xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! กลุ่มยาระบบหัวใจใน รพ.รัฐผิดมาตรฐาน 10%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! ผลตรวจยากลุ่มระบบหัวใจใน รพ.รัฐ ผิดมาตรฐาน 10% ในหัวข้อ ปริมาณตัวยาสำคัญ การละลายของตัวยา และสารสลายตัว กรมวิทย์เร่งประสาน อย.ดำเนินการ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ยากลุ่มระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular System Drug) เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาหัวใจ ยาขับปัสสาวะ ยาละลายลิ่มเลือด และยาลดไขมันในเส้นเลือด มีทั้งยาที่ผลิตในประเทศและนำเข้า เป็นกลุ่มยาที่มีมูลค่าการใช้สูงขึ้นมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นและมีอัตราการตายเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งนี้ ตรวจวิเคราะห์คุณภาพยากลุ่มระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาจากผู้ผลิต และที่นำเข้า ณ ด่านอาหารและยา ในปี 2550-2555 ส่งตรวจวิเคราะห์จำนวน 327 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางห้องปฏิบัติการ พบว่าผิดมาตรฐาน 49 ตัวอย่าง เป็นยาที่ผลิตในประเทศเพียง 8 ตัวอย่าง และเป็นยาชื่อสามัญ (generic drug) ที่นำเข้าจำนวนถึง 41 ตัวอย่าง

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยากลุ่มระบบหัวใจและหลอดเลือดที่สุ่มตัวอย่างยาจากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศตามโครงการสร้างหลักประกันคุณภาพและมาตรฐานบริการด้านยา ปี 2545-2554 ผลการตรวจสอบคุณภาพยาระบบหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 2,023 ตัวอย่าง จาก 553 ทะเบียนยา พบผิดมาตรฐาน 216 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 10.7 โดยผิดมาตรฐานหัวข้อ ปริมาณตัวยาสำคัญ การละลายของตัวยา และ สารสลายตัว ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาที่พบผิดมาตรฐาน ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้แจ้งให้ทาง อย.ดำเนินการต่อไปแล้ว จากผลวิเคราะห์คุณภาพพบว่ายาที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ

โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคเรื้อรัง การใช้ยาในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ไม่ขาดยา ไม่ลดหรือเพิ่มขนาดยาเองและ ควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ควบคู่กับการควบคุมอาหารที่มีรสเค็มหรือมีปริมาณโซเดียมสูง เช่น อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง เครื่องปรุงรส เป็นต้น รวมทั้งอาหารหวานและอาหารไขมันสูง ร่วมกับออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ไตวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาของผู้อื่น แม้ว่าจะมีอาการเหมือนกัน เนื่องจากโรคหัวใจมีหลายชนิดซึ่งมีการใช้ยาต่างกัน และสภาพร่างกาย ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจมีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง หรือมีภาวะโรคอื่นหรือยาอื่น ที่ใช้ร่วมด้วย เป็นต้น ยาที่ใช้จึงแตกต่างกัน ดังนั้นหากมีปัญหาการใช้ยาโปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น