xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : ธรรมเดินทาง ณ ทางเดินธรรม (จบ) ปลายทางสุดท้ายที่กุสินารา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ คือ “สารนาถ” หรือในสมัยพุทธกาลเรียกว่า “ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน” อยู่ในเขตกรุงพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลายนั่นเองครับ

แท้จริงแล้ว “สารนาถ” มีความหมายว่า “สวนกวาง” กร่อนมาจากคำว่า “สารังคนาถ” คำว่า "สารังค" หมายถึง กวาง รวมเข้ากับคำว่า "นาถ" แปลว่า ที่พึ่ง รวมหมายถึงสวนอันเป็นที่พึ่งของกวาง คือเป็นที่อยู่อาศัยของกวาง ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับคำว่า มฤคทายวัน หรือป่าที่เป็นที่อภัยแก่เนื้อกวาง

ภายในบริเวณสารนาถมี “ธัมเมกขสถูป” เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด สันนิษฐานว่า บริเวณที่ตั้งของธัมเมกขสถูปเป็นสถานที่ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาและประกาศพระสัจธรรมเป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์

ย้อนกลับไปหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานราว ๓๐๐ กว่าปี ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กลุ่มสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาและพระธรรมเทศนาอื่นๆ รวมทั้งหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้าได้รับการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมครั้งใหญ่ เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์สถานแก่พระพุทธองค์ ดังปรากฏหลักฐานในบันทึกของพระถังซำจั๋ง ซึ่งได้จาริกมาที่นี่ราว พ.ศ.๑๓๐๐ ว่า“มีพระอยู่ประจำ ๑,๕๐๐ รูป มีพระสถูปสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร มีเสาศิลาจารึกรูปหัวสิงห์และสิ่งอัศจรรย์อีกมากมาย”

สถานที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อกษัตริย์โมกุลเข้าปกครองอินเดีย กระทั่งท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง และได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบันนี้

สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ เป็นดินแดนแห่งการอาลัยของพุทธศาสนิกชนทั่วทุกมุมโลก ณ “กุสินารา” แห่งนี้ ในสมัยพุทธกาลเป็นเมืองเอกหนึ่งในสองของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมืองปาวา เป็นที่ตั้งของ “สาลวโนทยาน” หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธองค์ มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “มาถากุนวะระกาโกฏ” ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ

พระพีรานุวัฒน์ อริยานุวัตโต พระธรรมทูตอาสา สายอินเดีย ได้เมตตาอธิบายสาเหตุที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเลือกปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ว่ามีเหตุอยู่ ๓ ประการ ดังนี้

๑. พระองค์ต้องการที่จะตรัสพระสูตร ซึ่งไม่สามารถเล่ายังสถานที่อื่นได้นอกจากเมืองกุสินารา โดยจะเล่าถึงเมื่อครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อพระองค์ได้เล่าอย่างนี้แล้ว ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาพระสูตรที่ชื่อว่า "สุทโทนะสูตร" จนเข้าใจ ก็จะเชื่อในอานิสงส์แห่งการให้ทาน การรักษาศีล และการฝึกฝนตนเอง

๒. พระองค์ต้องการมาโปรดสาวกองค์สุดท้าย ชื่อว่า “สุภัททะ” เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ อยู่ในเมืองกุสินารา ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก สุภัททะเป็นพุทธเวไนย ไม่ใช่สาวกเวไนย (ได้ฟังธรรมจากพระสาวก) พุทธเวไนยคือต้องฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะได้บรรลุธรรม พระองค์จึงมาโปรดสุภัททะ ถ้าพระพุทธเจ้าไปปรินิพพานที่เมืองอื่น สุภัททะจะไม่มีโอกาสได้เจอกับพระพุทธเจ้า

๓. ถ้าไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่จะเกิดการแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แล้วจะทำให้เลือดของทหารทั้งหลายไหลหลั่งดั่งสายน้ำ แต่ที่เมืองกุสินาราจะมีพราหมณ์ผู้ใหญ่ ชื่อว่า “โทณพราหมณ์” เป็นผู้ระงับเหตุแห่งการวิวาท และจะเป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เหล่ากษัตริย์ได้ครบถ้วนสมบูรณ์

สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ซึ่งชาวพุทธทั่วโลกให้ความสำคัญในการมากราบสักการบูชาเป็นอย่างมาก

อินเดียนั้นเป็นประเทศที่มีประชาการมากถึง ๑,๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน แต่ขณะนี้เหลือผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเพียง ๐.๐๗% เท่านั้น แท้จริงแล้วศาสนาทุกศาสนานั้นมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอนเหมือนกันหมดครับ ทว่าการล่มสลายของพุทธศาสนาในอินเดียเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ มีเหตุและปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเมืองการปกครอง การแพร่ขยายอาณานิคมทางความศรัทธาของศาสนา ลัทธิอื่น ที่เข้ามา หรือแม้แต่ความไม่ลงรอยกันของภิกษุ นำไปสู่การแตกแขนงออกไปเป็นพุทธศาสนานิกายต่างๆ

ถึงกระนั้นความพยายามของนานาประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ในการจะช่วยกันประคับประคองให้ศาสนาพุทธยังคงดำรงอยู่ ก็ยังดำเนินเรื่อยมาโดยเฉพาะในยุคหลังกึ่งพุทธกาล แต่การมีอยู่ของพุทธศาสนานั้น ล้วนมีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นพลวัตร เน้นเรื่องพิธีกรรม ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ จนหลงลืมไปว่า แก่นแท้ของพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธองค์ จนทำให้อดหวั่นใจไม่ได้ครับว่า ยุคเสื่อมของพุทธศาสนา ใกล้เข้ามาทุกที

“พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ตราบใดที่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกายังคงยึดมั่นในพระธรรมคำสอนที่พระองค์บัญญัติ หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมให้เห็นถึงความเสื่อมไปของร่างกายนี้ต่อเนื่อง ตราบนั้นโลกจะยังไม่ว่างจากพระอรหันต์ ก็แสดงว่าเมื่อยังมีคนปฏิบัติธรรมอยู่ พระพุทธศาสนาก็จะไม่เสื่อมไปจากโลกนี้

แต่ถ้าเมื่อใดคนเลิกปฏิบัติธรรม เลิกสนใจคำสอนของพระองค์แล้ว พระพุทธศาสนาก็ไร้ค่าเหมือนสิ่งที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ สิ่งไหนที่เราไม่อยากใช้เราถือว่าเราทิ้งได้ เป็นของไร้ค่า แต่เมื่อเราอยากได้อยู่ก็ถือว่าเป็นของที่มีคุณค่า เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงฝากพระพุทธศาสนาไว้ให้พวกเราช่วยกันประคับประคองให้ครบตามที่พระองค์ได้ทรงมีพุทธทำนายไว้แล้วว่า ๕,๐๐๐ ปี"
พระมหาดร.สิงขร ปริยติเมธี พระธรรมทูตอาสา สายประเทศอินเดีย ได้ฝากข้อคิดเอาไว้ให้กับคณะท่องเที่ยว ท่องธรรม เป็นการส่งท้าย

คำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ในทุกที่ ตราบใดที่ยังมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตราบนั้น โลกนี้ก็มีคำสอนของพุทธศาสนาอยู่ พระพุทธเจ้าสอนสัจธรรมที่ทำให้เราได้เห็นว่า นี่คือแก่นแท้ของศาสนา ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นสิ่งทำให้เราได้เห็นว่า แท้ที่จริงคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้เรียกว่าศาสนา แต่เรียกว่า “สัจจนิยม” เป็นความจริงโดยธรรมชาติ เป็นความจริงที่มีอยู่คู่กับโลกนี้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แม้จักรวาลมีการเปลี่ยนแปลง แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยังดำรงอยู่

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)
ธัมเมกขสถูป



กำลังโหลดความคิดเห็น