“ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ" วลีที่ประกาศโดยหัวหน้าคณะราษฎร ฉบับที่ 1 หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า
เดือนมิถุนายนของทุกปี จึงถือเป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2475
จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 81 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ภายหลังจากคณะราษฎรยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ
ปางช้าง ทยาหทัย กรรมการฝ่ายวิชาการสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เขียนไว้ในเว็บไซต์สำนักข่าวอิสรา ว่า
"เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นงานใหญ่และสำคัญสำเร็จลง โดยธรรมเนียมไทยจะต้องมีการทำบุญครั้งสำคัญ เช่น สร้างวัด สร้างเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ความคิดดังกล่าวก็อยู่ในใจของผู้ร่วมก่อการหลายท่าน จนปี พ.ศ. 2483 นายกรัฐมนตรี พลตรีหลวงพิบูลสงคราม จึงเสนอคณะรัฐมนตรีถึงการสมควรที่จะสร้างวัดชื่อว่า "วัดประชาธิปไตย” และรัฐบาลได้อนุมัติเงิน 1 แสนบาท สำรองเผื่อขาดเผื่อเหลืออีก 39.000 บาท"
ความประสงค์ในการสร้างวัดของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย และคณะราษฎรต้องการให้เป็นวัดที่สำคัญที่สุดในยุคประชาธิปไตย รวมทั้งต้องการให้แล้วเสร็จทันในงานวันชาติวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 โดยรัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์ เพื่อสร้างวัดแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า "ทุ่งบางเขน" เพราะมีสภาพเป็นทุ่งนาและพาดผ่านด้วยทางรถไฟสายเหนือ เนื่องจากรัฐบาลมองว่า นี่เป็นงานของชาติและของประชาชน
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดและข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์จะพบว่า "พระพรหมพิจิตร" นายช่างและสถาปนิกผู้ออกแบบวัด ได้ออกแบบตามแนวคิดของคณะราษฎร คือลดทอนรายละเอียด และสัดส่วนที่แตกต่างจากวัดอื่นๆ เช่น ช่อฟ้า หางหงส์ คันทวย พระอุโบสถจึงไม่ปรากฎอัตลักษณ์ของ"จารีตไทย" ซึ่งมีการสื่อสัญญะไปยังสถาบันกษัตริย์มากนัก ทั้งนี้ เพื่อให้รับกับการก่อสร้างด้วยคอนกรีต ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
รัฐบาลสมัยจอมพล ป. ยังต้องการให้วัดประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นนี้ เป็นวัดที่รวมเอามหานิกายและธรรมยุติกนิกายเข้าไว้ด้วยกัน เป็นสมานสังวาส เนื่องจากสถานการณ์ทางพระศาสนาในสมัยนั้นกำลังจะมีพระราชบัญญัติสงฆ์ฉบับใหม่ที่เลียนแบบการปกครองฝ่ายอาณาจักร เช่น แบ่งเป็นฝ่ายบริหาร มีสังฆนายก ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตลอดจนเกิดความขัดแย้งกันระหว่างสองนิกายที่มีมาช้านาน
พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อการ คณะราษฎร ก็ได้อุปสมบท ณ วัดพระศรีมหาธาตุ ในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ท่ามกลางสงฆ์สองนิกาย โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
โดยวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2485 ซึ่งเป็นวันที่ทำพิธีเปิด “วัดประชาธิปไตย” อย่างเป็นทางการ รัฐบาลได้นิมนต์พระฝ่ายมหานิกาย 12 รูป ฝ่ายธรรมยุต 12 รูป มาจำวัด โดยมีเจ้าอาวาสรูปแรกคือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ที่รัฐบาลนิมนต์มาจากวัดบรมนิวาส ซึ่งเป็นวัดฝ่ายธรรมยุต
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์เป็นพระนักปราชญ์ ผู้มีปฏิภาณไหวพริบ คารมคมคาย มีความสามารถทั้งทางด้านการศึกษาและการปกครอง และครองสมณศักดิ์ทั้งสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยประชาธิปไตย แต่ต่อมาไม่นาน ที่วัดก็เหลือพระเพียงนิกายเดียว คือธรรมยุติกนิกาย เพราะพระฝ่ายมหานิกายค่อยๆหายไปทีละรูปสองรูป กระทั่งวัดประชาธิปไตยกลายเป็นวัดฝ่ายธรรมยุตมาจนถึงทุกวันนี้
การเปลี่ยนนามจาก “วัดประชาธิปไตย” มาเป็น “วัดพระศรีมหาธาตุ” ภายหลังจากรัฐบาลได้จัดส่งคณะทูตไทย โดยมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้า ได้ไปเจริญสันถวไมตรีกับประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพอังกฤษภาคเอเชีย เมื่อคณะทูตพิเศษเดินทางไปถึงประเทศอินเดีย ก็ได้ติดต่อขอพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ กิ่งพระศรีมหาโพธิ์ 5 กิ่ง และดินจากสังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน
