xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ด้วยการแพทย์แผนทิเบต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพนั้นมีมากมายทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน การแพทย์แผนตะวันตก รวมทั้งการแพทย์แผนทิเบต ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

การแพทย์แผนทิเบตเป็นศาสตร์โบราณที่มีรากฐานมาจากคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นองค์ความรู้ที่สอดประสานกันอยู่ด้วยหลักอายุรเวทของอินเดีย การแพทย์แผนจีน และหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ตามประวัติแล้วถือกันว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการแพทย์ไปพร้อมกับหลักธรรม

สำหรับเรื่อง “การแพทย์แผนทิเบต” ที่ได้นำมาเสนอนี้ กลุ่มงานการแพทย์พื้นบ้านไทยได้สรุปและเรียบเรียงจากคำบรรยายของ Dr. Pema Dorgee ในการประชุมวิชาการของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548

• สาเหตุของการเจ็บป่วยที่แท้จริง

การแพทย์แผนทิเบตเชื่อกันว่า ท่านชีวกโกมารภัจจ์บรรลุถึงความหลุดพ้น หรือบรรลุความรู้แจ้งจากการที่ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์โดยเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วย หากเราศึกษาชีวิตและการทำงานของท่าน จะพบว่า ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นและเข้าใจถึงหลักการแพทย์โบราณ

ในสมัยโบราณจะมีการแพทย์ที่อิงมาจากคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แพร่หลายเข้าไปในประเทศทิเบต และทำให้การแพทย์ทิเบตได้รับอิทธิพลการแพทย์แบบพระพุทธศาสนา

คำถามหลักคือ อะไรเป็นเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ของการป่วยไข้หรือการเป็นโรคต่างๆ

ตามความเชื่อของการแพทย์แผนทิเบต ได้แบ่งเหตุออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ 1. เหตุไกลตัว 2. เหตุเฉพาะ 3. เหตุใกล้ตัว

สาเหตุที่แท้จริงของการป่วยไข้ คือ ความทุกข์ซึ่งทางวิทยาศาสตร์พยายามค้นคว้าหาคำตอบ หาทางที่จะแก้ปัญหา จึงทำให้เกิดระบบการแพทย์ขึ้นมา และมีความพยายามที่จะหาวิธีการแก้ทุกข์

หากเราต้องการขจัดโรคให้หมดไป ต้องมีวิธีคิดถึงสาเหตุพื้นฐานของการเจ็บป่วย ซึ่งมีเพียงประการเดียว คือ ความไม่รู้หรืออวิชชา ทำให้การเห็นผิดในเรื่องตัวตน คือ ความยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งนำไปสู่ความทุกข์ต่างๆ มากมาย

และพิษร้าย 3 อย่างในใจ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง หากสามารถจะขจัดอวิชชาให้หมดไปได้ จะสามารถเข้าถึงความรู้แจ้ง

การแพทย์แผนทิเบตเชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นสุดยอดของแพทย์ที่รักษาโรคร้ายให้กับสรรพสัตว์ เราจะเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างการแพทย์แผนทิเบต และหลักคำสอนของพุทธศาสนา

ในส่วนของการแพทย์แผนทิเบต การแพทย์แบบอายุรเวท หรือการแพทย์แผนจีนนั้น มีหลักความคิดที่คล้ายคลึงกันมากแทบจะเป็นอันเดียวกัน การแพทย์ทั้ง 3 สายนี้ต่างก็กล่าวถึงธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างอาจแตกต่างกันไป

การแพทย์แบบอายุรเวทจะพูดถึง วาตะ (พลังการเคลื่อนไหว) ปิตตะ (พลังความร้อน) และกผะ (พลังความเย็น) ส่วนการแพทย์แผนทิเบต จะใช้คำว่า ลุง (ธาตุลม) เทียบเท่ากับ วาตะ ใช้คำว่า ทีปะ เทียบเท่ากับ ปิตตะ (ความร้อนที่พุ่งจากภายใน) และ แบคเคิ้ล เหมือนกับกผะ (ธาตุน้ำ)

