xs
xsm
sm
md
lg

พลิกชีวิต : ธนวัชร์ เกตม์วิมุต อดีต : ส่งคนเป็นสู่จุดหมาย ปัจจุบัน : ส่งคนใกล้ตายสู่ภพใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จะมีสักกี่คนที่ชีวิตสามารถเลือกที่จะเป็น เลือกที่ทำ ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยที่ไม่หวั่นไหวและเดินไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ทั้งๆที่ไม่มีความพร้อมทั้งในแง่ของปัจจัยและแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง

ที่สำคัญเป้าหมายนั้นยังเป็นเป้าหมายในเชิงนามธรรม วาดหวังที่จะคลายทุกข์ออกจากจิตใจของ ‘ผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ ที่กำลังสิ้นหวัง ท้อแท้ โศกเศร้ากับความตายที่รออยู่ตรงหน้า เพื่อให้เตรียมตัวเดินทางสู่ภพใหม่อย่างเป็นสุข รวมทั้งญาติมิตรที่รายล้อม ซึ่งทุกข์ทนกับการสูญเสียที่กำลังจะมาถึง

ผู้ชายคนนี้ ‘ครูดล’ ธนวัชร์ เกตม์วิมุต ประธานชีวิตสิกขา เครือข่ายเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจชีวิต เลือกที่จะเข้ามาทำหน้าที่คลายทุกข์ให้แก่ผู้คนเหล่านี้ โดยมิได้เรียกร้องสิ่งตอบแทนใดๆ !!

เขาทำหน้าที่นี้ได้อย่างไร ทั้งๆที่ไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้มีเงินทองเหลือกินเหลือใช้ เป็นเพียงผู้ชายฐานะปานกลางซึ่งยังมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่ที่แก่เฒ่าลงทุกวัน ?

• ทิ้งชีวิตมนุษย์เงินเดือนระดับผู้บริหาร
มาก่อตั้งเครือข่ายชีวิตสิกขา ช่วยผู้ป่วย


ครูดลเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาหันมาทำงานจิตอาสา ในการที่จะนำพาผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ออกจากความทุกข์ ภายใต้ชื่อ ‘ชีวิตสิกขา’ ที่เขาและเพื่อนๆร่วมกันก่อตั้งขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ว่า

“คือผมทำงานมาหลายอย่างนะ ทุกๆงานที่ทำก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นเซลก็ขึ้นระดับเซลเมเนเจอร์ ได้ไปเรียนด้านการบริหารที่ต่างประเทศ แล้วก็มาเป็นหัวหน้าฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่เรารู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต

ชีวิตที่เราเกิดมา เราสามารถใช้มันให้มีคุณค่ามากกว่านั้น ผมเลยเกษียณตัวเองตั้งแต่อายุ 37 ลาออกจากมนุษย์เงินเดือน ตั้งใจว่าจะบวชเพื่อศึกษาธรรมะ แต่ที่บ้านไม่เห็นด้วย เพราะเขารู้ว่าถ้าบวชแล้วผมคงไม่สึกแน่ ซึ่งตอนที่รู้ว่าลาออกจากงานเขาก็ช็อก ว่าอยู่ๆลาออกทำไม เพราะหน้าที่การงานก็กำลังก้าวหน้า เวลาในชีวิตยังเหลืออีกเยอะ อยู่ในวัยที่กำลังสร้างฐานะ สร้างครอบครัว เรียกว่าในมุมมองของเขานั้น เวลาของเรายังเหลืออีกเยอะ

แต่ในมุมมองของเราน่ะ เราบอกไม่ได้เลยว่าจะตายเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น เราควรจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้มีค่ามากที่สุด พอบวชไม่ได้ ผมก็มองหาอย่างอื่นว่าจะทำอะไรได้บ้าง พอดีช่วงนั้นไปลงเรียนปริญญาโทสาขาชีวิตและความตาย ซึ่งอยู่ในคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แล้วมันมีวิชาที่ต้องลงไปพูดคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทำให้เห็นว่าชีวิตเขามีความทุกข์ และการที่เราเข้าไปพูดคุย เปิดมุมมองใหม่ๆให้กับเขา มันทำให้เขาสามารถละวางจากความทุกข์ได้

