xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : วันพ่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูกสาว : แม่คะ พรุ่งนี้หนูไม่ไปโรงเรียนได้ไหมคะ

แม่ : ที่โรงเรียนมีงานวันพ่อไม่ใช่เหรอ

ลูกสาว : เพื่อนๆ เขามีพ่อไปกัน (น้ำเสียงเศร้า)

แม่ : ลูกคงรู้สึกแย่ กลัวว่าคุณพ่อจะไม่ไปงานใช่ไหม

ลูกสาว : ค่ะ ช่วงนี้พ่อหายไปเลยนะคะ พ่อไม่รักหนูแล้วใช่ไหมคะ

แม่ : รักสิลูก ไม่งั้นพ่อจะกลับมาเยี่ยม มาพาหวานไปเที่ยวบ่อยๆเหรอ

ลูกสาว : จริงด้วยค่ะ เพื่อนหนูพ่อกับแม่เค้าก็เลิกกัน แต่แม่ไม่ให้เค้าเจอกับพ่อเลยค่ะ พ่อโทรศัพท์มาก็ห้ามคุย

แม่ : ว่าไปลูกโชคดีนะที่พ่อยังกลับมาหามาเล่นกับหนูน่ะ แล้วเพื่อนลูกเขารู้สึกยังไงกับพ่อเค้า

ลูกสาว : เค้าไม่รักพ่อค่ะ บอกว่าพ่อนิสัยไม่ดี เจ้าชู้ ทำให้แม่ร้องไห้

แม่ : จำไว้นะลูก ถึงพ่อกับแม่จะเลิกกัน แต่หนูก็ยังเป็นลูกของพ่อกับแม่อยู่นะจ๊ะ และพ่อกับแม่ก็รักหนูมากด้วย

(เสียงโทรศัพท์มือถือแม่ดังขึ้น) หวานจ๋า คุณพ่อโทรมาลูก

ลูกสาว : หนูบอกพ่อเองค่ะ (น้ำเสียงดีใจ) ฮัลโหล สวัสดีค่ะพ่อ พรุ่งนี้ที่โรงเรียนจัดงานวันพ่อค่ะ

พ่อ : (เสียงจากปลายสาย) จ้า พ่อไม่ลืมหรอกลูก พรุ่งนี้พ่อจะไปรับนะคะ คิดถึงลูกหวานนะคะ

ลูกสาว : หนูก็คิดถึงพ่อค่ะ

หมอเหมียวชวนคุย

แม้หน้าที่ในฐานะสามีภรรยาจะจบลง แต่หน้าที่ของความเป็นพ่อเป็นแม่ยังคงอยู่ ควรจัดแบ่งเวลาให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสเลี้ยงดูและทำกิจกรรมร่วมกับลูก ไม่ควรกีดกันหรือว่าร้าย ซึ่งจะขยายความขัดแย้งให้บานปลายไปสู่ความเจ็บช้ำและปมด้อยในใจลูกค่ะ

เรายังเป็นพ่อแม่ลูกอยู่เหมือนเดิม แม้หย่าร้าง

การหย่าร้างส่งผลกระทบต่อความเคียดของเด็กในระดับที่รุนแรง ในการเลี้ยงดูหลังการหย่าร้างพบว่า การหย่าร้างที่พ่อแม่แยกลูกไปเลี้ยง และยังคงด่าว่าอีกฝ่ายพร้อมกับกีดกันไม่ให้พบกับลูก เป็นการทำร้ายจิตใจลูกมากที่สุด ยิ่งพ่อแม่ให้ลูกเลือกว่าจะอยู่กับใครหลังการหย่าร้าง การเลือกอยู่กับพ่อหมายถึงการปฏิเสธแม่ ไม่ว่าจะเลือกข้างใด ลูกจะยิ่งรู้สึกผิดและเจ็บปวดต่อการตัดสินใจของตัวเองที่ต้องเลือกปฏิเสธคนที่ตัวเองเคารพรัก และร้ายแรงที่สุดเมื่อพ่อแม่ต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษอีกฝ่ายอย่างเสียหายเพื่อหวังยึดลูกมาเป็นพวกและกีดกันไม่ให้เจอหน้ากัน เด็กจะอึดอัดที่ไม่สามารถแสดงความรักพ่อหรือแม่ได้ เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายช้ำใจ หรืออาจเห็นคล้อยจากอคติลบๆ ที่ได้ยินอยู่เสมอ

