“อย่าตัดสินจากหน้าตา”... เขาขอร้องเอาไว้อย่างนั้น เพราะหากยังอคติอยู่กับนิสัยขี้เล่นและท่าทีกวนๆ ของเขาอยู่ คุณจะไม่มีวันรู้จักตัวตนอีกด้านของผู้ชายที่ชื่อ “ต้อล” วันธงชัย อินทรวัตร หรือ ต้อล AF4 (ผู้ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขันประกวดร้องเพลงของเวทีนักล่าฝัน True Academy Fantasia Season 4) นักร้องนักแสดงหนุ่มรุ่นใหม่
“จริงเหรอ?” หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันเมื่อรู้ว่าเขาเข้าวัดทำบุญบ่อยกว่าเดินเล่นในห้างเสียอีก และยิ่งแทบไม่เชื่อหูเมื่อได้ยินว่านักร้องหนุ่มหน้าใสรายนี้ สามารถนั่งสนทนาธรรมอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ แม้จะไม่ถึงกับยกหลักธรรมมานั่งวิเคราะห์กันเป็นฉากๆ อย่างผู้บรรลุแล้ว แต่เชื่อว่าความคิดความอ่านบางช่วงบางตอนจากเขาคนนี้ คงช่วยดึงให้ใครหลายคนหันมามองตัวเองได้บ้างเหมือนกัน
• เข้าๆ ออกๆ วัด
“จริงๆ แล้วหน้าตามันบ่งบอกอะไรไม่ได้เลยนะ (หัวเราะเล็กๆ) ผมไปพูดกับใครเขายังไม่เชื่อเลย บอกว่าเฮ้ย! จริงเหรอ หน้าอย่างนี้เนี่ยเหรอเข้าวัด แต่ผมชอบเข้าวัดจริงๆ”
ต้อล AF4 หนุ่มคิ้วหนาหน้าทะเล้นยืนยันความเป็นตัวเองให้ฟัง คล้ายต้องการบอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนทำหน้าตกใจใส่ เมื่อรู้ว่าเขาชอบเข้าวัด ทำบุญ หรือแม้กระทั่งทำทาน
“เข้าวัดกับคุณแม่ตั้งแต่ 6-7 ขวบแล้วครับ พอโตขึ้นก็ไปเองบ้าง ไปกับเพื่อนบ้าง กับคุณแม่ก็ยังไปอยู่ แต่ไปกับเพื่อนตัวเองอาจจะยากหน่อย ชวนแล้วไม่ค่อยอยากจะไปกัน เราก็ไม่อยากบังคับใจใคร ผมก็เลยจะมีกลุ่มพี่ๆ อีกกลุ่มที่ชอบไปด้วยกัน เป็นกัลยาณมิตรจากการทำบุญ เหมือนเป็นเพื่อนทางธรรม พอว่างๆ ก็จะชวนกันไป
หรือเวลาไปทัวร์คอนเสิร์ตตามต่างจังหวัด ถ้าเป็นไปได้ ผมจะพยายามชวนแฟนคลับไปด้วย แทนที่ไปถึงจังหวัดนั้นแล้วเอาแต่เที่ยวห้าง ถือว่าเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่ทำแล้วมีความสุขครับ”
คนจำนวนไม่น้อยในสังคมชอบทำบุญเพราะอยากได้บุญ แต่สำหรับต้อล เขาไม่ได้คิดเช่นนั้น ที่ทำเพราะชอบความรู้สึกหลังจากได้ทำบุญต่างหาก
“สิ่งที่ได้กลับมาเห็นๆเลย คือใจเราสงบจริงๆ รู้สึกว่ามันคือความปีติภายในใจ ทำให้เรารู้จักการให้ บางคนรับอย่างเดียว คิดแต่ว่าฉันต้องการเงิน ฉันอยากจะรวย แต่ไม่เคยเผื่อแผ่ให้คนอื่น มันก็ทำให้เราเป็นคนเห็นแก่ตัว ช่วงที่ผมยังไม่ได้เป็นเอเอฟ ทำบุญตกอาทิตย์ละครั้งได้ แต่พอเข้าวงการยิ่งมีเวลาทำมากขึ้น แปลกเหมือนกัน (ยิ้ม) เหมือนพอมาอยู่ตรงนี้ เจอเรื่องวุ่นวายเยอะแยะ คิดว่าควรจะหาที่ที่สงบจิตใจ ไปแล้วใจเบิกบาน เป็นช่วงเวลาที่ได้ผ่อนคลายจริงๆ”
