xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : คนแบบไหน ที่ไม่ควรคบเป็นเพื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำว่า มิตร หมายถึง ผู้มีไมตรีต่อกัน มีความหวังดีปรารถนาดีต่อกัน โดยใจความก็ได้แก่ บุคคลผู้เป็นเพื่อนกัน ผู้คบหาสมาคมกันเป็นประจำนั่นเอง

มิตรเป็นผู้ช่วยเหลือเมื่อยามตกอับ แต่มิตรนั้นก็อาจะเป็นผู้ทำลายมิตรได้เช่นกัน

ฉะนั้น เพื่อให้บุคคลเลือกคบมิตรได้ถูกต้อง ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ (สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) พระพุทธองค์จึงทรงแสดงลักษณะของมิตรไว้ ๒ ประเภท คือ มิตตปฏิรูป มิตรเทียม ที่ไม่ควรคบ และสุหทมิตร มิตรแท้ ที่ควรคบ

คำว่า มิตตปฏิรูป (มิตตปฏิรูปกะ หรือมิตรปฏิรูปก์) หมายถึง คนเทียมมิตร คนที่พึงทราบว่าเป็นศัตรูผู้มาในร่างของมิตร หรือเรียกว่า อมิตร คือ มิตรเทียม ผู้ไม่ใช่มิตรแท้ ซึ่งไม่ควรคบมี ๔ จำพวก ได้แก่

๑. คนปอกลอก
๒. คนดีแต่พูด
๓. คนหัวประจบ
๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย


แต่ละจำพวกนั้น ท่านจำแนกลักษณะเฉพาะหรือลักษณะเด่นไว้ ๔ ลักษณะ ดังนี้

• ลักษณะของคนปอกลอก ๔ ประการ

๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒. เสียให้น้อย คิดเอาให้ได้มาก
๓. เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรับทำกิจของเพื่อน
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นประโยชน์ของตัว


คนปอกลอก เรียกตามศัพท์บาลีว่า อัญญทัตถุหระ หรือ หรชน หมายถึงคนที่ขนเอาของเพื่อนไปฝ่ายเดียว มีลักษณะเด่น ๔ ประการคือ

คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว หมายถึง เป็นคนที่มีนิสัยหนักไปทางเห็นแก่ตัว มิได้คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น ว่าจะได้รับความเสียหายเพราะการกระทำของตนแต่อย่างใด

เสียให้น้อย คิดเอาให้ได้มาก หรือ ยอมเสียให้น้อย โดยหวังจะเอาให้มาก หมายถึง การเป็นคนที่เรียกว่า รู้มาก คือเป็นคนที่เอาปรียบคน โดยคบกับใคร ก็จะไม่ยอมขาดทุน คือจะต้องได้ฝ่ายเดียว

เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรีบทำกิจของเพื่อน หมายถึง เป็นคนประเภทที่พอมองเห็นว่า เพื่อนพอจะช่วยให้พ้นจากความเดือดร้อนได้ ก็จะรีบเข้าทำการประจบเอาใจ เพื่อให้เพื่อนช่วย

คบเพื่อนเพราะเห็นประโยชน์ของตัว หมายถึง เป็นคนที่เห็นแก่ผลประโยชน์ที่ได้จากเพื่อน เช่น ได้กำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังความคิด จึงเข้ามาคบหาสมาคมด้วย

• ลักษณะของคนดีแต่พูด ๔ ประการ

๑. เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย
๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
๔. ออกปากพึ่งมิได้


คนดีแต่พูด เรียกตามศัพท์บาลีว่า วจีปรมะ (ผู้มีวาจาเป็นอย่างยิ่ง) หรือ วจีบรม หมายถึง คนที่ชอบแต่พูดโอ้อวดให้เพื่อนศรัทธาเชื่อมั่นในตนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทำไม่ได้ตามที่พูดสักอย่าง เพราะไม่มีความตั้งใจที่จะลงมือทำ มีลักษณะเด่น ๔ ประการ คือ

เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย หมายถึง เป็นคนที่ชอบเก็บเอาเรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้ว โดยที่แก้ไขไม่ได้ มาพูดทบทวนให้เพื่อนรำลึกถึงความหลังที่เคยร่วมกันทำมา หรือลำเลิกบุญคุณกับเพื่อน

อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย หมายถึง ชอบให้ความหวังแก่เพื่อน โดยยกเอาแต่เรื่องอนาคตที่เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นความฝันอย่างเลื่อนลอยมาพูดให้เพื่อนฟังไปวันๆ

สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ หมายถึง เวลาจะช่วยเพื่อนทั้งที ก็ช่วยอย่างเสียมิได้ เอาของที่ไร้ค่าไร้ประโยชน์มาช่วยเพื่อน

ออกปากพึ่งมิได้ หมายถึง เวลาเพื่อนประสบทุกข์ภัย ออกปากขอให้ช่วยเหลือบ้าง ก็จะอ้างเหตุขัดข้องอย่างโน้นอย่างนี้ไปเรื่อย โดยไม่มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ

• ลักษณะของคนหัวประจบ ๔ ประการ

๑. จะทำชั่ว ก็คล้อยตาม
๒. จะทำดี ก็คล้อยตาม
๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ
๔. ลับหลังตั้งนินทา


คนหัวประจบ เรียกตามศัพท์บาลีว่า อนุปิยภาณี (ผู้มีปกติพูดพลอยคล้อยตามให้รัก) หมายถึง คนที่เอาใจหรือตามใจเพื่อนทุกอย่างโดยปราศจากความจริงใจ และมีความเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกอย่างแท้จริง มีลักษณะเด่น ๔ ประการ โดยสองลักษณะแรกคือ

จะทำชั่ว ก็คล้อยตาม จะทำดี ก็คล้อยตาม หมายถึงว่า เมื่อเพื่อนจะทำอะไร ดีหรือชั่วก็ตาม ก็จะเออออห่อหมกไปด้วย เข้ากับลักษณะที่ว่า “ขุนพลพลอยพยัก” ซึ่งส่อให้เห็นถึงความเป็นคนโลเล ไม่เอาธุระการงานของใครอย่างจริงจัง ผู้มีเพื่อนชนิดนี้ต้องระวังให้มาก เพราะเป็นคนที่พึ่งพาไม่ได้เลย

ส่วนสองลักษณะหลัง คือ ต่อหน้าว่าสรรเสริญ ลับหลังตั้งนินทา หมายถึงว่า เป็นเพื่อนที่มีลักษณะกลับกลอก ซึ่งตรงกับคำพังเพยที่ว่า “คนหน้าไหว้ หลังหลอก สามารถบอกได้ว่าเป็นศัตรู” โดยเวลาอยู่ต่อหน้าก็ยกแต่ความดีของเพื่อนขึ้นพูดสรรเสริญ แต่มิได้มีความจริงใจดังคำพูด ครั้นพอไปลับหลัง ก็ขุดเอาแต่เรื่องไม่ดีของเพื่อนซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้างไปนินทาว่าร้าย

• ลักษณะของคนชักชวนในทางฉิบหาย ๔ ประการ

๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา
๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น
๔. ชักชวนเล่นการพนัน


คนชักชวนในทางฉิบหาย หรือเรียกสั้นๆว่า คนชวนฉิบหาย เรียกตามศัพท์บาลีว่า อปายสหายะ (เพื่อนผู้ชวนสู่อบายมุข) หรือ อบายสหาย หมายถึง คนชั่วที่มีอิทธิพลเหนือเพื่อน โดยสามารถชักนำเพื่อนให้ประพฤติชั่วตามตนได้ ซึ่งในที่นี้ ท่านแสดงลักษณะที่เด่นไว้ ๔ ประการ คือ

คอยเป็นเพื่อนดื่ม คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการแสดงต่างๆ และคอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

อนึ่ง ลักษณะคนชักชวนในทางฉิบหายนี้ตรงกับคำกล่าวที่ว่า “เช้าฮา เย็นเฮ ค่ำเซ ดึกสร่าง สว่างซ้ำ” และท่านจัดว่าเป็นเพื่อนที่ก่อให้เกิดความเสียหาย คือมีโทษร้ายแรงต่อผู้คบหามากที่สุด เพราะสามารถชักจูงให้ผู้คบมีพฤติกรรมชั่วมั่วอบายมุขได้อย่างครบวงจรอุบาทว์หรือความชั่วร้ายทั้งหมด ดังนั้น ผู้หวังความเจริญควรหลีกเลี่ยงให้ไกลแสนไกล

(จากหนังสือพุทธธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย แก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
กำลังโหลดความคิดเห็น