แม้คุณหมอจะไม่มีความรู้ในเรื่องของการแพทย์แผนจีน แต่ก็เชื่อว่าทางหลักพื้นฐานของจีนก็มีการพูดถึงตรีธาตุอันนี้เหมือนกัน ก็คือ “วาตะ” หรือ “ลุง” นี้เปรียบได้กับ “ชี่” แล้วหยินเปรียบเหมือน “กผะ” ส่วนหยางเปรียบได้กับ “ปิตตะ”

• พิษร้ายในร่างกาย 3 อย่าง
ก่อให้เกิดตรีโทษ

พิษร้าย ได้แก่ ความโลภ โกรธ หลง เป็นสาเหตุทำให้มีตรีโทษอยู่ในร่างกายคนเรา

ความโลภ
หมายถึงความติดใจ พอใจ ชอบใจในสิ่งใดก็ตาม ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ความติดใจ อยากได้ อยากมีอย่างรุนแรงเป็นสาเหตุร้ายแรงมากที่ทำให้มนุษย์เราต้องตกอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด

มุมมองของการแพทย์ทิเบตเห็นว่า คนเราหากมีความโลภมากเกินไป ตัวความโลภจะทำให้เกิดธาตุลมแปรปรวน เมื่อวาตะแปรปรวนหรือเสียสมดุลไป จะไปรบกวนคุณภาพของการนอนพักผ่อน ทำให้คนคนนั้นไม่เจริญอาหาร อ่อนไหวหรือหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน สิ่งสำคัญ คือ ควรจะให้คนกลุ่มนี้ได้ทานอาหารที่ร้อนๆ มีประโยชน์ และได้รับการเอาใจใส่หรือนวดด้วยน้ำมันงา จะทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ ผ่อนคลาย ระบบประสาทผ่อนคลายลง

คนที่มีธาตุลมเสียสมดุลไป ไม่ควรจะทานเนื้อ หมู และอาหารทะเลที่มีเปลือก เช่น หอยต่างๆ ชาร้อน ชาเข้มๆ ชาแก่จัดๆ อาหารที่มีรสขม อาหารเย็นๆ และอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก ผักสลัด ผักสด

อาหารมื้อเย็นที่เหมาะ คือ น้ำซุป น้ำแกงร้อนๆ ไม่ควรเปิดเพลงวัยรุ่นให้ผู้สูงอายุธาตุลมแปรปรวนได้ยิน เพราะเป็นการรบกวน ควรเปิดเพลงดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองที่มีทำนองช้าและเยือกเย็น ไม่ควรให้ผู้ป่วยธาตุลมเสียสมดุลหรืออยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรจัดให้อยู่ในห้องที่มีอากาศอบอุ่น

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยผู้ป่วย คือ การฝึกทำจิตใจให้ผ่อนคลาย สงบมีสมาธิ ทำใจให้มีความสุข และยิ้มวันละ 3 เวลา ยิ้มจะช่วยเพิ่มพลังโอชะในร่างกายของคนคนนั้น และรอยยิ้มนี่เองจะนำไปสู่สันติภาพของโลก

ส่วนความโกรธเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เราเห็นผิดในเรื่องตัวตน คนโกรธจัดๆ อุณหภูมิในตัวเขาจะสูงขึ้นทันทีจะเผาไหม้ทุกสิ่งทุกอย่าง อันดับแรก คือ เผาไหม้คนที่โกรธก่อนนั้นเอง จะทำให้เลือดในตัวพลุ่งพล่านไปหมด

นอกจากนี้ คนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากๆ หรือกินอาการรสเผ็ดร้อน ของทอด ของมัน เป็นประจำ หรือมีกิจกรรมทางกายมากเกินไป สามารถทำให้ปิตตะ(ธาตุไฟ)เสียสมดุลได้ บางครั้งจะทำให้คนคนนี้รู้สึกขมในปาก มีอาการปวดศีรษะ อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้น ปวดตามตัวช่วงบนตลอดเวลา รับประทานอาหารเข้าไปใหม่ๆ จะรู้สึกปวดท้องขึ้นมาทันที รู้สึกอยากทานของเย็นๆอยู่ตลอดเวลา

ควรให้คนกลุ่มนี้อยู่ในร่มไม้ หรือใกล้ๆแม่น้ำ อาหารที่เหมาะควร คือ อาหารที่มีรสขม เช่น มะระขี้นก ผักต้ม หลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ 1-2 เดือน ไม่ควรให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกกำลัง หรือไม่ควรใช้การนวด

ส่วนผู้ที่มีความหลงหรือโมหะ ผู้ป่วยกลุ่มนี้เกิดจากทานอาหารที่มีรสหวานมากเกินไป หรืออาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุก ประเภทผักสด ผักสลัด รับประทานอาหารที่เย็นๆ เป็นเวลานาน

การบริโภคอาหารที่เย็นๆ จะทำให้ความร้อนในการย่อยอาหารอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ จากนั้นจะพัฒนาไปเป็นความเจ็บป่วย การแพทย์ทิเบตเชื่อว่า การที่เราเก็บอาหารพืชผักผลไม้ที่ประกอบด้วย ธาตุน้ำและดินมาทานสดๆ ไม่ใช่สิ่งที่ดี รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเป็นเวลานานๆ

ในเวลาเย็นเมื่อไม่มีแสงแดด เป็นเวลาที่ร่างกายควรจะได้รับความอบอุ่น ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารที่เย็นหรืออาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุก เช่น ผักสด ผักสลัด คนที่ต้องการปรับกผะ(ธาตุน้ำ)ให้สมดุล ตื่นเช้าควรดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำอุ่นๆ หนึ่งแก้ว เพราะมีคุณสมบัติกระตุ้นความร้อนในร่างกายและช่วยย่อยอาหาร

ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องท้องอืดหรือปวดหลังส่วนล่าง หอบหืด เป็นหวัด ไอ ควรดื่มน้ำอุ่น สุภาษิตของคนทิเบตทั่วๆไปกล่าวว่า หมอคนแรกนั้นคือพราหมณ์ ยาชนิดแรกคือน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น โรคภัยไข้เจ็บอันดับแรกคืออาหารไม่ย่อย การแพทย์ทิเบตเชื่อว่า อาหารส่วนที่ไม่ได้ถูกย่อยจะเปลี่ยนไปเป็นสารพิษ

• 3 วิธีวินิจฉัยโรคของแพทย์ทิเบต

หมอทางทิเบตจะวินิจฉัยโรคจากลักษณะอาการที่ปรากฏออกมาทางร่างกาย หรือจากการตรวจปัสสาวะ การจับชีพจร สามารถบอกได้ว่า ธาตุตัวไหนที่เสียสมดุล

การวินิจฉัยโรค 3 วิธี คือ การสังเกตดูด้วยตา การจับชีพจร และการซักถามอาการ

หมอจะสังเกตลักษณะท่าทางของผู้ป่วย ว่าเกิดจากความผิดปกติของธาตุตัวใด คนที่ป่วยอันเนื่องมาจากลมผิดปกติ จะมีบุคลิกเหมือนลิง หลุกหลิก เหมือนอีกาที่พูดไม่หยุด หรือเหมือนหมาจิ้งจอก

ส่วนคนที่ป่วยอันเนื่องมาจากทีปะ(ธาตุไฟ) เสียสมดุลก็จะมีท่าทางเหมือนเสือ บางครั้งดูเคร่งขรึม น่ากลัว

ส่วนคนที่ป่วยอันเนื่องมาจากกผะ(ธาตุน้ำ) เสียสมดุล จะมีท่าทางเชื่องช้า เหมือนวัวกับช้างหรือฮิปโปโปเตมัส

อีกวิธีการหนึ่งที่หมอทิเบตใช้ตรวจ คือ สังเกตดูลักษณะของลิ้น

คนที่ลุง(ธาตุลม)ผิดปกติจะมีลิ้นที่แห้ง
และออกเป็นสีแดงๆ คนที่มีทีปะ(ธาตุไฟ) ผิดปกติจะมีรสขมในปาก ลิ้นจะมีฝ้าหนาเกาะอยู่ ส่วนคนที่มีกผะ(ธาตุน้ำ)เสียสมดุลจะมีลิ้นหนา ขอบลิ้นมีลักษณะเหมือนมีรอยกัด กลุ่มกผะส่วนใหญ่ปากจะมีน้ำลายออกมาก

เวลาตรวจปัสสาวะของผู้ป่วยในกลุ่มที่ลุง(ธาตุลม) เสียสมดุล จะพบว่าปัสสาวะเจือจางเหมือนน้ำ เวลาตีจะเกิดเป็นฟองที่ใหญ่มากเหมือนตาวัว ปัสสาวะจะใสมาก

