เรื่องการประพฤติปฏิบัติส่วนมาก นักปฏิบัติจะเห็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องว่า ปฏิบัติแล้วไม่สงบ อยากสงบ บางครั้งบางคราวเคยได้รับความสงบ จิตใจได้รับความสงบ ก็อยากจะให้ความสงบนั้นเกิดขึ้นอีก ทำกรรมฐานทีไรก็อยากจะสงบอย่างนั้นอีก
พอมันไม่เป็นไปตามความปรารถนา ก็ยิ่งเกิดความวุ่นวายใจ เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความเบื่อหน่าย ท้อถอยต่อการที่จะฝึกหัด ต่อการที่จะประพฤติปฏิบัติ
ทำไมบุคคลจึงเกิดความฟุ้งซ่านมากขึ้น ทำไมจึงเกิดความท้อถอยมากขึ้น นั่นเพราะมีความอยาก มันเป็นตัณหาเข้ามาในการปฏิบัติ เคยได้รับความสงบแล้วก็ทำ เกิดความติดใจ เกิดความอยากที่จะให้จิตใจอยู่ในความสงบ เป็นตัณหา เป็นโลภะที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติ
ความอยากในที่นี้ไม่ใช่อยากได้เงินได้ทอง ไม่ได้อยากที่จะต้องการยศลาภชื่อเสียงอะไร แต่ว่าอยากสงบ อยากในธรรมนั่นเอง การอยากมีสมาธิ มันก็ยังเป็นกิเลส ยังเป็นอกุศลอยู่
ความที่อยากนี่แหละมันไปเสริมให้ความไม่สงบกระจายตัวมากขึ้น คือความฟุ้งซ่านจะมีมากขึ้น เพราะว่าไม่สมความปรารถนา
อยากสงบแล้วมันไม่ยอมสงบก็จะเกิดความเดือดดาลใจ เกิดความคับแค้นใจ เกิดความน้อยใจ มันก็เป็นกิเลสอีกชนิดหนึ่ง ประเภทโทสะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ คือฟุ้งซ่าน มันเลยสนับสนุนกิเลสกันใหญ่
ความท้อถอยก็ตามมา เพราะว่ามันไม่ได้อย่างใจ เกิดความท้อถอยเบื่อหน่าย ไม่มีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติ อันนี้ก็เป็นกิเลสเรียกว่า ถีนมิทธะ คือความหดหู่ท้อถอย ความเซื่องซึมท้อถอยของจิตของเจตสิก ท่านจัดเป็นนิวรณ์ข้อหนึ่ง เรียกว่าถีนมิทธะนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้น คือเครื่องกั้นความดีที่จะเกิดขึ้น
ฉะนั้น ต้นเหตุมันก็มาจากความอยาก มาจากความอยากที่จะให้ได้อย่างนั้น จะให้ได้อย่างนี้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ดับที่เหตุ ความทุกข์ทั้งหลายมาจากเหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา ความทะยานอยาก เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การจะแก้ปัญหา การจะดับทุกข์ ก็คือต้องไปแก้ที่เหตุ ต้องทำลายเหตุแห่งทุกข์คือ ตัณหา ความทะยานอยาก อยากมีอยากเป็น อยากในกาม อยากไม่มี อยากไม่เป็น เวลามันมีอารมณ์ไม่ดีเกิดขึ้นก็อยากให้มันหมดไป อยากให้มันสิ้นไป อยากให้มันพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ มันก็เป็นกิเลสเป็นตัณหา
ตัณหามีสามอย่างคือ กามตัณหา ความต้องการติดใจในกามคุณอารมณ์ อยากได้รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่มนวล ส่วนความอยากมีอยากเป็น อยากได้อย่างนั้นอยากได้อย่างนี้เป็น ภวตัณหา กละอยากให้มันไม่มีไม่เป็น สิ่งที่ไม่ชอบใจให้มันไป ให้มันหมดไป ปฏิเสธผลักไสผลักดัน มันก็เป็น วิภวตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ในจิตใจที่วุ่นวายเป็นทุกข์ มันก็มาจากกิเลส มาจากโลภะ มาจากตัณหา ก็ต้องไปดับตัณหาไปทำลายตัณหาให้สิ้นซาก เมื่อเวลาประพฤติปฏิบัติจึงต้องรู้เท่าทันต่อตัณหาที่จะเกิดขึ้น ต้องพิจารณาในจิตใจว่า ขณะนี้มีความทะยานอยากไหม มันมีตัณหาประเภทไหนเกิดขึ้น มีตัณหาเข้ามาแล้วถ้าเราปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ มันไม่สงบดังใจขึ้นมา มันก็จะเกิดความเดือดดาลใจ เกิดความวุ่นวายใจยิ่งขึ้น
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องอ่านจิตใจตัวเองให้ออกว่า ขณะนี้มีตัณหาไหม มีความทะยานอยากไหม ถ้ามีก็ต้องแก้ไข
แก้ไขอย่างไร อันดับแรกก็คือรู้ทัน รู้ลักษณะของตัณหาที่เกิดขึ้นแล้วก็ละวาง ฝึกหัดการเจริญสติสัมปชัญญะให้มันหลุดรอดหลุดพ้นจากตัณหา เรียกว่าให้มันมีความปล่อยวาง ฝึกหัดให้มันมีความปล่อยวาง
