xs
xsm
sm
md
lg

มีใครรู้จัก “ดีกู” (Dico) สุดยอดนักเตะโลกบ้าง / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ในปี 1969 ตอนที่ผมอายุเพียง 10 ขวบ ยังเป็นนักสะสมดวงตราไปรษณียากร หรือ สแต็มพ์ จำได้ดีว่า มีสแต็มพ์ที่ออกมาเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่ เปเล่ ( Pele ) นักฟุตบอลชื่อดังในยุคนั้นทำประตูที่ 1,000 สมัยนั้นหาซื้อได้ไม่ยาก ถ้าจำไม่ผิดผมซื้อมาจากร้านขายเครื่องเขียนข้างบ้านในราคาเพียงดวงละ 10 บาทเท่านั้น ซึ่งนอกจาก บราซิว บ้านเกิดของเขา ยังมีชาติอื่นๆ อีกไม่น้อยที่ชื่นชมฝีเท้าของนักเตะเจ้าของฉายา “ ไข่มุกดำ ” ทำการผลิตสแต็มพ์อิริยาบถต่างๆ ของหมอนี่ออกจำหน่ายในประเทศตนอีกด้วย

วันนี้เผอิญเป็นวันครบรอบวันเกิดของ เอ็ดซง อารังเต๊ช ดู นัสซีเม็งตู ( Edson Arantes do Nascimento ) หรือ เปเล่ อดีตสุดยอดกองหน้าทีมชาติบราซิว จากสโมสรซังตุส ( Santos FC ) ซึ่งความจริงในใบเกิดบันทึกไว้ว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1940 แต่เจ้าตัวเป็นคนยืนยันเองว่าเขาเกิดวันที่ 23 ไม่ใช่ 21 โดยเขาถูกตั้งชื่อตอนเกิดว่า เอดีซง ( Edison ) อันนี้ ดงดิโญ ( Dondinho ) คุณพ่อของเขาซึ่งขณะนั้นเป็นนักเตะอาชีพสังกัดสโมสร อั๊ตเลตีโก มีไนโร ( Clube Atletico Mineiro ) ตั้งใจตั้งชื่อตาม โทมัส แอลวา เอดีเซิ่น ( Thomas Alva Edison ) ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟชาวอเมริกานั่นเอง แม้ว่าภายหลังจะตัดสินใจถอดตัว “ i ” ออกจากชื่อ แต่ฝ่ายทะเบียนยังทำผิด มันจึงยังเป็น Edison อยู่อย่างนั้น

ตอนเด็กๆ คนในครอบครัวจะเรียกหมอนี่ด้วยชื่อเล่นว่า ดีกู ( Dico ) แต่ตอนอยู่ที่โรงเรียนเคยถูกเพื่อนๆล้อเลียนที่ดันไปเรียกชื่อผู้รักษาประตูของทีมวัชกู ดา กามา ( Club de Regatas Vasco da Gama ) ที่ชื่อ บีเล่ ( Bile ) ผิดๆเป็น เปเล่ อยู่เสมอ จึงโดนผลสะท้อนกลับมากลายเป็นชื่อที่เพื่อนๆใช้เรียกตัวเองซะเลย

ข้ามมาถึงตอนที่ เปเล่ ยิงประตูที่ 1,000 หมอนี่ลงเล่นให้ ซังตุส เป็นฤดูกาลที่ 14 และทำประตูจากฟุตบอลทุกรายการไม่ว่าในนามทีมชาติหรือสโมสรจำนวน 999 ประตูแล้ว หลายคนกำลังเฝ้าติดตามประตูที่ 1,000 ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะในประวัติศาสตร์ฟุตบอลบนโลกใบนี้ก็ยังไม่เคยมีปรากฏว่านักเตะคนไหนจะทำประตูได้จำนวนมากมายมโหฬารขนาดนี้

วันนั้นเป็นวันที่ 19 พฤศจิกายน 1969 ที่ สนามมารากาญัง ( Maracana Stadium ) เป็นการแข่งขันระหว่าง ซังตุส ของ เปเล่ กับ วัชกู ดา กามา โดยในเกมนั้น ซังตุส ได้ลูกโทษที่จุดโทษ และ เปเล่ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สังหาร ซึ่งก็ไม่พลาด ประตูดังกล่าวถูกเรียกว่า O Milesimo ซึ่งแปลว่า ลำดับที่หนึ่งพัน และภายหลังก็มีการนำภาพจากด้านหลังของ เปเล่ ที่สวมเสื้อหมายเลข 10 กระโดดแสดงอาการดีใจหลังจากสังหารลูกโทษเข้าไปแล้วมาผลิตดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังสงสัยมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ทำไมชุดที่ เปเล่ สวมใส่นั้นจึงกลับกลายเป็นชุดที่คล้ายกับชุดของทีมชาติบราซิว แทนที่จะเป็นชุดของ ซังตุส ซึ่งเป็นสีขาวล้วนหรือเสื้อลายทางแนวตั้งสีขาวสลับดำ อันนี้เขาอาจตั้งใจสื่อความหมายว่าเป็นนักเตะทีมชาติหรือสัญชาติบราซิวด้วยกระมัง

หลังจากประตูที่หนึ่งพัน เปเล่ ยังค้าแข้งกับ ซังตุส ไปจนถึงปี 1974 แล้วย้ายไปกระตุ้นตลาดฟุตบอลใน สหรัฐอเมริกา กับสโมสร นิวยอร์ค คอสมอส ( New York Cosmos ) จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 1977 จึงประกาศอำลาจากการเป็นนักเตะอาชีพ สรุปรวมตลอดอาชีพนักเตะ เขาทำประตูไปทั้งสิ้น 1,281 ประตู จากการลงเล่น 1,363 นัด เป็นการทำประตู

เปเล่ เป็นนักเตะที่ได้รับการยกย่องจากหลายหลายสถาบันนับไม่ถ้วนจริงๆ โดยเฉพาะบรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิจารณ์ฟุตบอล อดีตนักเตะอาชีพ นักเตะที่ยังค้าแข้งอยู่ รวมทั้งบรรดาแฟนบอล ยกให้เขาเป็นนักเตะยอดเยี่ยมตลอดกาล และจากผลโหวทที่จัดทำโดยสหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ ( International Federation of Football History & Statistics - IFFHS ) เมื่อปี 1999 เปเล่ ได้รับเลือกให้เป็นนักเตะแห่งศตวรรษ ( Football Player of the Century ) นอกจากนั้น คณะกรรมการโอลิมปิคสากลก็ยังเลือกเขาเป็น นักกีฬาแห่งศตวรรษ อีกด้วยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น