ถึงจะชอบเข้าวัด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำบุญแค่เฉพาะตอนเข้าเขตวัดเท่านั้น ต้อลบอกว่าแค่คิดดีทำดีก็สามารถทำบุญได้ทุกที่แล้ว แม้กระทั่งกับคนลำบากยากจนที่มีให้เห็นทั่วไปตามท้องถนน
“บางทีไม่จำเป็นต้องเข้าวัดก็ทำบุญได้เหมือนกันครับ ออกไปในแนวให้ทาน อย่างเด็กบางคนขายพวงมาลัย เข้ามาขอน้ำกินก็มี ไม่ได้ขอเงินด้วยซ้ำ ผมก็ให้ขวดน้ำเขาไป ถือว่าเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่เราพอจะหยิบยื่นให้เขาได้
บางคนเวลาจะให้ทาน อาจจะคิดสับสนอยู่ในใจ จะให้หรือไม่ให้ดี สำหรับผม ผมชอบช่วยคนที่น่าช่วย ถ้ามีครบ 32 แล้วมาขอ ผมจะไม่ค่อยให้ แต่บางคนแก่มากๆ แล้วยังสานตะกร้าขาย ผมเห็น ผมก็ช่วยซื้อ” เขาพูดตรงๆ ตามสไตล์
• 3 วันที่คุ้มค่า
เมื่อมีเวลาว่าง ต้อลมักพยายามเสาะหาวัดไกลๆ เพื่อเดินทางไปทำบุญ ส่วนเหตุผลก็ไม่ใช่เพราะอะไร แต่แค่คิดว่า
“เราเอาสังฆทานไปถวายวัดวัดหนึ่ง ซึ่งมีคนเอาไปถวายเป็นร้อยๆ แล้ว ทั้งๆ ที่มีพระอยู่แค่ไม่กี่รูป อย่างมากก็ร้อยกว่ารูป ยังไงก็ใช้ไม่หมด แต่บางวัด พระมีอยู่ไม่กี่สิบรูปเอง แต่ท่านมีเครื่องอุปโภคบริโภคไม่พอ แค่จีวรของท่าน บางทียังใส่ซ้ำๆ ผืนเดิม ไม่มีจะเปลี่ยน เลยคิดว่าถ้าเราให้ในสิ่งที่เขาจำเป็น บริจาคให้ที่ที่เขาอยากได้จริงๆ น่าจะดีกว่า”
และการเดินทางเข้าไปบริจาคในวัดเล็กๆ แถบชนบทนี่เองที่ทำให้ต้อลได้ประสบการณ์ไม่รู้ลืมกลับมาด้วย โดยช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว เขากลับบ้านที่เชียงใหม่ กะนัดหมายเล่นสงกรานต์กับกลุ่มเพื่อน แต่เปลี่ยนแผนเป็นเสาะหาวัดเพื่อทำบุญแทน
สุดท้ายเมื่อเห็นว่าเวลาว่าง 3 วันทำอะไรๆ ได้มากกว่าการบริจาค จึงชักชวนกันขอบวชระยะสั้น นุ่งขาวห่มขาว ลองปฏิบัติธรรมเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย จนกลายมาเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีค่าที่สุดในชีวิต
“ที่ที่ผมไปเป็นสถานปฏิบัติธรรม มีพระอยู่รูปเดียวในนั้น รอบๆ ก็ไม่มีอะไรเลย มีแต่ป่าเขาเต็มไปหมด แถมยังตั้งอยู่ห่างจากชุมชนหลายกิโลฯ จะออกไปบิณฑบาตครั้งหนึ่งก็ต้องเดินทางไกลมาก กว่าจะถึงหมู่บ้าน ท่านไปบิณฑบาตได้อาหารมาจำนวนหนึ่ง ท่านก็เอามาแบ่งให้พวกเรากินกัน
เป็นครั้งแรกเลยที่ได้กินข้าวก้นบาตร ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมันไม่มีอะไรเลย กินอยู่กันแค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว บรรยากาศตรงนั้นเป็นดอยหมด ไม่มีแสงสีเสียง ไม่มีสิ่งยั่วยวน ไม่มีอินเทอร์เน็ต คลื่นมือถือยังไม่มีเลย พวกเราใช้ชีวิตเหมือนเด็กวัด กินข้าววัด ปลูกผัก รดน้ำต้นไม้ เหมือนเป็นการฝึก ร.ด.ในธรรม คือไม่ได้ฝึกแค่แรง แต่ฝึกใจด้วย (ยิ้ม)
