขึ้นมรดกโลก
นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลป์มีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมจะเสนอขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เป็นมรดกโลกในอนาคต อีก 8 แห่ง ได้แก่ 1. สถาปัตยกรรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 2. วัดสุทัศน์เทพวรารามและเสาชิงช้า กทม. 3.วัดราชนัดดารามและพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่อง กทม. 4. แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแหล่งวัฒนธรรมของ จ.น่าน 5. เส้นทางวัฒนธรรมไชยาถึงไทรบุรี (เคดาห์) 6. เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย 7. แหล่งวัฒนธรรมล้านนา และ 8. เส้นทางรถไฟสายมรณะ จังหวัดราชบุรี ถึงกาญจนบุรี โดยทั้งหมดกำลังจัดทำข้อมูลอยู่ และจะต้องผ่านความเห็นชอบของชุมชนแต่ละพื้นที่ ก่อนจะเสนอแหล่งมรดกสู่บัญชีรายชื่อดังกล่าว
• วธ. เตรียมบูรณะเกาะเกร็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจังหวัดนนทบุรี และรับฟังโครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว โดยจะพัฒนาปรับภูมิทัศน์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของโบราณสถานสำคัญรอบเกาะเกร็ด จำนวน 5 แห่ง ใช้งบประมาณ 22 ล้านบาท ได้แก่ 1. วัดเสาธงทอง 2. วัดบางจาก 3. วัดแสงสิริธรรม 4. วัดฉิมพลี 5. วัดกลางเกร็ด
วัดเหล่านี้เป็นวัดที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมเกาะเกร็ดเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในโครงการท่องเที่ยวทางน้ำไหว้พระ 9 วัดของทางจังหวัดนนทบุรี จึงเป็นสิ่งที่ดีที่จะได้เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
• โพธิคยาวิชชาลัยจัดโครงการส่งพระสงฆ์ ศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึกที่แดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จัดปฐมนิเทศเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ โดยมีพระธรรมสุธี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล นายอภัย จันทนจุลกะ ประธานที่ปรึกษาสถาบันฯ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พระอาจารย์ และพระธรรมทูตกว่า 50 รูปเข้าร่วมงาน ณ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด
โครงการส่งพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล เป็นโครงการที่ทางสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ดำเนินการเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 มีคณะสงฆ์จาก 5 ประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวน 33 รูป ได้แก่ ประเทศไทย 26 รูป กัมพูชา 3 รูป ลาว 3 รูป และเวียดนาม 2 รูป ในหลักสูตรพุทธภูมิศึกษา โดยการนำของพระราชรัตนรังษี ผู้อำนวยการหลักสูตรสถาบันฯ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)