• นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือชั้นครู “พุทธทาสภิกขุ” บทพระธรรมประจำภาพ ปริศนาธรรมจากสวนโมกข์
Kathmandu Photo Gallery ร่วมมือกับหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เตรียมจัดนิทรรศการภาพถ่ายบางส่วนของพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือพุทธทาสภิกขุ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้แก่ “ช่างภาพชั้นครู” ซึ่งจัดเป็นอันดับที่ 6 ในโครงการของแกลเลอรี่ “ค้นหาครูถ่ายภาพไทย” (Seeking Forgotten Thai Photographers) ที่ประวัติศาสตร์ภาพถ่ายไทยยังมิได้บันทึก
ทั้งนี้ในปี 2515 พุทธทาสภิกขุมีอายุได้ 66 ปี เป็นอริยสงฆ์ผู้มีชื่อเสียง แต่ท่านยังคงปฏิเสธการเอารูปท่านไปเคารพกราบไหว้บูชาในแบบพระขลัง พระศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์เวทมนต์ ซึ่งกำลังเป็นแฟชั่นในเวลานั้น ด้วยท่านมุ่งเน้นให้คนเข้าใจแก่นธรรมของพระพุทธศาสนา ไม่ให้ยึดมั่น ‘ตัวกู-ของกู’
แต่เมื่อเห็นว่าไม่อาจทานกระแสรูปเคารพได้ ท่านพุทธทาสจึงเริ่มโครงการถ่ายภาพตัวเอง โดยอาศัยฉากสถานที่ภายในบริเวณวัดสวนโมกขพลาราม(วัดธารน้ำไหล) จ.สุราษฏร์ธานี และใช้สัญลักษณ์ที่มีอยู่โดยรอบ เช่น รูปปั้นพระโพธิสัตว์ศรีวิชัย, ดอกบัว, กองดิน, แท่นหิน แม้แต่สัตว์เลี้ยงในวัด มาเป็นองค์ประกอบภาพ
บางครั้งก็ใช้ตัวท่านเองล้วนๆแสดงแบบ โดยอาศัยเทคนิคการอัดภาพในห้องมืดในวัด ทำให้เป็นภาพฝาแฝดสองและแฝดสาม (Double or triple prints) เพื่อเกิดเป็นภาพ “ปริศนาธรรม” ชวนให้ผู้ชมภาพต้องคิด ต้องใช้ปัญญาตีความ โดยจะมีบทกลอนธรรมะของท่านแต่งประกอบ ผลงานชุดนี้มีชื่อว่า “บทพระธรรมประจำภาพ”
ผลงานภาพถ่ายและบทกลอนธรรมะจำนวน 423 บท สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของท่านพุทธทาสต่อศิลปะและเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ‘พลังของภาพถ่าย’ เพื่อใช้เผยแผ่ธรรมะ และอาจถือได้ว่านี่คือความคิดที่มาก่อนกาลเวลา ในยุคที่วงการศิลปะไทยยังไม่รู้จักคำว่า “Conceptual art” หรือ “Conceptual photography”
ภาพที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้อัดขยายจากต้นฉบับหนังสือ “บทพระธรรมประจำภาพ” จำนวน 30 ภาพ โดยจะจัดแสดง ณ Kathmandu Photo Gallery เลขที่ 87 ถนนปั้น (ใกล้วัดแขก) สีลม กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2556 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2234-6700
อนึ่ง พุทธทาสภิกขุ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ท่านเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ
ท่านได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาต่างๆจากสถานศึกษาหลายสถาบัน อาทิ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากนี้ หนังสือแก่นพุทธศาสน์ ที่ท่านเขียนขึ้น ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีประจำปี พ.ศ.2508 จากองค์การยูเนสโก
และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์
• มจร.เตรียมจัดประชุมใหญ่ “วิสาขบูชาโลก”
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) เปิดเผยถึงการเตรียมจัดงานวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.2556 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยมีชาวพุทธจาก 85 ประเทศ จำนวน 1,200 รูป/คน เข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองครั้งนี้
สำหรับการเฉลิมฉลองนั้น วันแรกเป็นพิธีเปิดงานด้วยการสวดมนต์หมู่นานาชาติเพื่อสันติภาพโลก ทั้งมหายาน เถรวาท และวัชรยาน การกล่าวปาฐกถาพิเศษ การอภิปรายร่วมระหว่างนักวิชาการจาก 5 ทวีปในหัวข้อ "การศึกษากับความเป็นพลเมืองโลก: มุมมองของพระพุทธศาสนา"
ในวันที่สองเป็นการกล่าวสุนทรพจน์จากผู้นำประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ไทย ศรีลังกา องค์การสหประชาชาติ และองค์การยูเนสโก และการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระชันษาครบ 100 ปี โดยฉายวิดีทัศน์พระประวัติ และการเสวนาทางวิชาการ เรื่องพระสงฆ์กับการส่งเสริมการศึกษาและคุณค่าความเป็นมนุษย์ หลังจากนั้นจะเป็นการประกาศปฏิญญากรุงเทพ ว่าด้วยการใช้หลักพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้สอดรับกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ที่เน้นการพัฒนาพลเมืองโลกให้สามารถพัฒนาตัวเอง และอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี และเคารพคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ปิดท้ายด้วยการที่ชาวพุทธทั่วโลกเดินทางไปร่วมพิธีสวดมนต์หมู่ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช และธรรมยาตรา เวียนเทียน ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม
• นครราชสีมาจัดฉลอง“วิสาขบูชา พุทธบารมี” ปี 56
คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา กองทัพภาคที่ ๒ ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา บริษัท เดอะมอลล์ ราชสีมา จำกัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครราชสีมา ร่วมจัดกิจกรรม “วิสาขบูชา พุทธบารมี” ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2556 ณ ห้องเอ็มซีซีฮอลล์ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ รวมทั้งร่วมสืบสานพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสืบไป ตามแนวคิด “รักษาธรรม รักษาไทย แทนคุณแผ่นดิน”
สำหรับกิจกรรมธรรมที่จัดขึ้นตลอดกว่า 30วัน ประกอบด้วย การเวียนเทียนบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ธรรมบรรยายจากพระนักเทศน์ชื่อดัง อาทิ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต วัดสร้อยทอง พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต ฯลฯ นิทรรศการสัมมาสติ การเจริญสติ และเดินจงกรม ทุกวัน เวลา 18.00 น. และสุดพิเศษกับการประกวดภาพยนตร์สั้น Visakha Short Film Contest 2013 หัวข้อ เมล็ดพันธุ์แห่งคุณธรรม ตอน กล้าบุญ – กลัวบาป และอีกหลากกิจกรรมบุญอันเป็นกุศล
• ชาวญี่ปุ่นส่งคืนพระพุทธรูปล้ำค่า สมัย ร.3-5
นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้รับแจ้งจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ว่า นางโทชิโกะ อุรุชิมะ ชาวกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ประสานมายังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ว่ามีความประสงค์ขอส่งคืนพระพุทธรูปจำนวน 18 องค์ ซึ่งบิดาของสามีได้ซื้อมาจากร้านขายโบราณวัตถุ ขณะนี้สามีของนางได้เสียชีวิตแล้ว จึงต้องการคืนพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ให้แก่ประเทศไทย
นายสหวัฒน์กล่าวว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดของพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ พบว่า เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะผสมลงรักปิดทอง มีเพียง 2 องค์ที่ถูกทาทับด้วยสีใหม่ แต่เมื่อพิจารณาลักษณะพุทธศิลป์ สามารถจำแนกเป็นกลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ จำนวน 10 องค์ ประกอบด้วย พระยืนปางห้ามสมุทร 8 องค์ พระปางห้ามพระแก่นจันทน์ และพระปางมารวิชัย โดยอายุพระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ในราวรัชกาลที่ 3-5 และมีหลายองค์ที่มีพระพักตร์อย่างหน้าหุ่น ซึ่งเป็นที่นิยมมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1-2 ด้วย
2. กลุ่มพระพุทธรูปครองจีวรลายดอก จำนวน 5 องค์ ประกอบด้วย พระปางห้ามสมุทร 2 องค์ พระปางสมาธิ 2 องค์ และพระยืนปางอุ้มบาตร ซึ่งมีอายุราวรัชกาลที่ 4-5 ทั้งนี้การสร้างพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกเป็นที่นิยมมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
3. พระพุทธรูปปางมารวิชัย มีลักษณะพิเศษคือ รอบฐานทำเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมาก พระมาลัยโปรดสัตว์นรก มีลักษณะพิเศษคือ รอบฐานทำเป็นรูปสัตว์นรก และพระสาวกนั่งพนมมือ ทั้ง 3 องค์นี้มีอายุสมัยรัชกาลที่ 3-5
พระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ นับเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่ามาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปทรงเครื่องและครองจีวรลายดอก จัดเป็นพุทธศิลป์แบบพระราชนิยม ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยาก และมีเหลืออยู่ไม่มากนักตามวัดต่างๆ จึงสมควรอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกชาติต่อไป
• คณะสงฆ์จังหวัดร่วมขับเคลื่อน โครงการกาฬสินธุ์คนดี สุขภาพดี
คณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ได้จัดการประชุมพระสังฆาธิการ เพื่อขับเคลื่อนโครงการ กาฬสินธุ์คนดี สุขภาพดี รายได้ดี เพื่อให้พระสังฆาธิการมีความรู้ ความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานและร่วมขับเคลื่อนโครงการฯนี้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นประธานในพธีเปิดการประชุม ได้กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลของจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องเหล้าเบียร์ของคนกาฬสินธุ์ มียอดสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2555 มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท นอกจากนั้น การดื่มสุรายังเป็นต้นเหตุการทะเลาะวิวาทและอุบัติเหตุด้วย
จังหวัดกาฬสินธุ์จึงได้ประกาศวาระงดเหล้างานศพทั้งจังหวัด ภายใต้โครงการ กาฬสินธุ์คนดี สุขภาพดี รายได้ดี ซึ่งเป็นโครงการฯที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันจึงจะประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ให้ชาวกาฬสินธุ์ปลอดเหล้างานศพ จังหวัดกาฬสินธุ์จึงได้ขอความร่วมมือพระสงฆ์ในการเทศนาสั่งสอนประชาชน และขอความร่วมมืองดสวดในงานศพที่ไม่ปลอดเหล้า
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)