xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : อย่าตกใจ!! แพนิค! รักษาได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคแพนิค หรือบางคนอาจเรียกว่า โรคตื่นตระหนก เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีมานานแล้ว และพบไม่น้อยเลย แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก แม้กระทั่งเมื่อเป็นโรค ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดก็อาจไม่ทราบด้วยว่า อาการที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้น เป็นอาการของโรคแพนิคที่สามารถรักษาได้ค่ะ

อาการของโรคแพนิคนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันทีทันใด โดยผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทันหรือไม่เต็มอิ่ม บางรายอาจวิงเวียน ท้องไส้ปั่นป่วน มือเท้าเย็นชา รู้สึกเหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้ จากนั้นจะเริ่มรู้สึกกลัวเหมือนตัวเองกำลังจะตาย หรือจะเป็นบ้า

อาการจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มที่และสงบลงในเวลาประมาณ 10 นาที บางรายอาจนานกว่านั้น แต่มักไม่เกิน 1 ชั่วโมง และจะเป็นซ้ำๆ โดยมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้
แพทย์ก็มักตรวจไม่พบความผิดปกติ และมักได้รับการสรุปว่า เป็นอาการเครียดหรือคิดมาก

โรคนี้ต้องได้รับการรักษาและอธิบายให้เข้าใจ ว่าตัวโรคจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ป่วยจะทรมานจากอาการและดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความวิตกกังวลตลอดเวลา

กลัวที่จะต้องอยู่ในที่ที่ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือได้เมื่อมีอาการ ทำให้ไม่กล้าอยู่คนเดียว ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว หรือกลัวที่จะทำกิจกรรมบางอย่างหากอาการแพนิคกำเริบขึ้นทันที เช่น ข้ามสะพานลอย ขึ้นลิฟต์ หรือขับรถ และอาจพบภาวะอื่นๆ ตามมา ที่พบบ่อยคือภาวะซึมเศร้า จากการมีอาการและไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไรแน่ กลัวว่าจะตายจากโรค ทำให้ผู้ป่วยเริ่มท้อแท้

• สาเหตุ

สาเหตุของโรคแพนิคจริงๆนั้น ไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางร่างกายและทางจิตใจ

ทางร่างกาย อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า “อะมิกดาลา” ทำงานผิดปกติ

ดังนั้น เมื่อมีสิ่งกระตุ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมความคิดที่ผิดปกติ และต่อเนื่องไปถึงการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย คล้ายระบบสัญญาณกันขโมยที่ไวเกินดังขึ้นโดยไม่มีขโมยจริงๆ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางร่างกายอื่น ๆ เช่น

กรรมพันธุ์ คนที่มีญาติเป็นโรคแพนิค มีแนวโน้มจะเป็นได้มากกว่าคนที่ไม่มีกรรมพันธุ์

การใช้สารเสพติด จะไปทำให้สมองทำงานผิดปกติ หรือสารเคมีในสมองเสียสมดุล

ฮอร์โมนที่ผิดปกติ ก็อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้

ทางจิตใจ มีงานวิจัยยืนยันว่าคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียสมดุลของสารเคมีในสมองได้ โดยเฉพาะในวัยเด็ก มีโอกาสเป็นโรคแพนิคได้มากกว่า เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน เป็นต้น

• การรักษา

อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ไม่ยากค่ะ
ยาที่ใช้รักษามี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว เมื่อเกิดอาการขึ้นมา ให้รีบกินแล้วอาการจะหายทันที เป็นยาที่รู้จักกันในชื่อยากล่อมประสาท หรือยาคลายกังวล ยาประเภทนี้ ถ้ากินติดต่อกันนานๆ จะเกิดการติดยาและเลิกยาก

2. ยาที่ออกฤทธิ์ช้า จะต้องกินต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล สามารถป้องกันโรคได้ในระยะยาว เพราะยาจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า แต่จะไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย

สำหรับการรักษาด้วยยา ในช่วงแรกๆ แพทย์จะให้ยาทั้ง 2 กลุ่ม คือ เนื่องจากยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น ยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ จึงต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์เร็วควบคู่กันไปด้วย เมื่อยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้นได้ผล แพทย์จะลดการกินยาที่ออกฤทธิ์เร็วให้น้อยลง

เมื่อผู้ป่วย "หายสนิท" คือไม่มีอาการเลย มักให้กินยาต่อไปอีก 8 - 12 เดือน เพื่อป้องกันการกลับมาของอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการกลับมาอีก แต่ก็มีบางรายที่มีอาการอีกเมื่อหยุดยาไปแล้วสักพัก ก็ไม่เป็นไรค่ะ แค่เริ่มต้นรักษาเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ได้ผลดี ควรมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยให้ความรู้ และพฤติกรรมบำบัด เพื่อปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วย

ขณะเดียวกันคนใกล้ชิด ผู้เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งทีมแพทย์พยาบาลควรเข้าใจและให้กำลังใจ อย่าคิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ ซึ่งยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจเขาอย่างมาก แล้วอาการแพนิคก็จะค่อยๆ ทุเลาลงจนหายในที่สุดค่ะ

ขอให้คุณหายไวๆ และมาร่วมกันสรรค์สร้างสังคมไทยของเรากันนะคะ

• วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดแพนิค

สำหรับผู้ที่เป็นโรคแพนิคทุกคน ขอให้ปฏิบัติ เมื่อเกิดอาการดังนี้

1. หายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ และบอกตัวเองว่า อาการไม่อันตราย แค่ทรมานแต่เดี๋ยวก็หาย

2. มียาที่แพทย์ให้พกติดตัวไว้ และกินเมื่ออาการเป็นมาก

3. ฝึกการผ่อนคลายอื่นๆ เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ ทำงานอดิเรกต่างๆ ที่ช่วยให้มีความสุข

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย ผศ.พญ.สุทธิพร เจณณวาสิน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)


กำลังโหลดความคิดเห็น