xs
xsm
sm
md
lg

อาลัยยิ่ง “ครูชบ ยอดแก้ว” ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้ก่อตั้ง “สัจจะวันละ 1 บาท”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความชราได้พราก “ครูชบ” ไปสู่ภพภูมิใหม่แล้วในวันนี้ (1 พ.ค.) ด้วยโรคลมปัจจุบัน สิริอายุได้ 78 ปี ญาติได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านพัก หมู่ 3 ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ด้วยคุณงามความดีมากมายคณานับที่ “ครูชบ” ได้สร้างไว้ มิอาจบรรยายได้หมด “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ได้หยิบยกประวัติ และผลงานของ ครูชบ ปราชญ์ชาวบ้านอย่างแท้จริง เพื่อร่วมรำลึกในคุณงามความดีของ “ครูชบ” สืบไป

ครูชบ ยอดแก้ว เกิดวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2478 ในครอบครัวชาวนายากจน ของตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เนื่องจากครอบครัวมองการณ์ไกล แทนที่จะให้ทำนาตามรอยบรรพบุรุษ กลับส่งเสริมให้เขาร่ำเรียนจนได้รับราชการครู จบการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยครูสงขลา เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จนเกษียณราชการ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ท่านได้ใช้ความรู้ความคิดในการแก้ปัญหาชุมชนด้วยความทุ่มเท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการออมและสวัสดิการชุมชน จนเป็นแบบอย่างของงานพัฒนาให้แก่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ ได้รับยกย่องตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ

นายชบ ยอดแก้ว เริ่มแนวคิดด้วยการจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ตำบลน้ำขาว และพัฒนาแนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์ชุมชน จนสามารถกอบกู้เศรษฐกิจชุมชนของตำบลน้ำขาว และพื้นที่ใกล้เคียงให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ ซึ่งต่อมา แนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในชุมชนทั่วประเทศ องค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงของ นายชบ ยอดแก้ว ได้ถูกประมวลเป็นหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ชุมชนพึ่งตนเอง และได้รับการผลักดันเป็นนโยบายรัฐ โดยคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้สถาบันอุดมศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำหลักสูตรขยายผลต่อไป

จากความรู้ประสบการณ์ทำงานที่เป็นที่ยอมรับของสังคม นายชบ ยอดแก้ว จึงได้รับตำแหน่งหน้าที่ และรางวัลต่างๆ มากมาย ตำแหน่งสำคัญที่ได้รับ เช่น ประธานกลุ่มออมทรัพย์เครือญาติ ตำบลน้ำขาว ผู้จัดการสมาคมฟื้นฟูหมู่บ้านชนบทสงขลา ประธานคณะกรรมการอำนวยการ “กองทุนหมุนเวียนชาวบ้านสงขลา” ประธานสภาวัฒนธรรม จังหวัดสงขลา กรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

 
รับรางวัลที่สำคัญแห่งความภาคภูมิใจของ “ครูชบ”

พ.ศ.2527 ได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารการศึกษาดีเด่น รับแหวนเสมาทองคำพร้อมเกียรติบัตรจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และในปีเดียวกัน ได้รับเลือกให้เป็นข้าราชการตัวอย่างของกระทรวงศึกษาธิการ รับโล่พร้อมเกียรติบัตรจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ.2531 ได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการดีเด่น 4 กระทรวงหลักของจังหวัด รับโล่จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และงานด้านศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ รับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พ.ศ.2534 ได้รับพระราชทานโล่ด้านวัฒนธรรมดีเด่น สาขาพัฒนาท้องถิ่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับเลือกเป็น “คนดีศรีสังคม” ประจำปี พ.ศ.2534 รับโล่จากอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี

พ.ศ.2535 ได้รับการคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของวิทยาลัยครูสงขลา ในวาระครบ 100 ปี ของกรมการฝึกหัดครู รับโล่จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ.2538 ได้รับรางวัลพระราชทานรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้อุทิศตนทำประโยชน์แก่ชุมชน และอนุชนรุ่นหลัง

พ.ศ.2539 ได้รับคัดเลือกเป็นครอบครัวประชาธิปไตยตัวอย่าง จากสำนักนายกรัฐมนตรี รับโล่จาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

พ.ศ.2541 ด้านวัฒนธรรมรับพระราชทานเข็ม ภปร. จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พ.ศ.2544 มีผลงานทางภูมิปัญญาไทยเรื่อง “เศรษฐศาสตร์ชุมชน” รับพระราชทานเข็มเครื่องหมายครูภูมิปัญญาไทย จากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ครั้งหนึ่งชาวบ้านที่ตำบลน้ำขาว เคยรวมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของกรมพัฒนาชุมชน แต่ก็เจอปัญหา ครูชบ จึงได้คิดค้นวิธีการช่วยเหลือชาวบ้าน จนสามารถตั้งเป็นกลุ่มสะสมทรัพย์ที่เป็นการออมทรัพย์แบบพัฒนา ครบวงจรชีวิต ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการออมทรัพย์ประเภทนี้ ซึ่งใครเป็นสมาชิกก็ได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า แต่เน้นการออมเป็นหลัก โดยสมาชิกจะต้องออมกับกลุ่มเดือนละ 1 ครั้ง จากนั้นนำเงินออมที่ได้ไปให้สมาชิกกู้ สิ้นปีนำผลกำไรมาแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน ครึ่งหนึ่งปันผลให้สมาชิก อีกครึ่งหนึ่งนำมาเป็นกองทุนสวัสดิการ ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย

ความสามารถของ ครูชบ ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือในการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้าน แต่ยังสามารถสร้างหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ชุมชน จนเป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ ผู้มีความคิดนี้ไปตั้งกลุ่มสะสมทรัพย์จนประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือฆราวาส

 
ครูชบ คือ ผู้ก่อตั้ง โครงการ “สัจจะวันละหนึ่งบาท”

โครงการสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2547 และดำเนินการจริงจังตั้งแต่ต้นปี 2548 โดยมีกลไกปฏิบัติการ และขับเคลื่อนจาก มูลนิธิครูชบ ยอดแก้ว ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนภาคใต้ (ศรช.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการประสานงานของ สวรส.ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ และ UNDP ทำหน้าที่เป็นกลไกให้ความรู้แก่ประชาชน ติดตาม ประเมิน และสนับสนุนการดำเนินการตามลำดับ

การออมทรัพย์เพียงวันละ 1 บาท เพื่อสวัสดิการชุมชน นับเป็นรูปแบบของการออมทรัพย์ที่เป็น “นวัตกรรม” ใหม่ของสมาชิกในชุมชน ที่สามารถใช้เงินเป็นเครื่องมือในการรวมทุนชุมชน และบูรณาการอย่างเป็นระบบ สู่มิติใหม่ของการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม โดยสมาชิกในชุมชน ทุกเพศ ทุกวัย ร่วมใจกัน “ออมเพื่อให้” แล้วจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้น เมื่อสมาชิกในชุมชนเดือดร้อน หรือมีเหตุอันพึงได้รับการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาด้านเกิด แก่ เจ็บ ตาย การศึกษา พัฒนาอาชีพ รวมถึงด้านสุขภาพอนามัย ก็สามารถจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกได้ทันที นับว่าเป็นการสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงของคนในชุมชน ทำให้เกิดความ “เอื้ออาทร” ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เกิดมิติของ “การให้อย่างมีคุณค่า และการยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรี”

ฐานคิดสำคัญที่สุดของกิจกรรมสัจจะวันละ 1 บาท คือ การตั้งตนอยู่ในศาสนธรรมที่ชื่อว่า “สัจจะ” ซึ่งเป็นคุณธรรมที่มนุษย์ทุกคนควรมี ควรสร้างให้เกิดขึ้นในตนเอง เป็นคุณธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้พสกนิกรของพระองค์ได้เรียนรู้ ได้ตระหนัก และได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2525 ณ ท้องสนามหลวง ในพระราชพิธีบวงสรวง สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า โดยทรงอธิบายให้เห็นชัดเจน ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ

“คือการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น คือการอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจ สุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด คือการรู้จักสละความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง”

องค์ความรู้ของ ครูชบ ยอดแก้ว ได้บูรณาการจากการศึกษาทั้งใน และนอกระบบ สามารถเชื่อมโยง และบริหารจัดการองค์ความรู้หลายด้านมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน ทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ตระหนัก และดำรงตนอย่างมีศักดิ์ศรี จึงกล่าวได้ว่า นายชบ ยอดแก้ว เป็นปราชญ์ในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น