ส่วนปัสสาวะของกลุ่มที่ทีปะ(ธาตุไฟ) แปรปรวน จะมีกลิ่นฉุนกลิ่นเหม็นแรงมาก สีออกแดงๆส้มๆ หรือสีแดงเข้มสีเหมือนเลือด บางครั้งจะออกเป็นสีเหลืองหรือส้มสีเข้มจัดๆ เวลาปัสสาวะจะเกิดฟองเล็กๆ แล้วก็หายไปในเวลาอันรวดเร็ว

ปัสสาวะของคนกลุ่มแบคเคิ้ล(ธาตุน้ำ)จะออกเป็นสีขาวๆไม่มีกลิ่น บางครั้งจะได้กลิ่นอาหารหรือกลิ่นแอลกอฮอล์ที่ไม่ถูกย่อย ถ้าไม่มีกลิ่นของสิ่งเหล่านี้แล้วส่วนใหญ่ปัสสาวะของคนกลุ่มนี้ก็จะไม่มีกลิ่นอะไรเลย เวลาปัสสาวะจะเกิดเป็นฟองใหญ่มากและอยู่นาน ไม่หายไปไหน

ลักษณะชีพจรของคนกลุ่มลุง(ธาตุลม)จะเหมือนกับชีพจรชัด แต่พอหมอใช้แรงกด ชีพจรก็จะหายไป ชีพจรของกลุ่มทีปะ(ธาตุไฟ)จะเต้นเร็ว บาง และเต้นถี่ ถึงแม้จะใช้แรงกดลงไปก็ยังรับรู้ถึงการเต้นของชีพจรได้ ส่วนชีพจรของคนกลุ่มแบคเคิ้ล(ธาตุน้ำ)ที่เสียสมดุลไปจะมีลักษณะเต้นช้า อ่อน นานๆจะปรากฏให้เห็นสักครั้งหนึ่ง

โดยสรุปการวินิจฉัยโรค คือ หาสาเหตุที่ทำให้เป็นโรค สังเกตอาการต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็น และการซักถาม

• 3 สิ่งสำคัญในการรักษาโรค

เรื่องของวิธีการรักษาโรค สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ
1. การดำเนินชีวิต
2. การบริโภคอาหาร
3. การใช้ยา


ความเชื่อทางการแพทย์ทิเบต ถือว่าอาหารที่มีรสขมจะมีสรรพคุณในการช่วยรักษาชีวิต รวมถึงการรักษาศีล การมีหลักศีลธรรมในการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน

คัมภีร์การแพทย์ทิเบตสอนว่า คนที่เป็นหมอทุกคน ไม่ใช่เฉพาะหมอทางทิเบต เวลาที่มีคนไข้เดินเข้ามาหา สิ่งแรกที่จะต้องเห็น คือ เห็นโรค เห็นความทุกข์ความเดือดร้อนที่คนคนนั้นกำลังได้รับอยู่ เพราะเวลาที่เราตระหนักถึงความเดือดร้อนที่ผู้ป่วยกำลังได้รับ คนที่เป็นหมอจะเกิดความเมตตากรุณาขึ้นในใจ จะไม่นิ่งเฉย จะมีความกระตือรือร้นลุกขึ้นมาช่วยเหลือ ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ผู้นั้นพ้นทุกข์

ฉะนั้น ความกระตือรือร้นที่อยากช่วยเหลือผู้ป่วย คือ ความรักความเมตตา ต้องแผ่กระจายขยายไปถึงทุกๆคนโดยเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติว่าจะปฏิบัติกับผู้ใด

การช่วยเหลือการดูแลคนไข้อย่างจริงใจทั้งกาย วาจา ใจ สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้คนไข้ยิ้มออกมาได้ เวลาที่หมอสามารถทำให้ผู้ป่วยยิ้มได้ และผู้ป่วยมีความสุข นั่นคือความสุขที่หมอได้รับ ไม่ใช่สิ่งใดอื่นเลย

คำแนะนำที่จะฝากไว้ คือ "คิดก่อนพูด คิดก่อนทำ คิดก่อนกิน และคิดก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร"

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)



กำลังโหลดความคิดเห็น