xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : “การเจริญสติ” ช่วยรักษาโรคการกินผิดปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการกินอย่างมีสติ ป้องกันโรคอ้วน และทำให้เรามีสุขภาพดี เพราะเรื่องของการกินมีความสำคัญมาก การกินที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย

ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องของความผิดปกติในการกิน ซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบัน โรคความผิดปกติในการกิน มีดังนี้

1. โรคอนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) อาจจะเรียกว่าโรคผอมเกินก็ได้ มักเกิดขึ้นในวัย 15-30 ปี พบมากในยุโรป อเมริกา ในหนุ่มสาวอาชีพ นักแสดง นางแบบ นักเต้นบัลเล่ย์ ซึ่งจะพบในผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 0.5

ในทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคนี้มักจะอดอาหารด้วยตนเองอย่างหนัก เพราะกลัวอ้วน และคิดว่าตนเองเป็นคนอ้วน ทั้งที่น้ำหนักกำลังดี จนน้ำหนักลดลงถึงร้อยละ 85 ของน้ำหนักตัวปกติที่ควรจะเป็น หรือดัชนีมวลกายต่ำกว่า 17.5 ผู้ป่วยมักจะขาดรอบเดือนติดต่อกัน 3 รอบขึ้นไป มีอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย ผมและขนจะบาง หลุดร่วงง่าย

ผู้ป่วยจะอดอาหารมากจนขาดสารอาหาร เกลือแร่ต่างๆ จนบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิต จากการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ซึ่งพบได้ราวร้อยละ 5-10 และพบปัญหาการฆ่าตัวตายบ่อย

ดังนั้น การใช้ยารักษา ร่วมกับจิตบำบัด ทำให้หายจากโรคนี้ได้ร้อยละ 50 อีกร้อยละ 30 จะมีอาการดีขึ้น แต่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกว่า ตัวเองอ้วนเกินไป ส่วนอีกร้อยละ 20 การรักษาไม่ช่วยให้อาการต่างๆดีขึ้น โรคนี้ยังเป็นโรคที่รักษายาก และได้ผลยังไม่ดี

2. โรคบูลีเมีย (Bulimia Nervosa) ผู้ป่วยจะมีอาการกินอาหารมากเกินไป โดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ในชั่ววูบหนึ่ง คือมีอาการเป็นครั้งคราวและหักห้ามใจไม่ได้ แต่พวกนี้ก็กลัวอ้วนเช่นกัน จึงใช้วิธีการกำจัดอาหารที่กินเข้าไปโดยการล้วงคอให้อาเจียน หรือใช้ยาถ่าย หรือออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อเผาผลาญพลังงาน บางคนก็ใช้วิธีอดอาหารเป็นช่วงๆ

คนไข้เหล่านี้ดูภายนอกจึงไม่ผอมกว่าปกติอย่างเด่นชัดเหมือนพวกแรก มักมีประวัติติดสุรา ยาเสพติด มีปัญหาทางเพศ รวมทั้งมีปัญหาชอบขโมยของในห้างสรรพสินค้า

โรคนี้พบมากในยุโรป อเมริกา ส่วนใหญ่เป็นหญิงสาว พบได้ราวร้อยละ 1-3 มักจะเป็นผู้มีฐานะปานกลางถึงสูง บางครั้งคนไข้กลุ่มนี้ต้องเสียเงินจำนวนมากในการซื้ออาหารมากินแบบไม่สามารถยับยั้งตัวเองได้ บางรายใช้เงินค่าอาหารถึงวันละ 100 ดอลลาร์

การที่ต้องล้วงคอให้อาเจียนบ่อยๆ ทำให้กรดในกระเพาะออกมา ซึ่งจะทำให้ฟันผุกร่อนลงเร็วกว่าปกติ จนบางครั้งทันตแพทย์เป็นผู้พบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จากการทำฟันบ่อยๆ นั่นเอง นอกจากนั้น การสูญเสียกรดในกระเพาะก็ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง หรือเกิดภาวะขาดเกลือแร่ในร่างกาย

สำหรับการรักษาโดยจิตแพทย์ มักจะได้ผลดีราวร้อยละ 80 ผู้ป่วยสามารถควบคุมการกินอาหารได้หลังการบำบัด

3. ผู้ป่วยอีกพวกหนึ่งเรียกว่า Binge Eating Disorder หรือโรคกินมากเกินไป คือ ในบางคราวกินอาหารมากโดยไม่สามารถยับยั้งได้ คนไข้ต้องมีอาการกินไม่ยั้ง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป ติดต่อกันนาน 6 เดือน จึงจะจัดเข้าในกลุ่มนี้ แต่อาการจะเบากว่าสองพวกแรก และพบได้บ่อยกว่า

คนกลุ่มนี้ไม่ได้พยายามกำจัดอาหารออก จึงมักจะอ้วน และอาจจะพัฒนาเป็นโรคบูลีเมียต่อมาก็ได้ มักพบในเพศหญิงมากกว่าชาย การรักษาโดยการทำจิตบำบัดร่วมกับการให้ยาลดความอยากอาหาร

โรคในกลุ่มแรกเป็นโรคที่รักษายาก ได้ผลไม่ดีนัก แต่ในกลุ่มที่ 2 และ 3 จะได้ผลดี โดยการทำจิตบำบัด ซึ่งจิตแพทย์จะช่วยแก้ไขความคิดและพฤติกรรมต่างๆ ในการกินให้ถูกต้อง วิธีการเรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy (CBT)

เนื่องจากความผิดปกติอยู่ที่ความคิด ความยึดติดในอาหาร ดังนั้น จึงมีจิตแพทย์และนักจิตบำบัดหลายท่านหันมาใช้การเจริญสติในการรักษาคนไข้เหล่านี้

มีนักจิตวิทยาท่านหนึ่งที่สนใจและศึกษาวิจัยเรื่อง การเจริญสติในความผิดปกติในการกิน คือ ดร.จีน คริสเตลเลอร์ (Jean L. Kristeller) ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนาสเตท ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยหญิงโรคอ้วน ซึ่งมีความผิดปกติในการกินแบบBinge 18 ราย อายุ 25-62 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 238.4 ปอนด์ ดัชนีมวลกาย 40-33 โดยใช้เวลาฝึกการเจริญสติ 6 สัปดาห์ พบว่า ทำให้การควบคุมการกินอาหารมากเกิน จากสัปดาห์ละ 4.2 ครั้ง ลดลงเหลือ 1.57 ครั้ง คะแนนการวัดผลจาก 31.69 ลดลงเหลือ 15.08 ซึ่งแสดงว่า การเจริญสติได้ผลดีในการช่วยลดอาการอยากอาหารที่ยับยั้งไม่ได้

สำหรับวิธีการนั้น ประกอบด้วย การฝึกการเจริญสติทั่วไปในอิริยาบถต่างๆ เช่น การเดิน การนั่ง การทำอานาปานสติ ต่อมาจึงฝึกการเจริญสติในการกิน ฝึกกำหนดรู้ในเวลาที่มีความอยากอาหารเกิดขึ้น กำหนดรู้ในรส กลิ่น สี ของอาหาร โดยใช้เวลาฝึก 6 สัปดาห์

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมการเจริญสติในการกินเกิดขึ้นมากมาย เช่น โปรแกรมการเจริญสติในการกิน ของศูนย์การเจริญสติ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย โปรแกรมการเจริญสติในการกินของมหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน เป็นต้น รวมทั้งองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงกำไร หรือสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ก็มีโปรแกรมเหล่านี้ ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลโดย search คำว่า google.com/mindful eating ก็จะพบข้อมูลมากมาย

ศาสตราจารย์จีน คริสเตลเลอร์ จบปริญญาตรีด้านจิตวิทยา จากวิทยาลัยสวาร์ทมอร์ ปี 1974 และจบด้านด้านจิตวิทยาคลินิค ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเยล ในปี 1983

ต่อมาเธอศึกษาระดับหลังปริญญาเอก ด้านระบาดวิทยาและเวชศาสตร์ป้องกัน ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ โดยศึกษาเกี่ยวกับความผิดปกติของการกิน จากนั้นก็ทำงานเป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยอินเดียนาสเตท ตามลำดับ ตำแหน่งสุดท้าย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเรื่องสุขภาพ ศาสนาและจิตวิญญาณ มหาวิทยาลัยอินเดียนาสเตท

เธอสนใจและศึกษาวิจัยในเรื่องของจิตวิทยาสุขภาพ โรคอ้วน การสูบบุหรี่ โรคมะเร็ง พฤติกรรมบำบัดในโรคต่างๆ รวมทั้งการนำสมาธิบำบัด การเจริญสติมาใช้ในการรักษาโรค เธอเป็นผู้คิดหลักสูตรการเจริญสติในการกิน (Mindfulness- Based Awareness Eating Program) เพื่อใช้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการกิน ร่วมกับศาสตราโจน คาแบค ซิน เมื่อ 15 ปีก่อน

นอกจากเป็นนักวิชาการด้านจิตวิทยาแล้ว เธอมีความสนใจปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนามายาวนาน และมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ เช่น พุทธศาสนาและจิตวิทยา การเจริญสติกับการกิน บทบาทของจิตวิญญาณต่อสุขภาพ รวมผลงานตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง

ในปี 2005 เธอได้ร่วมกับนักวิชาการที่สนใจเรื่องการเจริญสติ ก่อตั้งศูนย์การเจริญสติในการกิน (Center of Mindful Eating) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อทำกิจกรรมฝึกอบรมให้แก่ประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์

ท่านผู้อ่านอาจเข้าไปดูข้อมูลของเธอได้ ในเว็บของศูนย์การเจริญสติในการกิน www.tcme.org/board และฟังคำบรรยายใน www.youtube.com/ Food Addiction : Treating through Mindfulness Awareness. ก็จะได้ความรู้มากมาย


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)

ศาสตราจารย์จีน คริสเตลเลอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น