เชียงราย - พระนักพัฒนา อดีตปลัดอำเภอ เตรียมจับมือชาวบ้านฟื้นสภาพเกาะกลางหนองหลวง ที่ตั้ง “โยนกไชยบุรี” ในตำนาน หวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว-สถานที่ปฏิบัติธรรม เผย 1 ใน 9 เกาะมีพระพุทธรูป-พระสังกัจจายน์ที่เกาะทองกวาวด้วย
พระโกเมศ สุเมธโส (ขุนศรี) พระนักพัฒนาในพื้นที่ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย พร้อมด้วยชาวบ้านหนองหลวง ม.16 ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่เกาะกลางหนองหลวง อันเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เนื้อที่ประมาณ 9,196 ไร่ ที่มีเกาะอยู่จำนวน 9 เกาะ พบว่านอกจากจะมีสภาพป่าที่สมบูรณ์แล้วยังมีสถานที่ทางพระพุทธศาสนาที่คนในอดีตเคยก่อสร้างเอาไว้ แต่ได้ถูกปล่อยทิ้งเอาไว้มานานอยู่กลางป่าด้วย
บนเกาะที่ชาวบ้านเรียกว่า “เกาะทองกวาว” เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ พบพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากคอนกรีต รวมจำนวน 5 องค์ กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของเกาะ โดยเฉพาะริมฝั่งน้ำ และบริเวณกลางเกาะ พบพระสังกัจจายน์ขนาดใหญ่สูงประมาณ 2-3 เมตร ตั้งไว้กลางเกาะ ซึ่งจากสภาพที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ทำให้มีต้นไม้และวัชพืชปกคลุมอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปบางองค์จมอยู่ในดินใต้โคนต้นไม้ครึ่งองค์ ชาวบ้านได้ทำเป็นสะพานแขวนสร้างด้วยไม้ และสายสลิง เพื่อให้เดินข้ามไปมาระหว่างเกาะกับหมู่บ้านเพื่อไปเคารพบูชา และหาของป่าด้วย
พระโกเมศกล่าวว่า เมื่อปี 2511 ตนยังเป็นฆราวาส โดยรับราชการเป็นปลัด อ.เวียงชัย และทางอดีตผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ในขณะนั้นหลายคนให้ความสนใจในการพัฒนาพื้นที่หนองหลวง จึงได้มีการตั้งเป็นคณะกรรมการโครงการพัฒนาและบูรณะหนองหลวงขึ้น ซึ่งครั้งนั้นชาวบ้านได้เข้าใช้พื้นที่เกาะทองกวาว จัดงานประจำปีต่างๆ เช่น สงกรานต์ ฯลฯ ต่อมาเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนได้มีการก่อสร้างพระพุทธรูป และพระสังกัจจายน์เอาไว้บนเกาะดังกล่าว แต่ถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้จนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นจึงได้ร่วมกับชาวบ้านมีแนวคิดจะเข้าไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และปฏิบัติธรรม เพราะพื้นที่เหมาะสม มีความร่มรื่นทางธรรมชาติ ซึ่งการให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมดังกล่าวจะช่วยให้ปกป้องดูแลเกาะและทรัพยากรธรรมชาติของหนองหลวงอีกด้วย โดยเบื้องต้นคงจะมีการสร้างสะพานแขวนเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เพื่อความสะดวกในการข้ามไปยังเกาะดังกล่าว
ด้านนางสรวย แสงคำ อายุ 51 ปี ชาวบ้านหนองหลวง กล่าวว่า ในอดีตเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากเกาะทองกวาวในการเป็นแหล่งหาสมุนไพรและตั้งเป็นโรงอบยาสมุนไพรคล้ายเป็นโรงพยาบาลโบราณเพื่อรักษาโรคต่างๆ ต่อมามีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ หลวงพ่อทองใส ได้เข้าไปสร้างพระพุทธรูป และพระสังกัจจายน์ขึ้น แต่ว่าท่านได้ย้ายไปอยู่วัดอื่นเสียก่อนจึงทำให้ถูกปล่อยทิ้งไว้จนมีสภาพเหมือนทรุดโทรม ดังนั้นจึงเป็นการดีที่พระโกเมศซึ่งเป็นอดีตปลัด อ.เวียงชัย จะทำการบูรณะอีกครั้ง
สำหรับหนองหลวงมีตำนานเล่าขานคล้ายกับตำนานเวียงหนองล่มในพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมีบันทึกเล่าว่า เมื่อประมาณ 1,546 ปีก่อน เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโยนกไชยบุรี ที่ชาวบ้านเคยจับปลาไหลที่เป็นลูกพญานาคจำแลงมาชำแหละแบ่งกันกินทั้งเมือง เหลือแต่แม่หม้ายคนหนึ่งที่ได้รับความรังเกียจจึงไม่ได้รับแบ่งปันเนื้อปลาไหลให้กิน จากนั้นได้เกิดฝนฟ้าคะนองและน้ำท่วมเมืองทั้งหมด เหลือเพียงเกาะต่างๆ ซึ่งเชื่อกันว่าก็คือ เกาะกลางหนองหลวงแห่งนี้นั่นเอง โดยมีเกาะแม่หม้ายที่ใหญ่ที่สุดมีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ที่เหลือเป็นเกาะดงมะเฟือง เกาะสันเวียงป่าเป้า เกาะสันกลาง เกาะทองกวาว เกาะไหมเย็บ เกาะขนุน และเกาะไผ่เหมย มีเนื้อที่ตั้งแต่ 2-150 ไร่ และสถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชาวบ้านในหลายอำเภอใช้ประโยชน์ร่วมกันเรื่อยมา