แพร : ไม่เอา! ไม่เอา! แพรจะเล่นเป็นพ่อ ถ้าให้เล่นเป็นแม่ ไม่เล่น!!!
ปั้น : เป็นผู้หญิงจะเล่นเป็นพ่อได้ไง? ปั้นเป็นพ่อ แพรเป็นแม่ แล้วไอ้ตุ๊ดตู่เล่นเป็นลูก ก็ถูกแล้วไง รีบ
เหอะน่า! เดี๋ยวไม่ทันไปเที่ยวงานลอยกระทง (เสียงหมาเห่าโฮ่งๆ ครางหงิงๆ) เร็วสิแม่! ลูกเร่งแล้ว!
แพร : ก็เราเล่นสมมติกันไม่ใช่เหรอ? เรายังสมมติให้ตุ๊ดตู่เป็นลูกได้เลย ปั้นก็สมมติว่าเป็นแม่สิ เป็น
แม่น่ะเหนื่อย แม่แพรทำงานทั้งวัน ทำงานข้างนอก ทำกับข้าว ล้างจาน กวาดบ้าน สอนการบ้าน พาแพรไปเรียน
พิเศษ รดน้ำต้นไม้ ซักผ้า รีดผ้า จ่ายกับข้าว อาบน้ำให้ตุ๊ดตู่แล้วก็......
ปั้น : โห! แล้วพ่อแพรไม่ช่วยทำอะไรเลยเหรอ?
แพร : ก็นอนดูทีวี บางทีเล่นคอม อยากได้อะไรแม่ทำให้หมด ถึงอยากเล่นเป็นพ่อไงล่ะ ไม่อยากลำบากเหมือนแม่
ปั้น : ตรงข้ามบ้านปั้น แม่ไม่ต้องทำอะไรเลย พ่อทำหมด
แพร : ตกลงให้แพรเล่นเป็นพ่อนะ
ปั้น : โอ๊เค๋ ปั้นเล่นเป็นแม่ก็ได้
แพร : ไชโยยยยย
ปั้น : แต่แบบแม่ของปั้นนะ ที่ใช้งานพ่อตลอด (ซาวด์เสียงหัวเราะ)
แพร : เฮ้ย!! ขี้โกงนี่!
ปั้น : (ดัดเสียงแม่ ) พ่อจ๊ะ ช่วยเอาผ้าในเครื่องไปตากให้หน่อยซิจ๊ะ อย่าลืมดูดฝุ่นล่ะ แล้วก็ถูพื้น ขัดห้องน้ำ ไปซื้อกับข้าว ตัดหญ้า แล้วก็อย่าลืมเก็บอึนังแพนเค้กด้วยนะ รักนะตัวเอง จุ๊บๆ (ซาวด์เสียงหัวเราะ)
หมอเหมียวชวนคุย
เด็กจับตาและซึมซับการกระทำของพ่อแม่ตลอดเวลา และนำไปเป็นแบบอย่างในการสร้างชีวิตสร้างครอบครัว อยากให้ลูกมีจิตใจช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เอาเปรียบคนอื่น พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกปฏิบัติตามค่ะ
รู้แบบไม่รู้ตัว สำคัญต่อเด็กอย่างไร
ลุงสมพร แซ่โค้ว เป็นชาวบ้านธรรมดาที่จบแค่ป.4 ตั้งวิทยาลัยฝึกลิงตั้งแต่ 17 ปี โดยใช้หลักธรรมคำสอนจากท่านพุทธทาสมาเป็นแนวทางในการฝึกลิง คือจะให้ความรักความเมตตากับลิงก่อนให้ความรู้คือการสอนให้เก็บมะพร้าวโดยไม่ใช้การดุด่าเฆี่ยนตีเลย เพราะการเฆี่ยนตีคือโทสะ เหมือนทำน้ำให้ขุ่นจะไม่เห็นตัวปลา จิตใจไม่สงบก็ไม่เกิดปัญญา พ่อแม่ที่มักใช้วิธีเฆี่ยนตีไป สั่งสอนไป หรือบ่นไปสอนไปจึงมักฝึกลูกไม่ได้ผล เพราะจิตใจเด็กจะเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ ขุ่นเคือง รำคาญ จึงมักต่อต้านคำสั่งสอนของพ่อแม่มากกว่าจะจำเอาไปปฏิบัติ
ครูสมพรจะใช้วิธีฝึกสอนจากง่ายไปยากด้วยแนวคิด “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง สอนให้จำทำให้ดูอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และทำซ้ำๆสม่ำเสมอ” เช่น ก่อนจะสอนลิงให้บิดลูกมะพร้าวก็จะสอนให้หัดถีบลูกมะพร้าวก่อน เมื่อถึงขั้นตอนจะบิดมะพร้าวก็จะใช้เครื่องหมุนมะพร้าวทำให้ลิงดูทุกวัน โดยจะสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้ลิงเห็น รู้จัก และอยู่แต่เฉพาะิลูกมะพร้าวสีน้ำตาล วิธีการสอนของลุงสมพรคือการสอนและทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับลิงดู ลิงก็จะซึมซับ เรียนรู้และทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะฝังแน่นเป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องในตัวลิงและจะทำงานได้อย่างไม่ผิดพลาด การฝึกสอนหรือปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับลูกคน สภาพแวดล้อมและแบบอย่างที่ดีงามของพ่อแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ต่างจากการฝึกลิงเลย
ควรทำ
เด็กที่เห็นพ่อแม่ช่วยเหลือกัน แบ่งงานกันทำ จะสังเกตและจดจำวิธีการที่พ่อแม่ใช้ภายในบ้าน ส่งผลต่อแนวคิดและการเลียนแบบพฤติกรรม
เด็กเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมได้ดีตามความเป็นจริง โดยที่เด็กอาจจะไม่พูดออกมาตรงๆ
สร้างแนวคิดให้เด็กรับรู้ว่า ยิ่งทำงานได้หลายอย่างหมายถึงมีความเก่งหลายด้าน สามารถอยู่ได้ทุกที่ ไม่ว่าจะมีคนช่วยหรือไม่มีก็ตาม
พ่อแม่ควรใกล้ชิด สังเกตการเล่นสมมติของเด็ก ซึ่งจะเป็นภาพสะท้อนการรับรู้และความคิด ว่าเด็กคิดอะไรอยู่ เมื่อเห็นว่าเด็กรับรู้ผิดพลาดเพราะเข้าใจผิด พ่อแม่จะได้ถือโอกาสแก้ไขให้ถูกต้อง
* หัวใจการเลี้ยงดู
ต้นแบบที่ดีของพ่อแม่ เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
จัดทำข้อมูลโดย : นพ. ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 146 กุมภาพันธ์ 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)