หลังจากจบคอร์สนี้ ผมก็คุยกับเพื่อนๆที่เรียนด้วยกัน ทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส ว่าเราน่าจะสานงานนี้ต่อ ก็เลยตั้ง ‘ชีวิตสิกขา’ ขึ้นมา แล้วก็ลงไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้าย พูดคุยและจัดกิจกรรม เพื่อให้เขาก้าวออกจากความทุกข์ และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่า

แต่ไม่ใช่เฉพาะตัวผู้ป่วยเท่านั้น เราจัดกิจกรรมเหล่านี้ให้กับญาติผู้ป่วยด้วย เพราะเราพบว่าญาติที่มาเฝ้านั้น บางครั้งทุกข์กว่าผู้ป่วยเสียอีก เพราะคนที่เขารักกำลังจะจากไปโดยที่เขาทำอะไรไม่ได้ เรียกว่าเป็นงานจิตอาสาที่เพื่อนๆแต่ละคนมาช่วยกัน แต่ผมเป็นคนเดียวที่เข้ามาทำงานนี้เต็มตัว โดยไม่ได้ทำงานประจำ”

• ใช้เวลา 3 ปี กว่าที่บ้านจะเข้าใจ
แล้วธรรมะก็เข้ามาช่วยดูแล


แต่โจทย์ใหญ่ที่เขาต้องสอบผ่านไปให้ได้ก็คือ การทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว เนื่องด้วยฐานะทางครอบครัวที่อยู่ในระดับปานกลาง ต้องดิ้นรนทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น การที่ลูกชายซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวอย่างเขาจะเลือกเดินในเส้นทางสายธรรมะ เป็นวิทยากรอาสาที่นำพาผู้คนให้พ้นจากความทุกข์ในใจ และเห็นถึงคุณค่าของการมีชีวิต จึงมิใช่เรื่องง่ายที่คนในครอบครัวจะเข้าใจ

เขาต้องใช้เวลาถึง 3 ปีในการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เขาสามารถอยู่ตรงนี้ได้อย่างมั่นคง และแม้จะมีรายได้ไม่มากมายนัก แต่ก็สามารถดูแลคุณแม่ให้อยู่อย่างสุขสบาย ทำหน้าที่ลูกได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

“ผมใช้เวลา 3 ปี กว่าครอบครัวจะเข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าไม่ทำงานประจำ แก่แล้วจะไปทำมาหากินอะไร คือ กว่าจะให้ผู้สูงอายุคนหนึ่งเข้าใจคำว่าจิตอาสา ทำให้แม่เข้าใจว่าอนาคตลูกของฉันใครจะเลี้ยง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น เราต้องมั่นคงเด็ดเดี่ยวและมั่นใจว่าธรรมะจะดูแลเรา ซึ่งต้องให้เวลา ให้โอกาสตัวเองในการคลี่ปมตรงนี้ แล้วก็พบว่า มันทำได้ ธรรมะจะช่วยดูแลเราจริงๆ

น่าแปลกที่ค่าวิทยากรที่ได้ในแต่ละเดือน มันมากพอที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้ ดูแลคุณแม่ได้ ทั้งๆที่เราไม่ได้เรียกค่าวิทยากรเลย ว่าคนที่เชิญเราไปจะต้องให้เท่าไร บางงานเห็นเขาไม่ค่อยมี เราก็บอกเลยว่าไม่รับ ทุกวันนี้ต้องบอกว่ามันมีเหลือด้วยนะ เพราะเราใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ได้อยากมีอะไรที่หรูหราฟุ่มเฟือย” ครูดลบอกเล่าถึงความตั้งใจในการทำงานเพื่อสังคม

• ทรัพย์ภายในนำมาซึ่งความอิ่มเอมใจ
เพราะสิ่งที่ทำนั้นเหมือนได้ทำบุญทุกวัน


ด้วยมองว่าชีวิตคนเรานั้นเหมือนมีระเบิดเวลาติดตัวอยู่ตลอด เพียงแต่ไม่รู้ว่าระเบิดลูกนี้จะระเบิดแตกดับไปเมื่อไรเท่านั้น ครูดลจึงอยากใช้เวลาทุกนาทีให้มีค่าที่สุด ทำประโยชน์ให้แก่ผู้คนและสังคมให้ได้มากที่สุด เขาจึงมุ่งสะสมทรัพย์ภายใน คือกุศลที่ได้จากการทำความดี มากกว่าจะสะสมทรัพย์สินเงินทอง ที่แม้จะจับต้องได้ หากแต่ไม่อาจอยู่กับเราได้ตลอด

