Kathmandu Photo Gallery ร่วมมือกับหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เตรียมจัดนิทรรศการภาพถ่ายบางส่วนของพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือพุทธทาสภิกขุ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้แก่ “ช่างภาพชั้นครู” ซึ่งจัดเป็นอันดับที่ 6 ในโครงการของแกลเลอรี่ “ค้นหาครูถ่ายภาพไทย” (Seeking Forgotten Thai Photographers) ที่ประวัติศาสตร์ภาพถ่ายไทยยังมิได้บันทึก
ทั้งนี้ในปี 2515 พุทธทาสภิกขุมีอายุได้ 66 ปี เป็นอริยสงฆ์ผู้มีชื่อเสียง แต่ท่านยังคงปฏิเสธการเอารูปท่านไปเคารพกราบไหว้บูชาในแบบพระขลัง พระศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์เวทมนต์ ซึ่งกำลังเป็นแฟชั่นในเวลานั้น ด้วยท่านมุ่งเน้นให้คนเข้าใจแก่นธรรมของพระพุทธศาสนา ไม่ให้ยึดมั่น ‘ตัวกู-ของกู’
แต่เมื่อเห็นว่าไม่อาจทานกระแสรูปเคารพได้ ท่านพุทธทาสจึงเริ่มโครงการถ่ายภาพตัวเอง โดยอาศัยฉากสถานที่ภายในบริเวณวัดสวนโมกขพลาราม(วัดธารน้ำไหล) จ.สุราษฏร์ธานี และใช้สัญลักษณ์ที่มีอยู่โดยรอบ เช่น รูปปั้นพระโพธิสัตว์ศรีวิชัย, ดอกบัว, กองดิน, แท่นหิน แม้แต่สัตว์เลี้ยงในวัด มาเป็นองค์ประกอบภาพ
บางครั้งก็ใช้ตัวท่านเองล้วนๆแสดงแบบ โดยอาศัยเทคนิคการอัดภาพในห้องมืดในวัด ทำให้เป็นภาพฝาแฝดสองและแฝดสาม (Double or triple prints) เพื่อเกิดเป็นภาพ “ปริศนาธรรม” ชวนให้ผู้ชมภาพต้องคิด ต้องใช้ปัญญาตีความ โดยจะมีบทกลอนธรรมะของท่านแต่งประกอบ ผลงานชุดนี้มีชื่อว่า “บทพระธรรมประจำภาพ”
ผลงานภาพถ่ายและบทกลอนธรรมะจำนวน 423 บท สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของท่านพุทธทาสต่อศิลปะและเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ‘พลังของภาพถ่าย’ เพื่อใช้เผยแผ่ธรรมะ และอาจถือได้ว่านี่คือความคิดที่มาก่อนกาลเวลา ในยุคที่วงการศิลปะไทยยังไม่รู้จักคำว่า “Conceptual art” หรือ “Conceptual photography”
ภาพที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้อัดขยายจากต้นฉบับหนังสือ “บทพระธรรมประจำภาพ” จำนวน 30 ภาพ โดยจะจัดแสดง ณ Kathmandu Photo Gallery เลขที่ 87 ถนนปั้น (ใกล้วัดแขก) สีลม กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2556 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2234-6700
อนึ่ง พุทธทาสภิกขุ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ท่านเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ
ท่านได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาต่างๆจากสถานศึกษาหลายสถาบัน อาทิ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากนี้ หนังสือแก่นพุทธศาสน์ ที่ท่านเขียนขึ้น ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีประจำปี พ.ศ.2508 จากองค์การยูเนสโก
และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)