xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.เตือนสาวฉีดสารพัดสารเร่งสวย เสี่ยงตาบอด มะเร็ง และอาจถึงตาย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เตือนหญิงสาวให้ระวังอันตรายจากการฉีดฟิลเลอร์ เช่น สารคอลลาเจน สารไฮยาลูโรนิค แอซิด หรือ เอชเอ โบท็อกซ์ และสารกลูตาไธโอน เป็นต้น เนื่องจากการนำสารดังกล่าวโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย มาใช้อย่างไม่เหมาะสม อาจได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

ทั้งนี้ อย. ไม่เคยมีการรับขึ้นทะเบียนตำรับยาฉีดคอลลาเจนและกลูตาไธโอนแต่อย่างใด อีกทั้งเป็นสารที่ยังไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับฉีด

การนำสารกลูตาไธโอนมาใช้เป็นยาฉีดผิวขาว ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการช่วยทำให้ผิวขาวใสขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง มีอาการแพ้อย่างรุนแรง หลอดลมตีบ หายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ หากรักษาไม่ทัน อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เม็ดสีผิวลดลง แพ้แสงแดดได้ง่ายขึ้น และในระยะยาวอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง นอกจากนี้ ยังอาจเกิดผลกระทบต่อจอตาโดยตรง ทำให้จอประสาทตาอักเสบได้ง่าย เม็ดสีที่จอตาลดลง ทำให้รับแสงได้น้อยลง เสี่ยงต่อการมองเห็นได้ในอนาคต

สธ.เตือน 7 กลุ่มเสี่ยง ห้ามทำดีท็อกซ์

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า การดูแลสุขภาพโดยใช้การสวนล้างลำไส้ หรือดีท็อกซ์ (Detoxification) เป็นวิธีการล้างพิษของการแพทย์ทางเลือก โดยอาจใช้น้ำอย่างเดียว หรือใช้น้ำร่วมกับสารบางอย่าง เช่น กาแฟ แต่จะต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และห้ามทำใน 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบลำไส้ใหญ่ เช่นลำไส้ใหญ่อักเสบ อุดตัน มะเร็งลำไส้ เพราะเมื่อใส่น้ำเข้าไปจะทำให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น อาจทำให้ลำไส้แตกและเสียชีวิตได้ 2. ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดลำไส้ โดยเปิดลำไส้ให้ขับถ่ายทางหน้าท้อง 3. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรุนแรง 4. เด็ก 5. สตรีมีครรภ์ 6. ผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลียมาก 7. ผู้ป่วยช่องท้องอักเสบ

ด้านนายแพทย์สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วิธีการขับพิษจากร่างกายที่ดีและปลอดภัยที่สุด คือการป้องกันท้องผูก โดยไม่ต้องพึ่งการดีท็อกซ์ ทำได้โดยการออกกำลังกาย เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่นผัก ผลไม้ และดื่มน้ำวันละไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว

วิจัยพบ “ข่า” มีผลกับมะเร็ง

รู้กันมานานแล้วว่า “ข่า” สมุนไพรพื้นบ้าน ที่นำมาทำอาหารหลากหลายชนิดนั้น มีฤทธิ์ในการขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ อาหารเป็นพิษ รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา

แต่ล่าสุด ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮุยตัน หัวหน้าคณะนักวิจัย วิทยาลัยแพทย์คิง คอลเลจ กรุงลอนดอน ได้ทำการศึกษาวิจัยสารสกัดจากข่า และพบว่า สามารถออกฤทธิ์ไปกระตุ้นเอนไซม์ที่เรียกกันว่า "จีเอสที" ให้ออกฤทธิ์ขับสารก่อมะเร็ง

ฮุยตันเปิดเผยว่า สารสกัดจากข่าออกฤทธิ์ทั้งในการรักษาและการป้องกันเซลล์ปกติให้รอดพ้นจากมะเร็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เพราะปกติแล้วพืชทั่วไปจะมีฤทธิ์เพียงด้านเดียว

ผลวิจัยยืนยัน “มะเขืองเทศ-ถั่วเหลือง” ช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก

มีผลวิจัยก่อนหน้านี้บอกว่า อัตราการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากลดลงในประเทศที่ผู้ชายกินถั่วเหลืองเป็นประจำ และผลการวิจัยล่าสุดยืนยันว่า การกินถั่วเหลืองร่วมกับมะเขือเทศ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

จอห์น เอิร์ดแมน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองในหนูที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่งให้กินมะเขือเทศ กลุ่มที่สองให้กินถั่วเหลือง กลุ่มที่สามให้มะเขือเทศรวมกับถั่วเหลือง และกลุ่มที่สี่ไม่มีทั้งมะเขือเทศและถั่วเหลืองในอาหาร ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ 1-3 มีอัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มที่กินถั่วเหลืองมีการพัฒนาของโรค 66 % กลุ่มที่กินมะเขือเทศ 61% และกลุ่มที่กินทั้งมะเขือเทศและถั่วเหลือง 45%

การกินถั่วเหลืองและมะเขือเทศ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ควรกินมะเขือเทศ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ และถั่วเหลือง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

การออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยง “นิ่วในไต” ของหญิงวัยทอง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ศูนย์การแพทย์ซานฟรานซิสโก มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และมหาวิทยาลัยของโรงเรียนแพทย์วอชิงตัน ได้ร่วมกันศึกษาข้อมูลจากสตรีวัยหมดประจำเดือน 85,000 คน ในสหรัฐอเมริกา พบว่า การออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในสตรีวัยหมดประจำเดือน

โดยอาสาสมัครที่ออกกำลังกายอย่างเบาๆ ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดนิ่วในไตลดลง 16% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการออกกำลังกายใดๆ ส่วนคนที่ออกกำลังกายปานกลางจนถึงหนัก เช่น เดินสองชั่วโมงครึ่ง หรือวิ่งจ๊อกกิ้งหนึ่งชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ ความเสี่ยงลดลง 22% และคนที่ออกกำลังกายหนัก ความเสี่ยงจะลดลง 31 %

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงของโรคนิ่วในไต ไม่ได้อยู่ที่ความเข้มข้นของการออกกำลังกาย แต่เป็นจำนวนในการออกกำลังกาย

และเมื่อรวมกับการลดปริมาณการกินอาหารที่มีแคลอรี่สูง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดก้อนนิ่วในไตถึง 40% และจากการติดตามผลใน 8 ปี พบว่า มีผู้หญิงเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นโรคนิ่วในไต

กรมวิทย์เตือน “สารเร่งเนื้อแดง” สุดอันตราย

หมูเนื้อแดงที่เห็นสีแดงสดน่ารับประทานนั้น แฝงไว้ด้วยอันตรายสุดๆ เพราะมีการฉีดสารเร่งเนื้อแดงลงไปในตัวหมู นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ย้ำเตือนผู้บริโภคว่า สารเร่งเนื้อแดงไม่สามารถกำจัดได้ แม้เนื้อหมูจะผ่านการปรุงสุก เนื่องจากสารชนิดนี้แทรกอยู่ในกล้ามเนื้อหมู และหากสารตกค้างในร่างกาย อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียน เป็นอันตรายมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก และโรคเบาหวาน

ดังนั้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้ออย่างฉลาด คือ ซื้อเนื้อสัตว์ที่มีลักษณะเนื้อนุ่มเป็นมัน ไม่มีสีแดงหรือมีชั้นไขมันบางผิดปกติ การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือมีป้ายรับรองจากหน่วยราชการ เช่น ป้ายทอง Food Safety หรือตรารับรองของกรมปศุสัตว์

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย ธาราทิพย์)






กำลังโหลดความคิดเห็น