xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : หลังของคุณ ยังดีอยู่หรือเปล่า?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โอ๊ยยย...ปวดหลัง” เสียงครวญครางเกิดขึ้นยามที่หลังเกิดปัญหา เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจดูแลสุขภาพของหลัง จึงมักเกิดอาการปวดหลังที่เป็นอุปสรรคทำให้ไม่อาจดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข

กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
จึงได้ทำแบบประเมินสุขภาพหลัง เพื่อให้ทราบถึงสภาวะของหลัง และติดตามเฝ้าระวังปัญหาของหลัง ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูล เพื่อดำเนินการป้องกัน หรือปรับปรุงแก้ไขปัญหาของหลังต่อไป

ท่านและเพื่อนสามารถใช้ชุดวิธีการทดสอบนี้ช่วยกันประเมินการยึดตรึง หรือหดเกร็งของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ซึ่งช่วยบ่งชี้ว่าท่านมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาของหลัง

ในขณะช่วยกันทดสอบ ถ้ารู้สึกเจ็บหรือชา หรือรู้สึกระยิบระยับที่หลัง สะโพก หรือขา ให้หยุดทำการทดสอบทันที อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าท่านมีปัญหาของหลังระดับเอว ซึ่งควรปรึกษาแพทย์

ในการทดสอบ ผู้ที่ช่วยทดสอบควรออกแรงดึงหรือดันด้วยความระมัดระวัง ทำอย่างนุ่มนวล และสนใจฟังคำบอกเล่าถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากผู้ทดสอบ

1. ทดสอบแนวกับผนัง (ฺBack to Wall)
ผู้ทดสอบยืนหันหลังชิดฝาผนัง ให้ศีรษะ ส้นเท้า บ่า และน่อง สัมผัสกับผนังดังรูป พยายามให้ต้นคอและหลังแบนราบแนบติดกับผนัง โดยดันก้นลง แล้วให้ผู้ช่วยทดสอบวางฝ่ามือแนบผนัง แล้วเลื่อนเข้าไปในช่องระหว่างผนังกับหลังที่แอ่นอยู่

การทดสอบถือว่าไม่ผ่าน ถ้าช่องว่างนี้กว้างกว่าความหนาของฝ่ามือ แสดงว่าหลังแอ่นมากเกินไป(lordosis) ซึ่งอาจเกิดจากการยึดตึงหรือหดสั้นของกล้ามเนื้อหลังระดับเอวและกล้ามเนื้องอข้อสะโพก

2. ทดสอบดึงเข่าชิดอก (Thomas Test)
ผู้ทดสอบนอนบนโต๊ะหรือเก้าอี้ โดยให้ต้นขาขวาพ้นขอบโต๊ะออกมาประมาณหนึ่งในสาม ดึงเข่าและต้นขาซ้ายเข้าชิดหน้าอกดังรูป ให้หลังระดับเอวแบนราบติดกับพื้นโต๊ะ ต้นขาขวายังคงวางบนพื้นโต๊ะ

การทดสอบถือว่าไม่ผ่าน ถ้าต้นขาขวาลอยพ้นจากพื้นขณะที่เข่าซ้ายถูกดึงเข้าชิดหน้าอก แสดงว่ากล้ามเนื้องอข้อสะโพกขวายึดตึง หรือหดสั้น สลับข้างแล้วทำซ้ำด้านตรงข้าม (การทดสอบถือว่าผ่าน ถ้าผ่านทั้งสองข้าง)

3. ทดสอบกล้ามเนื้อและแผ่นพังผืดต้นขาด้านข้าง (Ober's test)
ผู้ทดสอบนอนตะแคงด้านซ้าย งอเข่าและข้อสะโพกซ้าย 90 องศา หรือเป็นมุมฉาก ผู้ช่วยทดสอบจัดข้อสะโพกขวาอยู่ในท่าตรงไม่งอ และงอข้อเข่าขวา 90 องศา จากนั้นปล่อยให้ขาขวาหย่อนลงสู่พื้น

การทดสอบถือว่าผ่าน ถ้าหัวเข่าขวาสัมผัสพื้นโดยไม่มีอาการปวด แสดงว่าไม่มีการยึดตึงของแผ่นพังผืดและกล้ามเนื้อต้นขาด้านข้าง สลับข้างและทำซ้ำด้านตรงข้าม (การทดสอบถือว่าผ่าน ถ้าผ่านทั้งสองข้าง)

4. ทดสอบกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (Ely's Test)
ผู้ทดสอบนอนคว่ำงอเข่าขวา ผู้ช่วยทดสอบค่อยๆดันส้นเท้าเข้าชิดก้น เมื่อมีแรงต้านหรือผู้ทดสอบรู้สึกตึง ให้หยุดดันส้นเท้าและค้างไว้

การทดสอบถือว่าไม่ผ่าน ถ้าเชิงกรานยกขึ้นพ้นพื้น หรือมีการงอข้อสะโพก หรือไม่สามารถงอเข่าได้อย่างอิสระถึง 135 องศา หรือส้นเท้าไม่สามารถสัมผัสก้น แสดงว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้ายึดตึงหรือหดสั้น สลับข้างและทำซ้ำด้านตรงข้าม (การทดสอบถือว่าผ่าน ถ้าผ่านทั้งสองข้าง)

5. ทดสอบแอ่นหลัง (Press-Up or Straight Arm)
ผู้ทดสอบนอนคว่ำยันแขนเหยียดตรง ดันลำตัวส่วนบนขึ้นพ้นพื้นให้หลังแอ่น

การทดสอบถือว่าผ่าน ถ้าเชิงกรานยังสัมผัสกับพื้นขณะยันแขนเหยียดตรง และให้ผู้ช่วยทดสอบใช้มือคลำตามแนวกระดูกสันหลัง ถ้าต่อเนื่องกันดี ไม่มีการหักมุมบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังระดับเอวกับกระดูกเชิงกรานด้านหลัง (lumbosacral joint) แสดงว่าการแอ่นหลังมีความยืดหยุ่นดี

6. ทดสอบการหมุนบิดของหลัง (Knee Roll)
นอนหงายยกขาทั้งสองข้าง งอเข่าและงอข้อสะโพก 90 องศา กางแขนทั้งสองข้างออกในระดับไหล่วางบนพื้น จากนั้นเอียงหัวเข่าทั้งสองลงสู่พื้นทางด้านขวา และจากนั้นไปด้านซ้าย โดยที่ทั้งเข่าและสะโพกยังงออยู่ในท่าเดิม

การทดสอบถือว่าผ่าน ถ้าหัวไหล่ทั้งสองข้างยังติดชิดพื้น แสดงว่าหลังยังหมุนบิดตัวได้ดี โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลังระดับเอว ต่อกับกระดูกสันหลังระดับอก (การทดสอบถือว่าผ่าน ถ้าผ่านทั้งสองข้าง)

7. ทดสอบยกขาเหยียดตรง (Straight Leg Lift)
ผู้ทดสอบนอนหงายเอามือวางไว้ใต้ต้นคอ ผู้ช่วยทดสอบนั่งหรือยืนด้านซ้าย ใช้มือขวากดตรึงหัวเข่าขวาไว้ และใช้มือซ้ายจับที่ข้อเท้าซ้าย พร้อมยกขาซ้ายขึ้นให้ตั้งฉากกับลำตัวเท่าที่เป็นไปได้ดังรูป ในท่านี้ หลังระดับเอวของผู้ทดสอบควรติดชิดกับพื้น และขาขวายังควรเหยียดตรงตลอดช่วงการทดสอบ

การทดสอบถือว่าไม่ผ่าน ถ้าเข่าซ้ายของผู้ทดสอบงอ แสดงว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (hamstring muscles) ยึดตึงหรือหดสั้น ถ้าหลังแอ่นหรือขาขวาไม่ติดชิดพื้น แสดงว่ากล้ามเนื้อหลังระดับเอว หรือกล้ามเนื้องอข้อสะโพก หรือทั้งสองอย่าง มีการยึดตึงหรือหดสั้น ทำการทดสอบซ้ำด้านตรงข้าม (การทดสอบถือว่าผ่าน ถ้าผ่านทั้งสองข้าง)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย กองบรรณาธิการ)
1. ทดสอบแนวกับผนัง (ฺBack to Wall)
2. ทดสอบดึงเข่าชิดอก (Thomas Test)
3. ทดสอบกล้ามเนื้อและแผ่นพังผืดต้นขาด้านข้าง (Obers test)
4. ทดสอบกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (Elys Test)
5. ทดสอบแอ่นหลัง (Press-Up or Straight Arm)
6. ทดสอบการหมุนบิดของหลัง (Knee Roll)
7. ทดสอบยกขาเหยียดตรง (Straight Leg Lift)

กำลังโหลดความคิดเห็น