งานหลักของครูดลในฐานะประธานเครือข่ายชีวิตสิกขา ก็คือการเป็นวิทยากรผู้ออกแบบและจัดทำกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจชีวิต เพื่อคลายทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมทั้งญาติผู้ป่วยซึ่งกำลังป่วยใจ เพราะไม่พร้อมที่จะสูญเสีย ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้ละวางทุกข์ออกจากใจ ใช้ชีวิต ณ ปัจจุบันอย่างมีความสุข

โดยนอกจากเขาจะมีโรงพยาบาลที่อาสาเข้าไปทำกิจกรรมให้ผู้ป่วยอย่างเช่น โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลเด็ก ค่ายมะเร็งที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา แล้ว เขายังไปช่วยเหลือผู้ป่วยแบบเคสบายเคส ตามที่ญาติร้องขอ และช่วยออกแบบกิจกรรมให้แก่หน่วยงานต่างๆที่ต้องการจัดกิจกรรมดีๆให้แก่พนักงาน อาทิ จัดคอร์สเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจชีวิต เช่น ‘โยคะภาวนา’ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากโยคะทั่วไปตรงที่มีนำการออกกำลังกายแบบโยคะมาผสมผสานกันการเจริญภาวนา เพื่อผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ, ‘ความตายออกแบบได้’ ซึ่งเป็นการฝึกเจริญมรณานุสสติ

“การทำงานของเรา มันช่วยคลายทุกข์ได้ทั้งตัวผู้ป่วยและญาติ เราเข้าไปทำกระบวนการ เพื่อให้เขาเรียนรู้และเข้าใจชีวิต ที่เรียกว่าคลินิกธรรมะ มีการจัดคอร์สนิมนต์พระมานำสวดมนต์ ให้ผู้ป่วยและญาติมานั่งเจริญสติ แล้วพระท่านก็จะขอบิณฑบาตความทุกข์ ให้ผู้ป่วยอธิษฐานจิต

จากนั้นก็มีร่วมพูดคุยแบ่งปันถึงปัญหาที่แต่ละคนประสบ แนะแนวทางที่เขาจะละออกจากทุกข์ ซึ่งการที่ผู้ป่วยได้มาแชร์ประสบการณ์กัน มันทำให้เขาเห็นว่ายังมีคนอื่นที่ทุกข์มากกว่า ทำให้เกิดกำลังใจและปล่อยวางกับปัญหาของตัวเอง แล้วหันมาให้กำลังใจคนอื่น ทำให้เขาเห็นว่า ชีวิตที่เหลือมันมีคุณค่า

ซึ่งกิจกรรมตรงนี้เราจะทำเฉพาะตัวผู้ป่วยไม่ได้ เราต้องทำกับญาติด้วย เพราะเราพบว่าญาติเองก็ทุกข์ และมีจำนวนไม่น้อยที่ผู้ป่วยกับญาติไม่เข้าใจกัน หรือมีบางอย่างที่ผู้ป่วยยังเป็นห่วงกังวล ทำให้ไม่สามารถจากไปอย่างสงบได้ ซึ่งเราก็เข้าไปพูดคุยให้เขาเปิดใจซึ่งกันและกัน ตรงนี้มันทำให้เกิดความเข้าใจ ระลึกได้ว่าเขารักกันมากขนาดไหน และอยากจะใช้เวลาที่เหลือๆทำสิ่งดีๆให้แก่กัน

มีอยู่เคสหนึ่ง แม่เป็นผู้ป่วยมะเร็ง ถ้าแม่ตายไปลูกจะอยู่ยังไง เพราะตอนนี้ลูกกับพ่อทะเลาะกันอย่างรุนแรง ญาติเขาบอกผมว่าช่วยหน่อยเถอะ เขาไม่รู้จะทำยังไง ผมรู้เลยว่า นี่คือโจทย์ใหญ่ของผู้ป่วยที่ยังจากไปไม่ได้ ผมก็คุยกับลูกชายเขา ให้เขาบอกความในใจกับแม่ พูดแล้วแม่จะได้สบายใจ หมดห่วงเรา เขาก็ไม่กล้าพูด ผมก็บอกว่า ไม่รู้นะว่าแม่จะจากไปเมื่อไร มันอาจจะสายเกินไปก็ได้