เมื่อไม่สามารถประคองชีวิตคู่ได้จริงๆ และแน่นอนว่าลูกก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการแยกทางกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พ่อแม่ก็ควรให้ลูกรับผลกระทบน้อยที่สุด คือแม้แยกกันอยู่แต่ควรร่วมมือกันในการเลี้ยงลูก ให้โอกาสในการใกล้ชิดโดยไม่กีดกัน ไม่ว่าร้ายอีกฝ่ายหนึ่งด้วยอคติที่ผิดๆ เด็กจะค่อยๆเข้าใจและปรับตัวได้ว่า ถึงพ่อแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่พ่อแม่ก็ยังรักเขา ไม่ได้ทอดทิ้งหายไปไหน ความเป็นพ่อแม่ลูกยังอยู่คงเดิม

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลที่เกิดตามมาหลังการหย่าร้าง

• การหย่าร้าง
ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเครียดต่อเด็ก ในระดับรุนแรง ทั้งด้านการปรับตัว การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม การงาน การเรียน พอๆกับผลกระทบที่มีต่อพ่อแม่เช่นกัน

• พ่อแม่ที่หย่าร้าง จะใช้เวลาในการปรับตัวต่อสภาวะใหม่อย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งช่วงนี้จะส่งผลทำให้คุณภาพของการเป็นพ่อแม่ลดลง

ถึงแม้ว่าครอบครัวจะแตกสลาย เด็กทุกคนก็ยังยึดกับความฝันที่จะให้พ่อกับแม่กลับมาคืนดีและกลับมาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม

• หลังการหย่าร้าง ถ้าเด็กต้องจากบ้าน หรือย้ายที่อยู่ หรือย้ายโรงเรียน จะส่งผลกระทบต่อเด็กเพิ่มขึ้นมากกว่าการที่พ่อหรือแม่เป็นผู้จากไปเพียงคนเดียว

ควรทำ

แนวทางที่พ่อแม่ควรตกลงกันให้ได้ในเรื่องของเด็ก คือ

- เวลาที่จะอยู่กับลูก ทั้งพ่อและแม่ควรมีเวลาที่จะสนุก เล่น ทำกิจกรรมร่วมกับลูก

- การมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดู เช่น ค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน

- ถึงแม้ว่าเด็กจะดูดีหลังจากการหย่าร้างของพ่อแม่ แต่เด็กทุกคนต้องการเวลานอกที่จะได้พูดถึงความรู้สึก ความคิด ความหวังในมุมมองของเด็กต่อเหตุการณ์หย่าร้าง อยากพูดถึงพ่อหรือแม่ที่จากไป พ่อแม่จึงควรให้โอกาส

- เมื่อครอบครัวแตกสลาย ความรับรู้และความรู้สึกของเด็กไม่เท่ากัน เด็กจึงต้องการคนที่เข้าใจความรู้สึก คนที่ให้กำลังใจและพัฒนาความสามารถด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าคนที่รักจะจากไปแล้ว ฉันก็ยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

ไม่ควรทำ

- พ่อแม่ควรจะวางแนวทางที่จะแบ่งปันลูกอย่างไร ไม่ใช่แย่งชิงกันครอบครองลูกมาเป็นของตนเอง

* หัวใจการเลี้ยงดู

หลังการหย่าร้าง พ่อแม่ต้องเป็นหลักในการเลี้ยงลูกร่วมกัน

จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น