xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : เอาชนะ โรคภูมิแพ้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่มีอาการ แสดงได้หลายระบบ เกิดจากปฏิกริยาของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ ปัจจุบันความชุกของโรคกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โรคที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ ได้แก่

• โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คันในจมูก จามติดกันหลายๆครั้ง น้ำมูกใสๆ ไหลมาก คัดแน่นจมูก อาการอื่นๆ เช่น หูอื้อ ปวดมึนศีรษะ น้ำมูกไหลลงคอ เสมหะติดในคอ

• โรคหืด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจเสียงวี้ด อาจเป็นตอนออกกำลังกาย ตอนกลางคืน หรือตอนเป็นหวัดก็ได้

• ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นผื่นคัน แห้งแดง และเรื้อรัง พบบ่อยบริเวณหน้า ข้อพับแขนขา

• ลมพิษ ผื่นนูน บวม คัน ตามผิวหนังส่วนต่างๆ บางรายอาจมีอาการบวมบริเวณหน้าตาหรือปากด้วย

• ผื่นแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส เป็นผื่นคันจากการสัมผัสสารแพ้ต่างๆ เช่นผงซักฟอก ยาย้อมผม เครื่องสำอาง ถุงมือ โลหะ เป็นต้น

• แพ้อาหาร มีอาการได้หลายระบบ ทั้งระบบผิวหนัง (ผื่นลมพิษ) ระบบหายใจ (คัดจมูก น้ำมูกไหล หอบ) ระบบทางเดินอาหาร (อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย) อาหารที่เป็นสาเหตุได้บ่อย คือ นมวัว ไข่ อาหารทะเล ถั่วลิสง

• เยื่อบุตาอักเสบจากการแพ้ มีอาการ แสบตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย เปลือกตาบวม

• ปฏิกริยาการแพ้แบบรุนแรง เกิดอาการหลังได้รับสารแพ้ภายในเวลาไม่เกินครึ่งชั่งโมง ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ และอาจเสียชีวิตได้ สาเหตุเป็นได้ทั้งจากแพ้อาหาร แพ้ยา แพ้แมลงต่างๆ เป็นต้น

สารก่อภูมิแพ้คืออะไร

คือ สารที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ ซึ่งอาจเป็นสารที่ร่างกายได้รับโดยการฉีด กิน หายใจ หรือสัมผัสก็ได้ มีทั้งสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน (เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง เชื้อรา ควันบุหรี่) และสารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน (เช่น เกสรหญ้า เกสรดอกไม้ ควันและฝุ่นต่างๆ)

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นภูมิแพ้

เมื่อมีอาการและอาการแสดงดังข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อซักประวัติ และตรวจร่างกาย นอกจากนั้นแพทย์อาจทำการตรวจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การทดสอบสมรรถภาพปอด ในรายที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหืด การทดสอบทางผิวหนัง เพื่อให้ทราบถึงสารที่ผู้ป่วยแพ้ ซึ่งทราบผลภายใน 15 นาที หรือการตรวจดูเซลล์ของเยื่อบุจมูกในกรณีของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

ควรปรึกษาและพบแพทย์ เมื่อมีอาการ ต่อไปนี้

• น้ำมูกไหล คัดจมูก จาม คันจมูกเรื้อรัง

• ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

• ไอมากหรือเหนื่อยเวลาเป็นหวัด ตอนออกกำลังกาย หรือตอนกลางคืน

• ผื่นคันเรื้อรังตามผิวหนังส่วนต่างๆ ของร่างกาย

• เป็นลมพิษบ่อย

• สัมผัสสารบางอย่างแล้วผื่นขึ้น

• กินอาหารบางชนิดแล้วมีผื่น น้ำมูกไหล หรือแน่นหน้าอก

• คันตา แสบตา น้ำตาไหลเรื้อรัง

แนวทางการรักษา โรคภูมิแพ้

1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เป็นวิธีที่สำคัญที่สุด และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

2. การรักษาด้วยยา มีทั้งยากิน ยาพ่น จมูก ยาพ่นปอด ยาหยอดตา ยาทาผิวหนัง ซึ่งควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ โดยการฉีดสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ และค่อยๆ เพิ่มปริมาณ จนผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่อสารนั้น ซึ่งต้องรับการฉีดอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลา 3-5 ปี จึงจะได้ผลดี

10 วิธีปฏิบัติตน เมื่อเป็นโรคภูมิแพ้

1. ในห้องนอน ควรมีเครื่องตกแต่งห้องน้อยชิ้นที่สุด หมั่นทำความสะอาด และกำจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ

2. ในกรณีแพ้ไรฝุ่น ควรทำความสะอาดเครื่องนอน (ที่นอน,หมอน,ผ้าห่ม) โดยซักด้วยน้ำร้อน 600 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที อย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์

3. ไม่ใช้พรม เก้าอี้เบาะหุ้มผ้า หมอนนุ่น ตุ๊กตาที่ทำจากนุ่น หรือขนสัตว์

4. ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนในบ้าน เช่น สุนัข แมว นก

5. กำจัดเศษอาหาร และขยะต่างๆ รวมทั้งปิดฝาท่อระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงสาบ

6. ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ และใช้แบบที่มีเครื่องกรองอากาศชนิด HEPA filter

7. ระวังไม่ให้บ้าน ห้องน้ำ อับชื้น และไม่ควรปลูกต้นไม้ในบ้าน เพราะทำให้เชื้อราเติบโต

8. อย่าไปใกล้บริเวณที่มีควันบุหรี่ ควันไฟ และบริเวณที่มีฝุ่นมาก

9. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ หากมีอาการหอบเหนื่อยเวลาออกกำลังกาย ควรสูดยาป้องกันอาการหอบก่อน

10. ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะบางชนิดถ้าใช้ต่อเนื่องนานอาจมีอันตรายได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย รพ.วิภาวดี)





กำลังโหลดความคิดเห็น