xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


• "ไทชิ ชี่กง" ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพปอด

ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมักเป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย และมีแนวโน้มอัตราการตายสูงขึ้น ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่า ในปี 2573 คนจะตายด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นอันดับ 3 ของโลก

โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้ทำการวิจัยวิธีการออกกำลังกาย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอดที่เหมาะสมกับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่สามารถทำเองที่บ้านหรือเป็นกลุ่มได้ โดยการนำท่ารำไทเก๊ก 9 ท่า มาผสมกับวิธีการหายใจที่ถูกต้อง จากนั้น จึงทำการทดลองวัดผล ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงประสบความสำเร็จ เรียกว่า การออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด "ไทชิ ชี่กง" ซึ่งแต่ละท่าจะมีการกำหนดลมหายใจ และต้องมีการทำซ้ำประมาณ 3-5 นาที

• ชาดำอาจช่วยลดความเสี่ยงเบาหวาน

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษ พบว่า การดื่มชาดำมาก เกี่ยวข้องกับการลดลงของโรคอ้วน

ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์การบริโภคชาดำและความชุกของโรคต่างๆรวมทั้งโรคเบาหวานประเภท 2โดยวิเคราะห์ข้อมูลใหม่จาก 50 ประเทศ

พบว่าประเทศที่ผู้คนดื่มชาดำส่วนใหญ่ มีระดับต่ำสุดของภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome) อันได้แก่ กลุ่มของปัจจัยเสี่ยงที่ประกอบด้วยโรคอ้วนลงพุง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และระดับไขมันในเลือดสูง ที่จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน หัวใจ และหลอดเลือด

• เร่งวิจัยเกลือที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ ช่วยคนชอบกินเค็ม

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การบริโภคเกลือ (โซเดียม) หรืออาหารที่มีรสเค็มมากเกินไปนั้น ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ฯลฯ และนอกจากลดการบริโภคเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว และซอสหอยนางรม แล้ว ยังต้องลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือแฝงอยู่ด้วย อาทิ ผงชูรส ผงฟูที่ใช้ทำเบเกอรี หรือสารถนอมอาหารในอาหารกระป๋อง เป็นต้น เนื่องจากมีส่วนประกอบที่เป็นโซเดียมเหมือนกัน

สำหรับผู้ที่ติดอาหารรสเค็ม ขณะนี้ทางเครือข่ายฯกำลังวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตเกลือที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ (Smart Salt) โดยใช้โพแทสเซียมและแมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบแทนโซเดียม โดยพยายามปรับสูตรเพื่อให้ได้รสชาติเหมือนกับโซเดียม แต่สูตรผสมยังไม่ลงตัว คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี จึงจะผลิตออกมาได้สำเร็จ

• แตงโม มะเขือเทศ พริกหวาน
ช่วยลดความเสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบ


วารสารด้านประสาทวิทยาได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอีสต์เทิร์น ฟินแลนด์ เกี่ยวกับผลกระทบของสารไลโคปีน สารสีแดงที่พบได้ในแตงโม มะเขือเทศ และพริกหวาน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความผิดปกติ และความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดการอักเสบและการเกิดลิ่มเลือด

โดยทีมวิจัยได้ประเมินค่าระดับของไลโคปีนในกระแสเลือดของชายวัยกลางคน โดยแบ่งผู้ทำการศึกษาออกเป็น 4 กลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มผู้มีสารไลโคปีนต่ำ จำนวน 258 คน มีผู้ที่มีอาการเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน 25 คน ขณะกลุ่มที่มีไลโคปีนสูง มีผู้ที่มีอาการเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน 11 คน จากจำนวน 259 คน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีระดับไลโคปีนในเลือดสูงสุด มีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสองตีบ น้อยกว่าถึง 55%

ดร.แคลร์ วาลตัน จากสมาคมโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในอาหาร อาทิ มะเขือเทศ พริกหวานสีแดง และแตงโม ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดได้

• งดพูดโกหก ดีต่อสุขภาพ

มีผลศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม รัฐอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา ในกลุ่มตัวอย่าง 100 คนที่ถูกสั่งให้ละเว้นการพูดโกหก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ หรือเรื่องใหญ่เป็นเวลา 10 สัปดาห์ เพื่อนำผลลัพธ์มาประมวลเปรียบเทียบกับ “กลุ่มควบคุม” ที่ปล่อยให้ใช้ชีวิตตามปกติ

หลังจากผ่านไป 10 สัปดาห์ ปรากฏว่า กลุ่มที่ถูกสั่งห้ามพูดโกหก รายงานว่า มีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ วิตกกังวล และปัญหาอื่นๆ ลดน้อยลงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างเห็นได้ชัด

แอนนิตา อี.เคลลี่ หัวหน้าคณะผู้ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า “จากการศึกษาพบว่า คนอเมริกันโดยเฉลี่ยพูดโกหกสัปดาห์ละ 11 ครั้ง และเราก็พบจากกลุ่มตัวอย่างว่า ด้วยความตั้งใจจริง พวกเขาสามารถลดการพูดโกหกในแต่ละวันได้อย่างมาก ซึ่งมันก็ส่งผลดีต่อสุขภาพทำให้สุขภาพของพวกเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

ลินดา สตรอห์ อาจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลโยลา นครชิคาโก กล่าวว่า ผลการศึกษาของแอนนิตา คล้ายกับผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาเรื่องความไว้ใจที่เธอเคยทำ ซึ่งพบว่า “เมื่อคุณไม่พูดโกหก คุณก็จะเครียดน้อยลง”

• กรมอนามัยเตือน อันตรายจากแปรงสีฟันตลาดนัด

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าแปรงสีฟันที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และซุปเปอร์สโตร์ กว่าร้อยละ 80 ผ่านมาตรฐานกรมอนามัย ขณะที่แปรงสีฟันจากตลาดนัด หรือจากแหล่งจำหน่ายสินค้าค้าส่งต่างๆ รวมทั้งแปรงสีฟันนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ระบุผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จัดจำหน่าย ส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำ ขนแปรงหลุดร่วงง่าย ขนแปรงแข็ง ปลายขนแปรงคม ส่วนขอบโดยรอบหัวแปรงขรุขระไม่เรียบ ด้ามแปรงไม่แข็งแรงหักง่าย อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

อธิบดีกรมอนามัยแนะว่า การเลือกซื้อแปรงสีฟัน ควรเลือกที่มีขนแปรงนุ่ม หรือนุ่มพิเศษ จะมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟันได้ดี ไม่เสี่ยงต่อการทำให้ฟันสึก ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเสียวฟัน

ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ให้การรับรองคุณภาพแปรงสีฟันที่ผ่านมาตรฐานวิชาการ ภายใต้โครงการแปรงสีฟันติดดาว ผู้บริโภคจะสังเกตได้จากสัญลักษณ์รูปดาว มีข้อความกรมอนามัยรับรองคุณภาพ กำกับไว้อย่างชัดเจน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย ธาราทิพย์)







กำลังโหลดความคิดเห็น