เอกสารของวัดพระศรีมหาธาตุระบุไว้ว่า “รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาเห็นว่า ประชาชนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามีอยู่ในนานาประเทศเป็นอันมาก แต่ประเทศเอกราชที่ยกย่องพระพุทธศาสนาเป็นทางราชการ และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก ก็มีแต่ประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น"
รัฐบาลอินเดียจึงได้มอบพระบรมสารีริกธาตุ กิ่งพระศรีมหาโพธิ์ และดินจากสังเวชนียสถาน ให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดที่สร้างใหม่นี้ และเห็นว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้ทำพิธีปลูก เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2484 (ปัจจุบันได้เติบโตเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นใหญ่ แผ่กิ่งก้านใบร่มรื่นอยู่กลางสระน้ำด้านข้างองค์พระเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุ) เป็นมหาสิริมงคลแก่วัดสร้างใหม่ จึงเปลี่ยนนามวัดเป็น "วัดพระศรีมหาธาตุ"
แต่เดิมรัฐบาลมีดำริสร้างพระธาตุเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากอินเดีย เป็นเจดีย์ 2 ชั้น มีความสูง 38 เมตร ด้านในของพระเจดีย์มีเจดีย์เล็กซ้อนอีกชั้น มีพื้นที่ระหว่างผนังทั้งสองชั้นราว 2 เมตรครึ่ง สำหรับให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าไปสักการะ
ส่วนบนฝาผนังด้านในโดยรอบองค์พระเจดีย์มีทั้งหมด 112 ช่อง มีแผ่นหินบรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว อาทิ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ พันเอกพระยาทรงสุรเดช พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันโทหลวงอำนวยสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ นายเฉลียว ปทุมรส นายทวี บุญยเกตุ นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในอัฐิภายในพระเจดีย์นี้ ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทั้งสิ้น เป็นผู้ซึ่งรัฐบาลสมัยเจ้าพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาว่าเป็น "ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ" ซึ่งทำให้วัดพระศรีมหาธาตุกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนความหมายของการเป็นวัดของคณะราษฎร แม้จะไม่ได้มีการกล่าวเฉพาะเจาะจงก็ตาม
ขณะที่พระอุโบสถของวัดพระศรีมหาธาตุ ได้รับอิทธิพลการออกแบบและงานสถาปัตยกรรมมาจาก "พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร" ทั้งในด้านการวางผังและรูปแบบ โดยภาพรวมนั้น พระอุโบสถเป็นแบบจตุรมุข ต่อจากมุขด้านเหนือและใต้ เป็นวิหารคดล้อมตัวอุโบสถอยู่อีกชั้นหนึ่ง ภายในวิหารคดประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวาย และตามมุขด้านต่างๆ มีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปภาพจำลอง ปูชนียสถานที่สำคัญของทุกภาคในประเทศไทย เช่น พระปรางค์ วัดอรุณ เป็นต้น ด้านในเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีสัมพุทธมุนี พระประธาน เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตัก 42 นิ้ว ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่วังหน้า และรัฐบาล จอมพล ป. ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดนี้ แทนพระพุทธสิหิงค์ซึ่งได้อัญเชิญกลับไปยังพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของประวัติศาสตร์ ทั้งในเชิงการเมือง สังคม ศาสนา สถาปัตยกรรม หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลา 81 ปี การส่งผ่านแนวคิดของคณะราษฎรมาทางวัดประชาธิปไตยหรือวัดพระศรีมหาธาตุ ก็กลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งให้เด็กนักเรียนได้ท่องจำเท่านั้น และก็ผ่านเลยไปในที่สุด เหมือนดังปัจจุบัน
หากคุณผู้อ่านได้มีโอกาสผ่านไปย่านบางเขน จะได้พบร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์กันสักกี่มากน้อย และจะมีสักกี่คนที่เข้าใจในความหมายและสารัตถะที่รัฐในขณะนั้นต้องการสื่อสารมายังชนรุ่นหลัง เพราะลำพัง ความเป็นประชาธิปไตยในความหมายของคณะราษฎร ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็มิอาจเกิดขึ้นได้จริง (หรือที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยเต็มใบ) ... ในปัจจุบัน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี)