ศูนย์ข่าวศรีราชา - คลินิกเบาหวาน รพ.สิริกิติ์ ปิดค่ายรวมใจต้านภัยเบาหวาน รุ่นที่ 5 เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสมาชิกค่ายเบาหวาน
วันนี้ (24 ก.ย.) ณ อาคารบริการระบบสุขภาพ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พล.ร.ต.คณิน ชุมวรฐายี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นประธานปิดโครงการค่ายร่วมใจ ต้านภัยเบาหวาน แบบไม่พักแรม รุ่นที่ 5 พร้อมมอบรางวัลชนะเลิศให้แก่ผู้พิชิตเบาหวาน โดยมีหัวหน้ากลุ่มงานอายุรเวชกรรมฯ คณะดำเนินงาน และสมาชิกค่ายเบาหวาน ร่วมปิดโครงการ
น.อ.หญิง นงลักษณ์ สิงห์โกวินท์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรเวชกรรมฯ กล่าวว่า คลินิกเบาหวาน กลุ่มงานอายุรเวชกรรมฯ ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพของโรงพยาบาลฯ ได้ร่วมกันจัดโครงการค่ายเบาหวานแบบไม่พักแรม รุ่นที่ 5 ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนัก และยอมรับต่อโรคเบาหวาน โดยอาศัยพลังกลุ่มจากการทำ Self Help Group ในการทำให้เกิดการเหนี่ยวนำคล้อยตามจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 60 คน เป็นสมาชิกรวมตั้งแต่รุ่นแรก จนถึงรุ่นที่ 4 ซึ่งส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 8% และบางรายเริ่มมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว หลายรายต้องใช้ทั้งยากิน และยาฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมเบาหวาน
จากการจัดโครงการดังกล่าว สร้างความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสมาชิกค่ายเบาหวาน ซึ่งถ้าสมาชิกเบาหวานปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องจะทำให้สมาชิกเบาหวานสามารถลด และชะลออัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนทั้งเฉียบพลัน และเรื้อรัง พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายจากการเกิดโรคแทรกซ้อน และจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากยิ่งขึ้น
พล.ร.ต.คณิน กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการคุมเบาหวานไม่ดี จะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญของระบบหลอดเลือดต่างๆ หลายระบบ ซึ่งจะทำให้ผู้เป็นเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี และระดับความสุขลดลง
อีกทั้งจะทำให้เกิดผลกระทบอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย เพิ่มภาระของผู้ดูแล ซึ่งการควบคุมเบาหวานให้ดี และให้ได้ในระยะยาวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก มนุษย์กับการควบคุมการกินเป็นเรื่องยากต้องใช้ความอดทนสูง และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า
อีกทั้งการออกกำลังกายก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่มนุษย์หลายคนไม่ขยันออกกำลังกาย หากแต่ละคนต่างฝ่ายต่างปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามลำพัง หลายคนต้องท้อใจ และเกิดความล้มเหลวตามมา จนส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ เราจึงต้องอาศัยการรวมพลังกลุ่มมาเป็นแรงสนับสนุน เช่น การจัดค่ายมาช่วยเพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกัน และมีความมั่นใจในการดูแลตัวเอง ทำให้ผู้เป็นเบาหวาน และผู้ดูแลได้รับการเสริมพลังอำนาจ และเกิดความตระหนักต่อโรค อันจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดีในที่สุด