สุดท้ายเขาก็เล่าให้แม่ฟังว่า เขาทะเลาะและไม่พูดกับพ่อ เขารู้ว่าเขาผิด เขาจะไปกราบขอโทษพ่อ เขาก็รักพ่อและรู้ว่าพ่อก็รักเขา ไม่ต้องห่วงเขาหรอกนะ แม่ซึ่งอาการโคม่า สื่อสารอะไรไม่ได้แล้ว ได้แต่นอนหลับตา ปรากฏว่าน้ำตาแม่ไหลออกมา หลังจากนั้น รุ่งขึ้นตีห้า แม่ก็จากไป ลูกชายกับพ่อก็ปรับความเข้าใจกัน มันทำให้เห็นว่า ถ้าเราไม่ดีต่อกันในขณะที่ยังมีชีวิต มันอาจจะไม่มีโอกาสก็ได้” ครูดลเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานจิตอาสากับผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ครูดลบอกว่า งานจิตอาสาที่เขาทำนั้น เป็นงานที่มีคุณค่าซึ่งไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ รู้แต่เพียงว่าทุกครั้งที่เขาได้ทำหน้าที่ มันนำมาซึ่งความอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก

“ช่วงหลังก็จะมีคนที่รู้ว่า เครือข่ายชีวิตสิกขาทำงานตรงนี้ มีโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ ก็อยากให้ผมเข้าไปช่วยพูดคุย ทำกิจกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยคลายทุกข์ ใช้เวลาที่เหลืออย่างมีความสุขขึ้น เขาก็เชิญผมไป

ผมเป็นวิทยากรไม่มีเรทค่าตัวนะ บางเคสหรือบางที่ที่เขาไม่ค่อยมีเงิน เขาก็ให้ค่าเดินทาง ส่วนค่าวิทยากร ผมไม่รับ เพราะคิดว่าเวลาไปทำกิจกรรม นำภาวนา สิ่งที่เราได้นั้นเป็นเรื่องของทรัพย์ภายใน ส่วนทรัพย์ภายนอกนั้นขอให้เป็นไปตามกำลังของเจ้าภาพ คือสิ่งที่เราทำมันเหมือนเราได้ทำบุญทุกวัน ถือว่าเราโชคดีที่ได้มีโอกาสทำสิ่งเหล่านี้ โชคดีที่เกิดมาแล้วเห็นที่ของตัวเอง”

• การนั่งสมาธิ คือ สิ่งแรกที่ต้องทำ

ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ครูดลให้ความสำคัญ นอกเหนือจากการทำหน้าที่จิตอาสา ก็คือการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ครูดลบอกว่า เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าอะไรที่ทำให้เขาสนใจธรรมะและมีความคิดแตกต่างจากวัยรุ่นทั่วไป ขณะที่เด็กคนอื่นชอบเดินห้าง สนุกสนานกับการเที่ยวเตร่ แต่เขากลับชวนคุณแม่ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ทั้งๆที่ไม่มีใครแนะนำชักชวน

“ผมคิดว่า ตัวเองคงมีพื้นเรื่องการปฏิบัติที่เคยสั่งสมมา เพราะพอย้อนไปดู จะเห็นว่าตัวเองเข้าถึงสมาธิได้ง่ายมาตั้งแต่เด็ก อย่างตอนอายุ 15 ผมป่วยหนัก นอนเป็นไข้สูงมาก ตอนนั้นยังไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยเรียนสมาธิเลย แต่มารู้ทีหลังว่า เราได้อารมณ์สมาธิจากการที่เราอยู่บนเตียงนิ่งๆ แต่ตอนนั้นเรียกไม่เป็น กระทั่งอายุ 18 ไปปฏิบัติธรรม ก็ไม่ได้มีใครชวนนะ อยู่ๆไปเห็นประกาศรับสมัครปฏิบัติธรรม 7 วัน กับคุณแม่สิริ กรินชัย ก็สนใจ กลับมาชวนคุณแม่ผมเลย ก็เป็นครั้งแรกของทั้งแม่และลูก ซึ่งตรงนั้นมันเป็นก้าวแรกในการเดินเข้าสู่เส้นทางสายธรรม จากนั้นก็ปฏิบัติธรรมมาตลอด

คือมันมีทั้งสิ่งที่เรารู้สึกว่าต้องทำ สิ่งที่ควรทำ และสิ่งที่อยากทำ แต่สิ่งแรกที่คิดเสมอว่าต้องทำก็คือ การนั่งสมาธิ เมื่อเราวางจิตเป็นสมาธิ อยู่ในความสงบ เฝ้าดูความจริงของชีวิต เราก็จะพบว่า ความตายมันเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา ตั้งแต่เซลล์ผิวหนัง เส้นผม เล็บ แม้แต่จิตก็เกิด-ดับ ลมหายใจก็เกิด-ดับ

พอเราดูจนใจมันวางแล้ว เราจะรู้เลยว่า การดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้มีทรัพย์สินเงินทองเยอะแยะมากมาย มันไม่รู้จะทำไปทำไม เราเลือกที่จะทำกิจที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและผู้อื่นดีกว่าไหม แล้วธรรมะก็ช่วยให้เห็นว่าเรากำลังก้าวเดินอยู่ในเส้นทาง ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่ ซึ่งผลของการปฏิบัติธรรมจะบอกเราเอง การปฏิบัติที่ก้าวหน้าขึ้นนั้นวัดจากการลด ละ เลิก ของเรา ไม่ได้วัดจากอิทธิปาฏิหาริย์”

• เมื่อกรรมดีส่งผล
หายจากเป็นอัมพาตราวปาฏิหาริย์


ครูดลบอกว่า แม้เรื่องของผลบุญจะเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้แต่ก็มีบางเหตุการณ์ที่ทำให้เขาผ่านพ้นวิกฤตของชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ซึ่งเขาเชื่อว่า ส่วนหนึ่งคงมาจากผลบุญที่เขาได้ช่วยคลายทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย

“เมื่อปีที่แล้ว ผมมีอาการกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณต้นคอ ซึ่งผลจากการทำเอ็มอาร์ไอ (การเอ็กซเรย์แบบเข้าอุโมงค์) มันชี้ว่าลักษณะแบบนี้ เจ้าของร่างกายต้องเป็นอัมพาตแน่ๆ และทางเดียวที่หายได้ก็คือ ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่ปรากฏว่าขณะนั้นผมมีแค่อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ยังเดินเหินได้ปกติ

แล้วสิ่งที่อัศจรรย์มากคือ ผมได้รับความเมตตาจากคุณหมอมือหนึ่งหลายๆท่าน ทั้งคุณหมอด้านกายภาพ คุณหมอด้านศัลยกรรมกระดูก ซึ่งท่านให้คำปรึกษาและเข้ามาช่วยดูแลโดยที่เราไม่ได้ร้องขอ แม้แต่ค่าทำเอ็มอาร์ไอซึ่งมันแพงมาก คุณหมอก็ช่วยกันลงขันออกให้

คุณหมอบอกว่า ต้องผ่าตัดภายใน 3 เดือน ผมก็ไม่ตัดสินใจเสียที จนมันเลยกำหนดมา ก็คิดว่าขออยู่กับตัวเอง ถ้ามันจะเป็นก็ปล่อยให้มันเป็น ตอนนั้นผมไม่รู้สึกซีกขวาแล้ว ไม่รู้สึกร้อน-เย็น เข็มแทงไม่เจ็บ แต่ยังเดินได้ คอนโทรลมือและแขนได้ คุณหมอก็ตกใจว่านี่เจ้าของฟิล์มเอ็กซเรย์เหรอ

ผมก็อยู่กับตัวเองโดยใช้สติในการคอนโทรลร่างกาย ปรากฏว่า อาการเริ่มกลับมาดีขึ้น ความรู้สึกเริ่มกลับมา กระทั่งกลับมาเป็นปกติในที่สุด ซึ่งมันเหมือนปาฏิหาริย์นะ ส่วนหนึ่งมันอาจจะมาจากการทำโยคะ นั่งสมาธิ การวางใจ แต่ส่วนสำคัญผมเชื่อว่า น่าจะมาจากผลบุญที่เราได้เคยช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้เขาคลายจากความทุกข์ เมื่อถึงคราวที่เราทุกข์บ้างมันเลยมีเหตุและปัจจัยที่มาช่วยให้พ้นทุกข์

ผมเลยเชื่อมั่นในการทำความดี ว่าถึงแม้เราจะมองไม่เห็นว่าบุญกุศลรูปร่างหน้าตาเป็นยังไง แต่ว่ามันมีอยู่จริง และส่งผลโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ” ครูดลกล่าวตบท้ายด้วยแววตาที่เชื่อมั่น

ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมกรรมกับเครือข่ายชีวิตสิกขา สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.lifebhavana.net หรือติดต่อสอบถาม โทร. 08-7678-1669 และ 08-9899-0094

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย กฤตสอร)







กำลังโหลดความคิดเห็น