โผล่อีกพระแต่งหน้าทาปากสีชมพูเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก โพสต์ “เป็นไงสวยมั้ย” และมีพระมาโพสต์ตอบ “สวยมากครับ-เริ่ดค่า”
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ตนได้รับแจ้งมาว่าได้มีภาพชายที่แต่งกายลักษณะคล้ายพระสงฆ์ หรือสามเณร สวมหมวกไหมพรม แต่งหน้าทาปากสีชมพู เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีเพื่อนชื่อ พระมหาอดุลย์ ญาณธัช วุฑฒิโก เข้ามาโพสต์ข้อความว่า “สวยมากครับ และเพื่อนอีกคนโพสต์ว่า “เริ่ดค่า ” โดยชายที่แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าของภาพได้โพสต์ข้อความตอบกลับไปว่า “เป็นไงสวยมั้ย” เพื่อนตอบกลับมาว่า “สวยมากกกค่า” สุดท้ายพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าของภาพได้โพสต์ข้อความตอบกลับว่า “ขอบคุณค่ะ” โดยภาพและบทสนทนาดังกล่าวได้มีการโพสต์ต่อๆ กันมาเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นตนต้องขอตรวจสอบภาพดังกล่าวก่อนว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และตัวบุคคลที่ปรากฏเป็นใคร เป็นฆราวาส หรือเป็นพระสงฆ์ หากเป็นพระสงฆ์เป็นผู้โพสต์รูปและข้อความจริงอย่างนี้ถือว่ามีความผิด ทาง พศ.มีอำนาจสั่งการตรวจสอบได้โดยเริ่มจากเว็บไซต์ต่างๆ หรือประสานไปยังเจ้าคณะผู้ปกครองทั่วประเทศให้ตรวจสอบอีกทางหนึ่ง
ผอ.พศ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พศ.ได้สรุปเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพระภิกษุสามเณรที่มีอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัย ในรอบปีงบประมาณ 2555 ตั้งแต่เดือนตุลาคม -กันยายน 2555 พบว่า บิณฑบาตขาดความสำรวม มีร้องเรียนเข้ามา 227 รูป, เข้าร่วมงานโดยไม่ได้รับนิมนต์ เร่ร่อนไม่สังกัด 7 รูป, ปักกลดตามย่านชุมชน พักค้างแรมตามบ้าน ดื่มสุรา 19 รูป, เรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต 51 รูป, ปลอมบวช 18 รูป ซึ่งรวมสถิติพระสงฆ์สามเณรที่มีอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัย จำนวน 322 รูป
ผอ.นพรัตน์ กล่าวว่า ส่วนมาตรการการดำเนินการแก้ไขปัญหาพระภิกษุสามเณรที่มีอาจารไม่สมควร นั้น พศ.และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ได้ถวายคำแนะนำ 86 รูป, เจ้าคณะผู้ปกครองภาคทัณฑ์และสั่งให้กลับสังกัด 112 รูป, เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ดำเนินการให้ลาสิกขา 106 รูป, ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย กรณีปลอมบวชและเข้าเมืองผิดกฎหมาย 18 รูป สำหรับสังกัดพระภิกษุสามเณรที่มีอาจารไม่สมควร พบว่า ในเขตกรุงเทพมหานคร 74 รูป สังกัดวัดในส่วนภูมิภาค 230 รูป สังกัดวัดในต่างประเทศ 18 รูป ผมก็กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ....ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เพื่อขับเคลื่อนการดูแล คุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และจะมีโทษทางอาญา กับพระภิกษุ สามเณร ที่กระทำความผิดเพิ่มขึ้นด้วย ก็จะทำให้เกิดระบบต่อการดูแลพระพุทธศาสนาเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่านี้