xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : กาหลง สรรพคุณเหลือล้น ตั้งแต่ราก-ต้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมุนไพรไทยที่มีกล่าวไว้ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น อิเหนา, ดาหลัง, ลิลิตพระลอ, รามเกียรติ์, ลิลิตตะเลงพ่าย และกาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง นั่นก็คือ “กาหลง”

กาหลง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia acuminata Linn., ชื่อภาษาอังกฤษว่า Snowy Orchid Tree เป็นพืชอยู่ในวงศ์จำพวกถั่ว เช่นเดียวกับคูน จามจุรี และทองกวาว มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น กาแจ๊ะกูโด (มลายู-นราธิวาส), กาหลง, ส้มเสี้ยว (ภาคกลาง), โยธิกา (นครศรีธรรมราช), เสี้ยวน้อย, เสี้ยวดอกขาว (เชียงใหม่)

พบขึ้นตามป่าเมืองร้อนของหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยขึ้นได้ดีทุกภาค เป็นต้นไม้ที่ชอบขึ้นกลางแจ้ง ดินร่วนซุย และออกดอกตลอดปี

ลักษณะของกาหลง เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 1-3 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนทั่วไป กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบเว้าลงสู่เส้นกลางใบลึกเกือบครึ่งแผ่น ทำให้ปลายแฉกสองข้างแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนเล็กละเอียด จะผลัดใบในฤดูหนาวระหว่างเดือน พ.ย. - ธ.ค. และจะแตกใบอ่อนในฤดูร้อนระหว่างเดือน เม.ย. - พ.ค.

ส่วนดอกมีสีขาวขนาดใหญ่ รูปรีหรือรูปไข่กลับ ออกเป็นช่อ แต่ละช่อมีประมาณ 2-5 ดอก กลีบดอก 5 กลีบซ้อน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกช่อออกตามซอกใบและปลายกิ่ง จะเริ่มออกดอกในช่วงฤดูฝน ผลแห้งเป็นฝักแบน ปลายและโคนฝักสอบ แหลม เมล็ดขนาดเล็ก

กาหลงเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณเหลือล้น ทุกส่วนของกาหลงสามารถนำมาทำยาในการรักษาโรคได้ ดังนี้

ต้น : แก้โรคสตรี แก้ลักปิดลักเปิด แก้เสมหะ
ใบ : รักษาแผลในจมูก
ดอก : ส่วนที่นิยมรับประทานมากที่สุดของชาวเขาภาคเหนือ ได้แก่บริเวณยอดอ่อนๆของดอก เมื่อรับประทานเป็นประจำ จะลดความดันโลหิตสูง แก้ปวดศีรษะ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ และแก้อาเจียนเป็นเลือด
ราก : แก้ไอ แก้ปวดศีรษะ ขับเสมหะ แก้บิด

นอกจากนี้ กาหลงยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ชอบปลูกต้นไม้ เพราะดูแลรักษาและจัดแต่งทรงพุ่มได้ง่าย ออกดอกได้ยาวนาน ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ไม่ต้องการปุ๋ยมาก ชอบแดดจัดและขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งการตอนและเพาะเมล็ด

ข้อควรระวัง!!

บริเวณใบและกิ่งของกาหลง มีขนอ่อนประปราย เมื่อสัมผัสโดน จะทำให้ระคายเคืองมือได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย มีคณา)



กำลังโหลดความคิดเห็น