ตอนแรกคิดอยู่ตลอดว่าจะอยู่รอดถึงสามวันหรือเปล่า(หัวเราะ) เพราะรู้สึกเหนื่อยมากจริงๆ ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ถือศีล 8 ต้องออกไปรดน้ำต้นไม้ เนื้อที่ก็ไม่ใช่น้อยๆ เป็นร้อยๆไร่ ต้องทำทุกอย่างแม้กระทั่งซ่อมกุฏิ ตอนนั้นท้อเลย แต่คิดว่าไหนๆ ก็มาแล้ว มาเองด้วย ไม่มีใครมาขอหรือมาบังคับเรา เลยลองตั้งใจให้เต็มที่
ผมว่าสิ่งที่ได้กลับมาชัดๆ เลยคือเรื่องความอดทน เพราะเจ้าอาวาสท่านดุมาก จะสั่งสอนเราด้วยคำพูดแรงๆ เป็นภาษาบ้านๆ เหมือนท่านอยากลองใจว่าเราจะโกรธไหม ซึ่งแรกๆ เราก็โกรธ แต่หลังๆ เราพยายามมีขันติ ถึงได้เข้าใจว่าความโกรธก็เป็นแค่อารมณ์หนึ่งที่มาแล้วก็หายไป ไม่มีอะไรจริงๆ”
ถึงจะไม่ได้นุ่งขาวห่มขาวอยู่ในสถานปฏิบัติธรรมอีกแล้ว แต่ทุกวันนี้ต้อลยังคงนำเอาแง่คิดที่ได้เรียนรู้มาคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาเจอคำพูดที่เข้ามากระทบใจ เขาก็สามารถมองทุกอย่างด้วยความเข้าใจได้ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเช่นเดิม
“ตอนอยู่ในบ้านเอเอฟ เขาห้ามคนในนั้นรับรู้อะไรเลย พอออกมา เพิ่งเห็นว่ามีคนด่าเราสาดเสียเทเสียบนอินเทอร์เน็ต ตอนนั้นท้อไปหมด ไม่เข้าใจว่าเราไปทำอะไรให้เขาไม่ชอบหน้าขนาดนั้น คิดอะไรไม่ออก เลยลองนั่งสมาธิ สวดมนต์ เรียกสติกลับมาอยู่กับตัวเอง ไม่ให้จิตใจไปจดจ่อที่อื่น
พอลองพิจารณาตัวเองดูก็เห็นว่า ทุกอย่างคือเกิดแล้วก็ดับ อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเราก็เหมือนกัน ทุกอย่างมันก็แค่นั้นแหละ มีคนด่าเราก็ไม่ได้มีผลทำให้ชีวิตเราดีขึ้นหรือแย่ลง เลือกสนใจแต่สิ่งดีๆ จะดีกว่า คำด่านั้น ถ้ามันเป็นจริง เราก็เก็บเอามาปรับปรุงตัว แต่ถ้ามันไม่ใช่ เราก็ไม่ควรเก็บมาใส่ใจให้ทุกข์เปล่าๆ ทุกอย่างเป็นสัจธรรมที่ธรรมะสอนให้เราฉุกคิดได้”
• อย่ามองแค่เปลือก
ดูเหมือนว่ายังมีสิ่งที่ชายหนุ่มต้องการแลกเปลี่ยนให้คนอื่นๆ ได้รับรู้อีกมากมาย โดยเฉพาะแง่มุมง่ายๆ ของชีวิตที่หลายต่อหลายคนชอบทำให้ดูยากและซับซ้อนมากขึ้น
“บางคนชอบคิดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ซึ่งผมว่ามันไม่จริงครับ และไม่อยากให้คิดกันอย่างนั้น อยากให้มองว่าเป็นเพราะคนเราเกิดมาต้นทุนไม่เท่ากันมากกว่า มันถึงได้มีคนรวย คนจน คนที่สวย และไม่สวย แต่ถึงฐานะจะต่างกัน จนหลายคนตัดพ้อกับชีวิต แต่จริงๆ แล้วผมว่าเราทุกคนเลือกได้ เลือกที่จะมีความสุขได้
บางคนรวยล้นฟ้า แต่ไม่มีความสุขในการใช้เงิน วันๆ คิดแต่ว่าจะเอาเงินไปไว้ที่ไหน จะทำยังไงต่อเพื่อให้มีเงินมากขึ้น ผมว่าชีวิตแบบนั้นไม่มีความสุขหรอก เทียบกับคนที่ไม่ได้รวยอะไรมาก แต่ดูแลครอบครัวได้ ไม่มีหนี้ไม่มีสิน ผมว่าชีวิตแบบนั้นดีกว่าอีก
คนเราสมัยนี้ชอบมีความสุขกับสิ่งชั่วคราว ได้เงินมา ฉันมีความสุขจัง ได้มือถือใหม่ มีความสุขจัง แต่พอได้มาปุ๊บ เดี๋ยวก็มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีก ทำให้อยากได้เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งผมว่าทุกอย่างที่เราอยากได้อยากมี ล้วนแล้วแต่เป็นเปลือกนอกทั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิต
ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ สุดท้ายก็จะเห็นว่าชีวิตมันไม่มีอะไรเลย เหมือนเสื้อผ้า เป็นแค่เครื่องห่อหุ้มภายนอก เหมือนมือถือซึ่งจริงๆ แล้วหน้าที่หลักๆ ของมันมีไว้แค่โทรออกกับรับ ถ้าคิดได้อย่างนี้ ชีวิตของเราก็จะง่ายขึ้น ไม่ใช่ว่าหาเงินมาได้เท่าไหร่ก็ไปทุ่มซื้อปัจจัยฟุ่มเฟือยจนหมด มันเกินความจำเป็นจริงๆของชีวิต”
ไม่ใช่แค่เรื่องมุมมองการใช้ชีวิตเท่านั้นที่คนส่วนใหญ่มักมองกันแค่เปลือก แม้กระทั่งเรื่องเข้าวัดทำบุญ หลายคนก็ยังคงหลงระเริงอยู่กับการตัดสินด้วยสายตา ยึดความเชื่อและความงมงายเป็นหลัก ซึ่งต้อลมองว่าเป็นความคิดที่ผิดๆ และควรแก้ไขด้วยการมองให้เห็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนากันเสียที
“อยากให้ทุกคนมองที่แก่นสาร มองที่ตัวศาสนาพุทธจริงๆ ว่าตัวหลักของศาสนาคือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์เป็นเพียงผู้เผยแผ่คำสอนเหล่านั้น พระบางรูปอาจจะบวชเป็นพระเพื่อหากินกับคน ใช้ความเชื่อความงมงายของชาวบ้านมาสร้างรายได้ให้ตัวเอง ชาวบ้านบางคนก็ไม่รู้ หมดเงินไปเยอะมาก คิดว่าต้องแก้ดวง ต้องเสียเงิน อยากให้มีสติฉุกคิดกันนิดหนึ่ง ลองใช้เหตุผลแล้วค่อยๆ พิจารณาดู ที่เขาลือกันว่าพระรูปนี้เก่งเป็นเพราะท่านปฏิบัติจริงหรือเปล่า หรือท่านสอนหลักธรรมอะไรให้เรานำไปปฏิบัติได้จริงบ้าง ดูกันแบบนี้ดีกว่า”
เช่นเดียวกับตัวเขาเองที่อยากให้หลายๆ คนมองที่ตัวตนข้างใน มากกว่าจะตัดสินกันที่เปลือกนอก พิจารณาจากเสื้อผ้าแนวร็อกๆ หน้ากวนๆ รวมถึงนิสัยขี้เล่นของเขาแล้ว หลายครั้งหลายคราที่ถูกกล่าวหาว่ายังไม่โต พิจารณาจากลักษณะการพูดจาโผงผาง หลายคนตัดสินไปว่าเขาเป็นคนก้าวร้าว แต่ต้อลยืนยันว่าถึงเขาจะดูดิบๆ ตรงๆ และพูดแรงๆ ในบางครั้ง แต่เขาก็ไม่เคยคิดทำร้ายใครแน่นอน
“เห็นผมเป็นคนตรงๆ แบบนี้ ผมไม่เคยคิดทำร้ายใครอยู่แล้ว ไม่คิดที่จะไปเคียดแค้นใครเลย แต่คนสมัยนี้อาจจะชอบตัดสินกันที่เปลือกนอกมากกว่า เห็นคนนี้แต่งตัวดี ภูมิฐาน ก็คิดว่าเขาเป็นคนดี ผมว่าตัดสินกันที่การกระทำและความจริงใจดีกว่าครับ”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย Manager Lite ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์)