ในเบื้องแรกต้องทำความเข้าใจว่า เราจะปฏิบัติอย่างไม่อยากได้อะไร อะไรเกิดขึ้นก็ตาม ก็เป็นเรื่องของเหตุของปัจจัย ของธรรมชาติที่มันจะเกิด มันจะเกิดมันจะดับก็แล้วแต่มัน เราจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ดู เป็นเพียงผู้รู้เท่านั้น จะไม่มีความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
ถ้าจิตใจมันหลุดจากความอยาก จะพบความเบา จะพบความสงบ จิตที่มันมีความขุ่นมัวเศร้าหมอง นั่นเพราะมันมีความอยากเคลือบจิตอยู่ มันเป็นนิสัยปุถุชน มันมีตัณหาติดอยู่ในจิตอยู่เสมอ จะทำอะไรจะคิดอะไรมันจะเป็นไปด้วยความอยากตลอด
ฉะนั้น เรามาปฏิบัติมาฝึกหัดละตัณหา ไม่ให้มันมีความอยาก เจริญกรรมฐานก็ใช้สติสัมปชัญญะระลึกรู้เท่าทันต่อสิ่งต่างๆที่ปรากฏ คือรูปธรรม นามธรรมที่ปรากฏ
ในขณะที่ระลึกรู้รูปนามอยู่นั้น ก็คอยระวังไม่ให้มีตัณหาเข้าไป จะให้มันมีแต่ระลึกอย่างบริสุทธิ์ ไม่มีความอยาก สภาพของจิตมันเป็นอย่างไร มันมีอารมณ์อันใด อารมณ์จะดีก็ตามไม่ดีก็ตาม ก็ทำหน้าที่ระลึกรู้ไปอย่างไม่มีความอยากได้หรืออยากปฏิเสธ
ดูแค่ดู รู้แค่รู้ การเจริญวิปัสสนาต้องฝึกจุดนี้ให้ได้ เป็นส่วนสำคัญ ฝึกหักปฏิบัติไป ดูแลรักษาสภาพของจิตใจไม่ให้มันมีความอยาก มันเผลอเกิดความอยากก็แก้ไขเสีย ปล่อยวางเสีย ฝึกหัดให้มันปล่อยวาง ให้จิตใจมันเป็นธรรมดาให้มันเป็นปกติ ให้มันเป็นเพียงแค่ดู แค่รู้
ถ้าฝึกจิตใจให้มันปลอดจากตัณหาจะพบว่า จิตใจมันพร้อมที่จะเบิกบาน จิตใจมันพร้อมที่จะผ่องใส จิตใจมันพร้อมที่จะปลอดโปร่ง เพราะว่าตามธรรมดาของสภาพจิตเดิม เป็นสภาพที่ประภัสสรอยู่แล้ว คือผ่องใส
แต่นี่มันมาเศร้าหมองขุ่นมัว เพราะมันมีกิเลสจรเข้ามา มีตัณหา มีโทสะ โลภะ โมหะ เข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะตัณหาครอบงำเชื่อมจิตอยู่เสมอ ทำให้จิตใจมันเศร้าหมอง
ถ้าปฏิบัติไม่ต้องไปหวังอะไร เพียงแต่เจริญสติให้มันปลอดจากความอยากได้ ทำไปแค่รู้ ดูไปแค่ดู ไม่มีความทะยานอยาก มีความวางเฉย มีความปล่อยอยู่ ตัวที่มันมีการปล่อยอยู่นั้น มันทำให้หลุดรอดจากความอยาก เราก็จะพบว่า จิตมันผ่องใสขึ้น จะเริ่มรู้ตัวเข้าสู่สภาพความปลอดโปร่งของมัน ผู้ปฏิบัติจะพบได้สังเกตได้...
บางครั้งเราไม่ได้ตั้งใจ นั่งปฏิบัติก็ไม่ได้คิดจะต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการความสงบ ทำไปเฉย ๆ เราจะพบว่า เอ๊ะ.. จิตใจมันทำไมสบาย มันโปร่งมันสงบ นั่นคือปฏิบัติแล้ว ขณะนั้นคือการปฏิบัติที่ทำได้ดี เป็นการปฏิบัติที่ปลอดภัยจากตัณหา ผลมันก็จะเกิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว จิตที่ผ่องใสจิตที่สงบ มันเกิดขึ้นมาโดยที่ผู้ปฏิบัติก็ไม่ได้ตั้งใจ
อันนี้สำหรับผู้ที่ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติอยู่ ก็ย่อมทบทวนการประพฤติปฏิบัติของตัวเองที่ผ่านมาได้ บางครั้งทำนั่งธรรมดาแท้ๆ จิตกลับสงบโปร่งเบา
เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ลองมาฝึกจิตในลักษณะอย่างนั้นดู เวลาเริ่มต้นนั่งปฏิบัติก็ทำเหมือนกับว่าไม่ได้ทำ ปรับปรุงผ่อนทางกายทางจิตให้มีสภาพเหมือนกับว่าไม่ได้ทำ ความเบาใจมันจะเกิดขึ้นให้เห็นได้
ถ้าเกิดความชำนาญขึ้น การปรับปรุงผ่อนการวางท่าทีของสติสัมปชัญญะที่ได้ส่วนที่เป็นกลาง ที่ปลอดจากตัณหานี่ ถ้ามีความชำนาญขึ้น ทำแล้วก็เข้าสู่จุดของความเป็นกลางได้ทันที ก็จะพบความเบาใจไปได้ทันที ไม่ต้องคอยโอกาส
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของหนังสือหยุดใจให้ไร้อยาก)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี) วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา)